ปฏิบัติการเรือนจำ ของ เรือนจำจี๊ฮหว่า

เรือนจำนี้มีชื่อเสียงที่ไม่ดีด้านสภาพที่ความโหดร้ายและสกปรกมาเป็นระยะเวลานานไม่ว่าผู้ดำเนินการจะผ่านไปกี่ชุดก็ตาม ในสมัยรัฐบาลอาณานิคมฝรั่งเศส นักโทษจะถูกคุมขังในห้องขังที่ไม่มีแสงและมักจะถูกล่ามโซ่[2]

ในสมัยเวียดนามใต้ โดยปกติเรือนจำจะมีนักโทษอยู่ถึง 6,000-8,000 คน หรือบางครั้งอาจมีนักโทษเพิ่มขึ้นถึง 10,000 คน[2] นักโทษเหล่านี้จะถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามประเภทของอาชญากรรมที่พวกเขาก่อ: กลุ่มแรก คือ ผู้ที่กระทำอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และกลุ่มที่สอง คือ นักโทษที่ก่ออาชญากรรมประเภทอื่น นักโทษชายและหญิงจะถูกคุมขังไว้ในห้องขังคนละห้องกันและนักโทษสามารถออกจากห้องขังได้เฉพาะเพื่อรับประทานอาหารหรือไปขับถ่ายเท่านั้น มักจะมีกองพันตำรวจหนึ่งกองพันคอยอารักขาเรือนจำอยู่เสมอ[2] แม้ว่าจะเป็นเพียงเรือนจำ แต่ก็มีการประหารชีวิตสองครั้ง ณ เรือนจำจี๊ฮหว่า ได้แก่ การประหารชีวิตโง ดินห์ เกิ๊น และเหวียน วัน เตร่ย[5]

หลังจากไซ่ง่อนล่มสลาย เรือนจำยังคงเปิดต่อไปและอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐบาลสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม แต่กลับพบว่ามีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับปฏิบัติการของเรือนจำ มีข้อมูลคร่าว ๆ ในหนังสือเดอะแบล็กบุ๊กออฟคอมมิวนิสม์ ซึ่งอธิบายถึงสภาพของเรือนจำว่าเลวร้ายมาก[6]

เรือนจำยังมีชื่อเสียงในด้านการรักษาความปลอดภัยที่สูง และเคยได้รับการพิจารณาว่าเป็นเรือนจำที่นักโทษไม่สามารถแหกคุกหนีออกมาได้ อย่างไรก็ตาม ได้มีการแหกคุกที่ประสบความสำเร็จสองครั้งในอดีต: ครั้งแรกเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1945 เมื่อเวียดมินห์อาศัยความได้เปรียบจากความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สองเพื่อโจมตีและปลดปล่อยสมาชิกของตนซึ่งถูกคุมขังไว้ในเรือนจำ โดยที่เรือนจำยังสร้างไม่เสร็จและได้รับการป้องกันอย่างเลว และการแหกคุกครั้งที่สองเป็นการแหกคุกของขโมยชาวเวียดนามที่มีชื่อเสียง ฟัก ตึม งน (ฟักแปดนิ้ว) ใน ค.ศ. 1995 เมื่อเขาสามารถปลดโซ่ตรวนของตนเองได้และหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในการแหกคุกซึ่งตำรวจเวียดนามอธิบายว่าเป็น "การแหกคุกอย่างไม่น่าเชื่อ"[3][7]