อิทธิพลต่อพุทธศาสนา ของ เวทางค์

ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นต้นของศาสนาพุทธได้ปรากฏชื่อคัมภีร์ในเวทางคศาสตร์อยู่หลายแห่ง เช่น ในอัมพัฏฐสูตร โสณทัณฑสูตร กูฏทันตสูตร แห่งทีฆนิกาย สีลขันธวรรค (พระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย เล่ม 9 ข้อ 356, 303 และ 331 ตามลำดับ) บรรยายความคงแก่เรียนของอัมพัฏฐพราหมณ์และกูฏทันตพราหมณ์ไว้ตรงกันว่า เป็นผู้คงแก่เรียน ทรงจำมนตร์ จบไตรเพทพร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฎุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ตลอดจนรู้ตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และการทำนายลักษณะมหาบุรุษ

ซึ่งอรรถกถาทีฆนิกายอธิบายชื่อคัมภีร์ดังกล่าวไว้ดังนี้

1. ที่ว่า "ทรงจำมนตร์" หมายถึง ทรงจำมันตระหรือบทสวดในฤคมันตระ (ฤคเวท) ยชุรมันตระ (ยชุรเวท) และสามมันตระ (สามเวท)

2. ที่ว่า "นิฆัณฑุศาสตร์" ตรงกับคัมภีร์ไนฆัณฑุกะของนิรุกติศาสตร์ เวทางคศาสตร์

3. ที่ว่า "เกฎุภศาสตร์" นั้นเป็นชื่อคัมภีร์ว่าด้วยกฎเกณฑ์การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมแก่การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์กัลปศาสตร์ ภาษาสันกฤตว่า "ไกฎกศาสตร์"

4. ที่ว่า "อักษรศาสตร์" นั้นเป็นชื่อคัมภีร์ว่าด้วยการเปล่งเสียง การออกเสียง ซึ่งตรงกับศึกษาศาสตร์ เวทางคศาสตร์ และว่าด้วยการอธิบายคำศัพท์โดยอาศัยประวัติและกำเนิดของคำ ซึ่งตรงกับนิรุกติศาสตร์ เวทางคศาสตร์

5. ที่ว่า "ประวัติศาสตร์" นั้นเป็นชื่อคัมภีร์ประเภทพงศาวดารเล่าเรื่องเก่า ๆ ตรงกับคัมภีร์อิติหาสะของศาสนาพราหมณ์

6. ที่ว่า "การทำนายลักษณะมหาบุรุษ" นั้นคือชื่อศาสตร์ที่ว่าด้วยลักษณะของบุคคลสำคัญ เช่น พระพุทธเจ้า อันมีอยู่ในคัมภีร์พราหมณ์ชื่อว่า "มันตระ" ในส่วนเฉพาะที่ว่าด้วยพระพุทธเจ้าเรียกว่า "พุทธมันตระ" มีหนึ่งหมื่นหกพันคาถา