องค์ประกอบ ของ เวทางค์

คัมภีร์เวทางคศาสตร์มีลักษณะสำคัญคือแต่งเป็นสูตรสั้น ๆ คล้ายทฤษฎีบททางคณิตศาสตร์เพื่อให้จำได้ง่ายและเร็ว แล้วมีคำอธิบายขยายความโดยละเอียดเพื่อความเข้าใจอันดียิ่งขึ้น ประกอบไปด้วยคัมภีร์หกคัมภีร์ซึ่งรวมกันเรียกว่า "เวทางคศาสตร์" ดังต่อไปนี้

1. ศิกฺษ หรือศึกษาศาสตร์ ว่าด้วยการอ่านออกเสียงคำในพระเวทให้ถูกต้องตามอักขรวิธี ตามครุและลหุ ตลอดจนตามวิธีอ่านทั่วไป สูตรในศึกษาศาสตร์ที่สำคัญและรู้จักกันดีได้แก่ ปราติสาขยสูตร-ว่าด้วยกฎการอ่านออกเสียงภาษาพระเวทโดยนำคำต่าง ๆ ที่มีเสียงไพเราะมาประสมเข้าด้วยกันแล้วบอกวิธีอ่านออกเสียงที่มีลักษณะเด่นเฉพาะของสำนักพระเวทตาง ๆ เช่น สำนักฤคเวทที่ชื่อว่า "ศกกฺลยสาขาของเศานกะ (หรือของเสนกบัณฑิต)" สำนักยชุรเวทดำชื่อ "ไตตฺติรียปฺราติศาขฺยะ" สำนักยชุรเวทขาวชื่อ "วาชสเนยีปฺราติศาขฺยะ" และสำนักอถรรพเวทชื่อ "เศานกียตตุราธยายิกะ" ส่วนสามเวทไม่มีสำนักโดยเฉพาะ

2. ฉนฺท หรือฉันทศาสตร์ ว่าด้วยวิธีอ่านมนตร์ด้วยทำนองเสนาะให้ถูกต้องตามลักษณะฉันท์ และว่าด้วยวิธีแต่งฉันท์ ฉันทศาสตร์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดได้แก่ฉบับของปิงคละ เขียนเมื่อประมาณ พ.ศ. 300

3. วฺยากรณ หรือไวยากรณศาสตร์ ว่าด้วยประเภทและระเบียบของคำที่ใช้ในพระเวท ไวยากรณศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่พบได้แก่ฉบับของปาณินิ (ประมาณ พ.ศ. 190-290) แต่ในคัมภีร์นี้ปาณินีได้อ้างนักไวยากรณ์ไว้หลายคนที่มีชีวิตอยู่ก่อนหน้าตน หนึ่งในนั้นคือ ศากฎายนะ ผู้ซึ่งมีรายงานว่าผลงานส่วนหนึ่งได้รับการค้นพบแล้ว

4. นิรุกฺต หรือนิรุกติศาสตร์ ว่าด้วยภาษา ความเข้าใจภาษา และการรู้จักใช้คำให้ผู้อื่นเข้าใจ ตลอดจนที่มาของคำในพระเวทที่มีความหมายยาก ๆ นิรุกติศาสตร์ที่รู้จักกันดีได้แก่ฉบับของยาสกะผู้มีชีวิตของก่อนปาณินิ ก่อนหน้ายาสกะก็มีผู้แต่งนิรุกติศาสตร์แล้วสิบเจ็ดคน แต่ผลงานเหล่านั้นสูญหายไปหมดแล้ว นิรุกติศาสตร์ของยาสกะประกอบไปด้วยบทย่อยที่เรียกว่า "ภาค" จำนวนสามภาค ดังนี้

4.1 ไนฆัณฑุกะ (บาลีว่า นิฆัณฑุ) ว่าด้วยประเภทศัพทมูลวิทยาหรืออภิธานศัพท์คำพ้อง4.2 ไนคม (บาลีว่า นิคม) ว่าด้วยประเภทอภิธานศัพท์คำเฉพาะในพระเวท4.3 ไทฺวตะ ว่าด้วยประมวลคำที่เกี่ยวกับพระเจ้าและพิธีกรรม

5. โชฺยติษฺ หรือโชยติษศาสตร์ ว่าด้วยวิธีคำนวณการโคจรของดวงดาวต่าง ๆ ตามที่พระเวทระบุไว้ เพื่อใช้ประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ คัมภีร์นี้ได้แก่ดาราศาสตร์ในปัจจุบัน

6. กลฺป หรือกัลปศาสตร์ ว่าด้วยวิธีนำมันตระต่าง ๆ ของพระเวทไปใช้ในพิธีกรรมทั้งหลาย ประกอบไปด้วยสูตรจำนวนสามสูตร ดังนี้

6.1 เศฺราตสูตร ว่าด้วยสูตรพิธีกรรมสำคัญ6.2 คฺฤหยสูตร ว่าด้วยพิธีสังสการ อันเป็นพิธีที่ต้องกระทำในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เกิดจนตาย รวมทั้งอาศรมทั้งสี่ของพราหมณ์ ได้แก่ พรหมจารี, คฤหัสถ์, วานปรัสถ์ และสันนยาสี6.3 ธรฺมสูตร ว่าด้วยภาระ และหน้าที่ ข้อปฏิบัติของประชาชนทุกวรรณะ

ใกล้เคียง