ลักษณะของเสียงแซมหายใจ ของ เสียงแซมหายใจ

เสียงแซมหายใจเป็นเสียงที่เกิดจากการเปิดทันทีของทางเดินหายใจขนาดเล็ก[1] มีลักษณะไม่ต่อเนื่อง[2] สั้น และไม่ไพเราะ มักเกิดบ่อยระหว่างช่วงหายใจเข้ามากกว่าช่วงหายใจออก แต่ก็อาจได้ยินในช่วงหายใจออกได้เช่นกัน เสียงนี้มักเกี่ยวข้องกับการอักเสบหรือการติดเชื้อของหลอดลมขนาดเล็ก หลอดลมฝอย และถุงลม เสียงแซมหายใจที่ไม่หายไปหลังจากการไอมักบ่งถึงภาวะปอดบวมน้ำหรือมีของเหลวในถุงลมจากหัวใจล้มเหลวหรือกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน (Acute respiratory distress syndrome)

เสียงแซมหายใจมักอธิบายออกเป็นชนิดละเอียด ปานกลาง และหยาบ ซึ่งอาจแยกได้จากเวลาที่เกิดในช่วงการหายใจ โดยเสียงแซมหายใจแบบละเอียดมักเกิดช่วงปลายของการหายใจเข้า ในขณะที่เสียงแซมหายใจแบบหยาบมักเกิดในช่วงต้นของการหายใจเข้า

  • เสียงแซมหายใจแบบละเอียด (Fine crackles) มีลักษณะนุ่ม ระดับเสียงสูง และสั้นมาก ลักษณะของเสียงนี้คล้ายกับการนำเส้นผมมาสีกันใกล้กับหู เสียงนี้มักบอกถึงภาวะของเนื้อปอด เช่นพังผืดของปอด หรือหัวใจล้มเหลวแบบมีน้ำคั่ง
  • เสียงแซมหายใจแบบหยาบ (Coarse crackles) มีลักษณะดังกว่า ระดับเสียงต่ำ และนานกว่าแบบละเอียด ลักษณะคล้ายกับเสียงแกะแถบยึดเวลโคร เสียงนี้มักบ่งบอกถึงโรคของทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลมโป่งพอง

เสียงแซมหายใจสามารถได้ยินบริเวณกลีบล่างของปอด ภาวะปอดบวมน้ำทำให้ได้ยินเสียงนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น