ประวัติ ของ เลื่อน_พงษ์โสภณ

นาวาอากาศเอก เลื่อน เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2439 ตรงกับแรม 4 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ที่ตำบลสามยอด จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของขุนเชี่ยวหัสดิน (เถา) และนางแฉ่ง ซึ่งประกอบกิจการโรงเลื่อย และค้าขายเครื่องเรือน โดยใช้ชื่อว่า ร้านจำหน่ายของสยาม น.อ.เลื่อน เริ่มเข้าศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนอรพินทร (ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดบวรนิเวศ) เมื่ออายุได้ 6 ปี จากนั้นมารดาฝากไว้กับพระสงฆ์ เพื่อให้ศึกษาต่อทางศีลธรรมที่วัดรังษี ต่อมานางแฉ่งตั้งใจให้ศึกษาทางกฎหมาย แต่ฝ่าย น.อ.เลื่อนอยากเป็นทหาร จึงสมัครเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก

เมื่อใกล้สำเร็จการศึกษา เป็นระยะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง น.อ.เลื่อนตัดสินใจลาออกจากเส้นทางการเป็นนายร้อย เข้าสมัครเป็นทหารอาสาไปทำการรบที่ประเทศฝรั่งเศส ตามที่ทางราชการประกาศรับ ด้วยความกระตือรือร้น สมความปรารถนา ที่ต้องการไปแสวงหาความรู้ในต่างประเทศ จึงได้โอกาสจากรัฐบาลให้เรียนวิชาช่างยนต์และช่างเครื่องบินที่ประเทศฝรั่งเศสต่อไป น.อ.เลื่อน จึงเข้าสมัครและสอบได้อันดับที่ 1 ได้ใช้เวลาเรียนเพียง 3 ปีก็เรียนจบหลักสูตร แล้วเดินทางกลับเข้ามารับราชการในตำแหน่งสิบโทแห่งกองทัพอากาศเป็นครูสอนวิชาจักรยนต์แก่นายทหาร

ก่อตั้งโรงเรียนช่างกล

น.อ.เลื่อน รับราชการจนครบ 2 ปีตามสัญญาที่ผูกมัดอยู่กับรัฐบาลแล้ว ก็ลาออกมาตั้งโรงงานรับซ่อมเครื่องยนต์อยู่ที่แพร่งสรรพศาสตร์ ขณะที่ตั้งโรงงานซ่อมรถอยู่นี่เองความคิดอันหนึ่งก็วูบขึ้นมาในสมอง คือความคิดที่จะฝึกคนไทยให้มีความรู้ในเรื่องเครื่องจักรตามความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองในยุควิทยาศาสตร์ น.อ.เลื่อนจึงได้เปิด โรงเรียนช่างกลพงษ์โสภณ ที่บ้านตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร นับว่าเป็นโรงเรียนช่างกลแห่งแรกที่มีในเมืองไทย เมื่อเปิดโรงเรียนช่างกลใหม่ ๆ ปรากฏว่า ไม่มีคนเรียนเพราะขณะนั้น คนไทยส่วนมากยังเชื่อถือกันอยู่ว่า อาชีพช่างกลเป็นอาชีพชั้นต่ำ ไม่ควรแก่การเรียน ความนิยมในการเป็นเสมียนยังฝังอยู่ในจิตใจของคนไทย โรงเรียนช่างกลพงษ์โสภณจึงประสบอุปสรรคสำคัญคือไม่มีนักเรียนสมัครเข้าเรียนเลย แต่ น.อ.เลื่อนก็ไม่ละความพยายาม เขาได้ดำเนินกิจการของโรงเรียนไปโดยไม่ยอมท้อถอย คือการขอแรงคนให้เข้ามาเรียน และสอนให้ฟรี จนในภายหลังความนิยมในอาชีพช่างกลมีมากขึ้น นักเรียนช่างกลของเขาก็เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อย ๆ จึงได้มาคิดเก็บเงินค่าเล่าเรียน จากนั้นโรงเรียนช่างกลพงษ์โสภณก็ดำเนินกิจการก้าวหน้าต่อมา กลายเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงดีมาเป็นเวลาถึง 30 ปีเศษ แม้ในบัดนี้ โรงเรียนช่างกลพงษ์โสภณจะได้เลิกกิจการไปแล้วก็ตามแต่ชื่อเสียงของโรงเรียนช่างกลพงษ์โสภณก็ยังคงอยู่ในความทรงจำของประชาชนคนไทยอยู่

ปรมาจารย์มอเตอร์ไซค์ไต่ถัง

ภายหลังจาก น.อ.เลื่อน เปิดโรงเรียนช่างกลพงษ์โสภณได้ไม่นานเท่าไรนัก ก็มีพวกรถไต่ถังคณะหนึ่งจากประเทศฟิลิปปินส์ เดินทางเข้ามาแสดงในกรุงเทพฯ มีการแสดงท่าหวาดเสียวด้วยการขี่รถมอเตอร์ไซค์ไต่ถัง อันเป็นที่ตื่นเต้นของชาวกรุงเทพฯ อยู่เป็นอันมาก ทางคณะ ได้ประกาศท้าให้รางวัล 200 ดอลลาร์แก่ผู้ใดก็ตาม ที่สามารถขี่รถไต่ถังได้ น.อ.เลื่อน ไปดูรถไต่ถังกับเขาด้วยเหมือนกันฟังคำประกาศท้าแล้ว ก็นึกอยากจะลองดู ด้วยเห็นว่า ไม่ใช่เป็นของยากเกินไปเลย สำคัญอยู่ที่กำลังใจดีและกล้าหาญ เมื่อกลับมาถึงบ้าน จึงรีบสร้างถังของตนเองขึ้น แล้วหัดซ้อมขี่รถไต่ถังวันแล้ววันเล่าจนสามารถขี่ได้คล่อง จึงไปอาสาขี่รถตามคำที่ประกาศท้า แต่ มิสเตอร์คิง หัวหน้าคณะรถไต่ถังฟิลิปปินส์เป็นนกรู้ และมีเหลี่ยมโกงจึงใช้กโลบายไม่ยอมให้ น.อ.เลื่อน ทดลอง และไม่จ่ายเงินให้ตามประกาศ อย่างไรก็ดีการขี่มอเตอร์ไซค์ไต่ถังนั้น นับว่า น.อ.เลื่อน เป็นคนไทยคนแรกที่สามารถทำได้ จากนั้น น.อ.เลื่อน ก็ได้สั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาออกไปประกอบอาชีพในทางขี่รถไต่ถังเก็บสตางค์คนดูมากมาย แม้ในทุกวันนี้ การแสดงประเภทนี้ก็ยังเป็นที่สนใจของประชาชนอยู่มาก

ศึกษาต่อต่างประเทศและการบิน

ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนส่วนพระองค์เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท ให้ไปศึกษาวิชาการบินที่วิทยาลัยปาร์กสแอร์ส (Parks Air College) ในเมืองเซนต์หลุยส์ตะวันออก (East St.Louis) รัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 3 ปี ได้รับประกาศนียบัตร 3 ชนิด คือประกาศนียบัตรช่างกล ประกาศนียบัตรช่างเครื่องบิน และประกาศนียบัตรนักบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประกาศนียบัตรนักบินนั้น น.อ.เลื่อน ได้รับประกาศนียบัตรการบินพาณิชย์ชั้นสูงสุดแห่งสหรัฐอเมริกา เป็นคนแรกของประเทศไทย

ระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น น.อ.เลื่อน รับจ้างแสดงการบินอย่างผาดโผนต่างๆ กลางอากาศ เป็นที่ชื่นชอบของผู้ชม จึงมีโอกาสเดินทางไปแสดงในรัฐต่างๆ หลายแห่ง สามารถเก็บเงินซื้อเครื่องบินปีกสองชั้นได้ 1 เครื่อง ในราคา 6,000 บาท ให้ชื่อว่าเครื่องบินนางสาวสยาม หรือ Miss Siam เมื่อถึงกำหนดกลับสู่ประเทศไทย น.อ.เลื่อน พยายามจะใช้เป็นพาหนะบินกลับมาด้วยตนเอง ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ จึงต้องขนส่งกลับมาโดยวิธีการอื่น น.อ.เลื่อน ได้เพียรพยายามสมัครงานการบิน แต่ทุกแห่งที่นายเลื่อนไปสมัคร คือที่กองทัพอากาศแห่งหนึ่ง และที่บริษัทเดินอากาศอีกแห่งหนึ่ง ทั้งสองแห่งปฏิเสธไม่ยอมรับเขาเข้าทำงาน อ้างเหตุผลว่าไม่มีตำแหน่งว่าง ต้องว่างงานอยู่เป็นเวลา 1 ปี น.อ.เลื่อน จึงมีดำริในการพิสูจน์ความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์

การที่ น.อ.เลื่อน เข้าทำงานไม่ได้ดังกล่าว ทำให้ สมาคมสามัคคี (สมาคมสหมิตร) เกิดน้อยอกน้อยใจแทน จึงเรียก น.อ.เลื่อน ไปถามว่า จะให้บินเดี่ยวไปต่างประเทศจะได้ไหม นายเลื่อนตอบไปว่าได้ จากนั้นพรรคพวกก็ช่วยกันเรี่ยไรเงินรวบรวมได้สัก 2,000 บาท นำมามอบให้ น.อ.เลื่อน ผู้ขันอาสาที่จะบินไปประเทศจีน ซึ่งในสมัยนั้น ยังไม่มีนักบินไทยคนไหนเคยบินไปถึง เมื่อได้ตกลงใจแน่นอนแล้ว น.อ.เลื่อน ก็ยื่นขออนุญาตต่อกระทรวงกลาโหมก่อน กว่าจะได้รับอนุญาตให้บินได้ก็กินเวลาเข้าไปถึง 6 เดือน เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว น.อ.เลื่อน ก็ออกบินจากสนามบินดอนเมืองด้วยเครื่องบินนางสาวสยาม เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เขาบินผ่านไปลงพักที่จังหวัดนครราชสีมา 1 คืน พักที่นครพนม 1 คืน ออกจากนครพนมก็บินมุ่งไปยังสนามบินวิน แล้วไปฮานอย ปากหอย ไทเป และกวางเจาวัน จนถึงฮ่องกงเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันเป็นวันเดียวกันกับที่คณะราษฎรได้ก่อการปฏิวัติขึ้นในประเทศไทย บินไปถึงซัวเถา แต่ไม่สามารถบินต่อไปจนถึงเซี่ยงไฮ้ เนื่องจากจีนกำลังสู้รบกับญี่ปุ่นที่เซี่ยงไฮ้ น.อ.เลื่อน พักอยู่ที่เมืองจีนได้ 7 วันก็บินกลับประเทศไทย

ระหว่างการเดินทางก็ประสบกับอุปสรรคอย่างมาก อาทิ เครื่องบินเสียต้องร่อนลงซ่อมเครื่องเองแวะลงที่ไหนก็ถูกทหารเมืองนั้นจับกุมมีความลำบากในเรื่องอาหารการกินและที่พักหลับนอน บางแห่งไม่มีสนามบินต้องร่อนลงที่โล่งกว้างอย่างสนามฟุตบอลแทน ในช่วงที่บินผ่านมณฑลกวางตุ้งถูกเรือรบใช้ปืนยิงเครื่องบินทะลุ เพราะเข้าใจว่าเป็นเครื่องบินของฝ่ายตรงข้ามที่กำลังทำสงครามแย่งอำนาจกันอยู่ในขณะนั้น จึงต้องร่อนลงที่ชายหาดและใช้ปฏิภาณตลอดจนความรู้เรื่องช่างเครื่องยนต์มาแก้ปัญหา เอาตัวรอดมาได้อย่างหวุดหวิด

เมื่อถึงประเทศไทยแล้ว น.อ.เลื่อน นำเครื่องบินนางสาวสยาม จากสนามบินดอนเมือง กลับไปไว้ที่บ้านพักย่านบางขุนพรหม เพราะไม่มีสตางค์เสียค่าจอดในโรงเก็บเดือนละ 50 บาท และจะบินไปไหนตามใจชอบก็ไม่ได้ หากจะทำการบิน ต้องขออนุญาตทุกครั้งไป ทั้งไม่สามารถบินให้ไกลกว่า 50 ไมล์ได้ เนื่องจากทางราชการอนุญาตให้ทำการบินได้เพียงโดยรอบสนามบินเท่านั้น เมื่อมีเรื่องยุ่งยากดังนี้ น.อ.เลื่อน จึงไม่คิดทำการบินอีกต่อไป

ประดิษฐ์รถสามล้อ

ระหว่างที่ น.อ.เลื่อน สมัครเข้าทำงานในบริษัทเดินอากาศ แต่ถูกย้ายไปประจำอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นเวลา 5 ปี เขาได้ใช้เวลาว่างขณะที่อยู่ในจังหวัดนั้นประดิษฐ์รถสามล้อขึ้น ทั้งนี้ ก็โดยที่เห็นว่า รถเจ๊ก หรือรถลากซึ่งมีใช้กันอยู่ทั่วไปในขณะนั้น เป็นการทรมานแก่ผุ้คน และไม่รวดเร็ว ความเร็วของรถเจ๊ก ก็เท่ากับความเร็วของคนวิ่งช้า ๆ เท่านั้นเอง น.อ.เลื่อน ได้ใช้เวลา 1 ปี ก็ประดิษฐ์รถสามล้อสำเร็จ คือเมื่อ พ.ศ. 2476 จากนั้น ก็ได้นำเข้ามาจดทะเบียนที่กรุงเทพฯ โดย น.อ.เลื่อน เป็นผู้ขับขี่ด้วยตนเอง ในครั้งนั้น นายพันตำรวจตรี หลวงพิชิตธุระการ (ยศในขณะนั้น) เป็นผู้นั่งทดลองรถสามล้อเป็นคนแรก ตามคำสั่งของกระทรวงมหาดไทย ปรากฏว่า ตั้งแต่วันนั้น เป็นต้นมา ประชาชนคนไทยก็โจษขานกันเซ็งแซ่ไปทั้งเมือง ด้วยเห็นเป็นของแปลก

หลังจากจดทะเบียนแล้ว 1 เดือน น.อ.เลื่อน ก็สามารถประดิษฐ์รถสามล้อออกได้ถึง 50 คัน แต่ต่อจากนั้น ก็มีผู้ลอกแบบเอาอย่างไปทำกันเป็นอันมาก รถสามล้อก็เป็นที่นิยมของคนอย่างกว้างขวาง ได้แพร่หลายออกไปอย่างรวดเร็วทั้งในกรุงและหัวเมืองต่าง ๆ

การเมือง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นระยะหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่นานนัก น.อ.เลื่อนเข้าทำงานกับบริษัท ขนส่ง จำกัด[1] (Aerial Transport Company Limited) ที่จังหวัดนครราชสีมา และมีโอกาสพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานหลายคน จึงเกิดความสนใจในเรื่องการเมือง เนื่องจากมีความปรารถนาจะช่วยเหลือประเทศชาติ น.อ.เลื่อนจึงตัดสินใจลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จังหวัดนครราชสีมา ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ด้วยมีทุนรอนน้อยจึงมิได้ตั้งความหวังไว้มากนัก ทว่าบังเอิญได้รับเลือกตั้ง[2] จึงเปลี่ยนวิถีชีวิตมาเล่นการเมือง และลาออกจากงานตั้งแต่บัดนั้น ทั้งนี้ น.อ.เลื่อนได้รับเลือกตั้งถึง 6 สมัย เป็นเวลาประมาณ 25 ปี

โดย น.อ.เลื่อน ยังร่วมกับคณะนายทหาร เข้ากระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ต่อมาได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี ในรัฐบาลควง อภัยวงศ์ รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม[3] และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการองค์การน้ำตาลไทย เป็นระยะเวลา 10 ปี ต่อมาได้เป็นประธานกรรมการคนแรกบริษัท เดินอากาศไทย จำกัดคนแรกและได้รับพระราชทานยศเป็น นาวาอากาศเอก เมื่อปี พ.ศ. 2500[4]

บั้นปลายชีวิต

หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว น.อ.เลื่อน ใช้เวลาว่างเดินทางไปพักผ่อนต่างประเทศเป็นครั้งคราว รวมทั้งเข้าศึกษาวิชาการพิมพ์ลายผ้า ที่สหรัฐอเมริกาจนจบหลักสูตร มีดำริจะทำโรงพิมพ์ผ้าลายไทยในประเทศไทย แต่สุขภาพไม่เอื้ออำนวยจึงยุติไป น.อ.เลื่อน ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ ด้วยอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ซึ่งแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต่อมลูกหมาก เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สิริอายุ 80 ปี น.อ.เลื่อน สมรสกับคุณหญิงสุเนตร (นามสกุลเดิม: บุญญสิทธิ์) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2480 มีธิดา 2 คนคือ ทิพยาภรณ์ กับผาณิต (สมรสกับวารินทร์ พูนศิริวงศ์ ประธานกรรมการบริษัท หนังสือพิมพ์แนวหน้า จำกัด) และบุตร 1 คนคือ เลิศชาย

ใกล้เคียง

เลื่อน พงษ์โสภณ เลื่อมพรายลายรัก เลื่อยวงเดือน เลื่อน ศราภัยวณิช เลื่อนวน การเลื่อนแอนติเจน การเลื่อนไปทางแดง การเลื่อนผิดปรกติของสมอง การเลื่อนขนาน การเลื่อนดอปเพลอร์