ประวัติ ของ เรือหลวงจักรีนฤเบศร

ในปี พ.ศ. 2532 ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นเกย์ในอ่าวไทยบริเวณจังหวัดชุมพร กองทัพเรือได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ซึ่งทางกองทัพได้ใช้เรือและอากาศยานในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย แต่ประสบปัญหาคือ เรือขนาดใหญ่ที่สุดที่กองทัพเรือมีอยู่ขณะนั้นไม่สามารถทนสภาพทะเลได้ ทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยกระทำได้ด้วยความยากลำบาก[2] การมีเรือขนาดใหญ่พร้อมอุปกรณ์ทันสมัยจะสามารถใช้ในการค้นหาและให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลได้อย่างรวดเร็วและทันการ และหากว่ามีเฮลิคอปเตอร์ประจำการบนเรือจะช่วยขยายพื้นที่ในการลาดตระเวนและระยะเวลาในการปฏิบัติการในทะเลได้เป็นเวลานานและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กองทัพเรือจึงได้มีแนวความคิดในการสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เพื่อให้สามารถบรรลุภารกิจตามความมุ่งหมาย

เดิมรัฐบาลไทยได้วางแผนจัดซื้อเรือบัญชาการสนับสนุนการยกพลขึ้นบก ขนาดระวาง 7,800 ตันจากบริษัทเบรเมอร์ วัลแคนของเยอรมนี แต่ได้ทำการยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2534[3] และทำการจัดซื้อใหม่จากบริษัทบาซัน ประเทศสเปน ซึ่งเป็นผู้ออกแบบและต่อเรือปรินซีเปเดอัสตูเรียส เรือธงของกองทัพเรือสเปนในขณะนั้น คณะรัฐมนตรีของไทยได้มีมติเมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ. 2535 อนุมัติให้กองทัพเรือว่าจ้างสร้างเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล ลงนามโดยรัฐบาลไทยและรัฐบาลสเปนในวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2535[3] เป็นเงิน 7,100 ล้านบาท[2]

เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้เริ่มสร้างในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2536 และมีการวางกระดูกงูในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2537[3][4] ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2539 โดยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเสด็จไปทำพิธี ได้มีการทดลองแล่นเรือตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2539-เดือนมกราคม พ.ศ. 2540 ร่วมกับกองทัพเรือสเปนที่โรต้า (Rota) ประเทศสเปน[3] รับมอบเรือและขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2540[2] โดยมีพลเรือเอก วิจิตร ชำนาญการณ์ เป็นผู้รับมอบ[5] เรือได้รับหมายเลข 911 และเดินทางถึงประเทศไทยในต้นเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน เรือได้เข้าประจำการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2540[4] ในวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2540[6] พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จมาทรงเจิมเรือหลวงจักรีนฤเบศรเพื่อความเป็นสิริมงคล

กองทัพเรือได้ขอพระราชทานชื่อเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่กองทัพเรือและเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อเรือหลวงลำนี้ว่า เรือหลวงจักรีนฤเบศร แปลว่า ผู้เป็นใหญ่แห่งราชวงศ์จักรี[2] และใช้คำขวัญว่า ครองเวหา ครองนที จักรีนฤเบศร[2]

เรือหลวงจักรีนฤเบศรขึ้นระวางประจำการสังกัดกองเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ โดยมีนาวาเอกสุรศักดิ์ พุ่มพวง เป็นผู้บังคับการเรือคนแรก ปัจจุบันมีนาวาเอกจรัญ วทัญญู เป็นผู้บังคับการเรือ[7]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เรือหลวงจักรีนฤเบศร http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=skyman&mo... http://books.google.com/books?id=PY8CvlKC7kgC http://books.google.com/books?id=TJunjRvplU4C http://thaiflood.kapook.com/view34307.html http://www.naval-technology.com/projects/chakrinar... http://www.saabgroup.com/en/About-Saab/Newsroom/Pr... http://www.takola.com/sonst/HTMS_CHAKRI_NAREUBET/H... http://twitter.com/Kom_chad_luek/status/2946460801... http://www.youtube.com/watch?v=P7YimN8cpVw http://web.archive.org/web/20091207095724/http://w...