ภารกิจ ของ เรือหลวงจักรีนฤเบศร

ภาพขณะเครื่องแฮร์ริเออร์ AV-8 กำลังขึ้นบิน เผยให้เห็นลิฟต์บรรทุกเฮลิคอปเตอร์ด้านท้ายเรือ

เรือหลวงจักรีนฤเบศรเป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ขนาดใหญ่ลำแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้[18] มีระวางขับน้ำ 11,544 ตัน สามารถทนต่อคลื่นลมรุนแรงได้ในระดับ 9 ซึ่งคลื่นมีความสูง 13.8 เมตร[19]

ภารกิจในอดีต

เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้มีภารกิจในเหตุการณ์ต่าง ๆ ดังนี้

พายุไต้ฝุ่นซีตาห์

ในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2540 ได้เกิดพายุไต้ฝุ่นซีตาห์ที่จังหวัดชุมพร เรือหลวงจักรีนฤเบศร[20]ได้ไปยังพื้นที่ประสบภัย และดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ตามตำบลที่ต่างๆ เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงจนการช่วยเหลือทางบกไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้ โดยการใช้เฮลิคอปเตอร์จากเรือ นำอาหารและน้ำดื่มไปแจกจ่ายให้กับผู้ที่ติดอยู่ตามตำบลที่ต่างๆ

พายุไต้ฝุ่นลินดา

ในวันที่ 4–7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 เรือหลวงจักรีนฤเบศร[20]ได้ออกเรือเพื่อให้การช่วยเหลือเรือประมงในทะเล ที่ประสบภัยจากพายุไต้ฝุ่นลินดาโดยลาดตระเวนจากสัตหีบไปยังเกาะกูด จังหวัดตราดจนถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

เหตุการณ์อุทกภัยจังหวัดสงขลา

เรือหลวงจักรีนฤเบศร[20]ออกเรือเพื่อปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 23–29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ซึ่งเรือหลวงจักรีนฤเบศร ออกจากท่าเรือจุกเสม็ด การท่าเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือสัตหีบ ในวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และจอดทอดสมอเรือบริเวณเกาะหนู จังหวัดสงขลา ในวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้เริ่มปฏิบัติการโดยใช้การบินตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และส่งชุดปฏิบัติการพิเศษพร้อมเรือยางลำเลียงเอาอาหารและสิ่งของจำเป็นมอบแก่ผู้ประสบภัย

เหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงพนมเปญ

ในวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2546 เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในกรุงพนมเปญ และมีชาวกัมพูชาเผาสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญได้รับความเสียหาย มีการเตรียมพร้อมในการอพยพเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยและประชาชนชาวไทยในกัมพูชาให้เดินทางกลับประเทศไทย ในแผน "โปเชนตง 1" และเตรียมพร้อมปฏิบัติการบริเวณพื้นที่ด้านตะวันตกของเกาะกง[20] นอกน่านน้ำกัมพูชา เป็นการปฏิบัติการในชื่อแผน "โปเชนตง 2" โดยอากาศยานบนเรือเตรียมพร้อมปฏิบัติการในการใช้กำลังทางทหารต่อกัมพูชา หากมีความผิดพลาดเกิดขึ้นในแผนโปเชนตง 1

ภัยพิบัติคลื่นสึนามิ พ.ศ. 2547

ในวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ช่วยเหลือประชาชนจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ โดยกองเรือยุทธการจัดตั้งหมู่เรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล โดยมีกำลังพลรวมทั้งสิ้น 760 นาย ซึ่งประกอบด้วยเรือหลวงจักรีนฤเบศร[20] เรือหลวงนเรศวรและชุดแพทย์เคลื่อนที่ โดยมีภารกิจหลักคือค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้การรักษาพยาบาลบริเวณเกาะต่างๆ และพื้นที่ทะเลด้านใต้ของเกาะภูเก็ต และเก็บกู้ศพและลำเลียงศพจากเกาะพีพีดอน นอกจากนั้นยังให้การสนับสนุนและรับการตรวจเยี่ยมจากนายกรัฐมนตรีพร้อมคณะและกองทัพเรือ

เหตุการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย พ.ศ. 2553

ในเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2553 เรือหลวงจักรีนฤเบศรได้เดินทางออกจากฐานทัพเรือสัตหีบ เดินทางถึงจังหวัดสงขลา โดยทอดสมอที่เกาะหนู เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย[21][22]

เหตุการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี (เกาะเต่า)

ในเหตุการณ์อุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 กองทัพเรือได้จัดตั้งหมู่เรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล กรณีเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ เกาะเต่า เกาะสมุย เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยสั่งการให้เรือหลวงจักรีนฤเบศร[20]พร้อมด้วยอากาศยาน ร.ล.สุโขทัย และเรือของกองทัพเรืออีกหลายลำออกเดินทางไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดค้างบนเกาะเต่า โดยลำเลียงผู้ประสบภัยจำนวนทั้งสิ้น 743 คน เดินทางมายังท่าเทียบเรือจุกเสม็ด[20]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เรือหลวงจักรีนฤเบศร http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=skyman&mo... http://books.google.com/books?id=PY8CvlKC7kgC http://books.google.com/books?id=TJunjRvplU4C http://thaiflood.kapook.com/view34307.html http://www.naval-technology.com/projects/chakrinar... http://www.saabgroup.com/en/About-Saab/Newsroom/Pr... http://www.takola.com/sonst/HTMS_CHAKRI_NAREUBET/H... http://twitter.com/Kom_chad_luek/status/2946460801... http://www.youtube.com/watch?v=P7YimN8cpVw http://web.archive.org/web/20091207095724/http://w...