ปฏิกิริยา ของ เหตุโจมตีสถานีรถไฟกรามาตอสก์

บริเวณสถานีรถไฟหลังเหตุโจมตีหน่วยฉุกเฉินของยูเครนในที่เกิดเหตุ

มิเชล บาเชเล ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่าเหตุโจมตีครั้งนี้ "เป็นสัญลักษณ์ของความล้มเหลวในการปฏิบัติตามหลักการแบ่งแยกพลรบกับพลเรือน หลักการห้ามโจมตีโดยไม่เลือกเป้าหมาย และหลักการใช้ความระมัดระวังก่อนการสู้รบซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ"[25]

ดูญา มิยาตอวิช กรรมาธิการสภายุโรปเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า "การโจมตีเขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่นของยูเครนเป็นการกระทำอีกอย่างหนึ่งที่แสดงถึงความไม่ใส่ใจต่อชีวิตพลเรือนอย่างโจ่งแจ้ง ซึ่งตอนนี้กลายเป็นลักษณะประจำของการรุกรานทางทหารคราวนี้อย่างน่าเศร้า"[26]

วอลอดือมือร์ แซแลนสกึย ประธานาธิบดียูเครน กล่าวว่า "นี่คือความชั่วร้ายที่ไม่มีขอบเขต ถ้าพวกเขาไม่ถูกลงโทษ พวกเขาก็จะไม่หยุด"[20][27]

อัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปซึ่งเดินทางเยือนยูเครนในวันเกิดเหตุ ประณามการโจมตีครั้งนี้ว่า "น่ารังเกียจ"[28] ฌ็อง-อีฟว์ เลอ ดรีย็อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส บรรยายการโจมตีครั้งนี้ว่าเป็น "อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ" ที่ไม่สามารถปล่อยให้ลอยนวลได้[29] ขณะที่เบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหราชอาณาจักร ประณามการโจมตีครั้งนี้ว่าเป็นอาชญากรรมสงคราม[30]

อังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวถึงการโจมตีด้วยขีปนาวุธครั้งนี้ว่าเป็นสิ่งที่ "ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง"[31]

ออแลกซันดร์ กามือชิน ผู้ว่าการรถไฟยูเครน กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่าเป็น "การโจมตีที่พุ่งเป้าไปที่โครงสร้างพื้นฐานสำหรับผู้โดยสารรถไฟและผู้อยู่อาศัยในเมืองกรามาตอสก์"[32] หน่วยความมั่นคงยูเครนเริ่มกระบวนการดำเนินคดีตามมาตรา 438 แห่งประมวลกฎหมายอาญา[33]

จัสติน บรองก์ นักวิเคราะห์จากราชสถาบันสหบริการ (Royal United Services Institute) กล่าวว่ารัสเซียมีเป้าหมายที่จะสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของยูเครน เพื่อทำให้กองกำลังยูเครนเคลื่อนพลไปในภูมิภาคดอนบัสได้ลำบาก นอกจากนี้เขายังชี้ว่ารัสเซียเลือกใช้ขีปนาวุธประเภทตอชคาอูเพื่อ "ทำให้สถานการณ์ซับซ้อนขึ้น"[30] เนื่องจากกองทัพยูเครนก็ใช้ขีปนาวุธประเภทนี้เช่นกัน กระทรวงกลาโหมสหรัฐเน้นย้ำว่ารัสเซียเป็นผู้รับผิดชอบในเหตุโจมตี รวมทั้งเน้นย้ำความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของชุมทางรถไฟแห่งนี้[34][35]

ปฏิกิริยาจากรัสเซียและผู้สนับสนุน

ในตอนแรก บรรดาสื่อของรัฐรัสเซียและช่องเทเลแกรมที่สนับสนุนรัสเซีย[36][37] อ้างว่ารัสเซียเพิ่งประสบความสำเร็จในการโจมตีทางอากาศต่อเป้าหมายการขนส่งทางทหารแห่งหนึ่งในเมืองกรามาตอสก์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นที่ปรากฏชัดว่ามีขีปนาวุธคร่าชีวิตพลเรือนจำนวนมากที่สถานีรถไฟกรามาตอสก์ จึงมีการแก้ไขและลบรายงานก่อนหน้าทิ้ง[38] รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธความรับผิดชอบต่อเหตุโจมตี และกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่าเป็นกลลวงของยูเครน[36][39] โดยอ้างว่ากองกำลังยูเครนเป็นผู้ยิงขีปนาวุธมาจากเมืองดอบรอปิลเลียทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรามาตอสก์[40][14]

สื่อรัสเซียยังกล่าวด้วยว่าหมายเลขลำดับของขีปนาวุธที่ตกในที่เกิดเหตุนั้นอยู่ในพิสัยเดียวกันกับที่กองกำลังยูเครนใช้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีนี้ไม่สามารถใช้หมายเลขลำดับในการพิสูจน์ว่าฝ่ายใดเป็นผู้ยิงขีปนาวุธ เนื่องจากขีปนาวุธประเภทตอชคาอูทั้งหมดผลิตจากโรงผลิตเพียงแห่งเดียวในรัสเซียและกระจายจากที่นั่นไปทั่วสหภาพโซเวียต จึงส่งผลให้ตอชคาอูที่รัสเซียใช้ในซีเรียกับตอชคาอูที่ยูเครนใช้ในเมืองสนิฌแนมีหมายเลขลำดับใกล้เคียงกันเป็นต้น[41][42][43] ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็ใช้อาวุธที่ยึดได้จากอีกฝ่ายอย่างกว้างขวาง[44][45]

คลิปวิดีโอปลอมคลิปหนึ่งที่ใส่ตราสัญลักษณ์บีบีซีและกล่าวโทษว่ากองกำลังยูเครนเป็นผู้ยิงขีปนาวุธได้แพร่สะพัดไปตามช่องเทเลแกรมที่สนับสนุนรัสเซียตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน สถานีโทรทัศน์ของรัฐรัสเซียยังนำวิดีโอนี้ไปออกอากาศด้วย แต่บีบีซีไม่เคยผลิตวิดีโอใด ๆ ในลักษณะดังกล่าว[46][47]

การประเมินปฏิกิริยาจากรัสเซีย

ซากจรวดขีปนาวุธซึ่งมีข้อความเขียนว่า ЗА ДЕТЕЙ ("[แก้แค้น] ให้เด็ก ๆ")

กระทรวงกลาโหมรัสเซียอ้างว่ากองกำลังของตนได้เลิกใช้ขีปนาวุธตอชคาอูไปแล้ว อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล นักข่าวสืบสวนของคอนฟลิกต์อินเทลลิเจนซ์ทีม และผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารจำนวนหนึ่งแสดงหลักฐานว่ากองกำลังรัสเซียได้เคยใช้ขีปนาวุธตอชคาในหลายพื้นที่ของยูเครนมาก่อนที่จะเกิดเหตุโจมตีสถานีกรามาตอสก์[48] ยิ่งไปกว่านั้น นักสืบจากโครงการโอเพนซอร์สฆายุนจากเบลารุสได้เผยแพร่วิดีโอแสดงขบวนรถบรรทุกรัสเซียที่บรรทุกขีปนาวุธตอชคาประเภทต่าง ๆ กำลังมุ่งหน้าจากเบลารุสมายังยูเครนในวันที่ 5 มีนาคม และ 30 มีนาคม[49] สถาบันเพื่อการศึกษาสงครามประเมินว่ากองทัพผสมที่ 8 พิทักษ์รัฐของรัสเซียซึ่งประจำการอยู่ในดอนบัสมีขีปนาวุธตอชคาอูไว้ใช้[50] รายงานข่าวและภาพจากสื่อสังคมออนไลน์ของรัสเซียแสดงให้เห็นว่ากองพลน้อยขีปนาวุธที่ 47 (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพผสมที่ 8 ของรัสเซีย) ได้อวดขีปนาวุธตอชคาอูตามงานสาธารณะต่าง ๆ ใน พ.ศ. 2564 ซึ่งรวมถึงการเดินสวนสนามในวันแห่งชัยชนะที่เมืองครัสโนดาร์ด้วย[51]

เมื่อวันที่ 14 เมษายน เบลลิงแคตระบุว่าหลักฐานโอเพนซอร์สที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอที่จะระบุได้ว่าขีปนาวุธถูกยิงมาจากทิศทางใด[24]

เมื่อวันที่ 18 เมษายน พอลิติแฟกต์ประเมินความเป็นไปได้ที่เหตุโจมตีครั้งนี้จะเป็นปฏิบัติการธงเท็จ โดยสรุปว่า "ไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่ายูเครนอยู่เบื้องหลังการโจมตีที่สถานีรถไฟกรามาตอสก์เมื่อวันที่ 8 เมษายน"[52]

ใกล้เคียง

เหตุโจมตีในนอร์เวย์ พ.ศ. 2554 เหตุโจรกรรมร้านทองในจังหวัดลพบุรี พ.ศ. 2563 เหตุโจมตีในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2566 เหตุโจมตีทางอากาศใส่โรงพยาบาลในมารีอูปอล เหตุโจมตีคณะผู้แทนทางทูต พ.ศ. 2555 เหตุโจมตีทางอากาศใส่โรงละครในมารีอูปอล เหตุโจมตีสถานีรถไฟกรามาตอสก์ เหตุโจมตีโครคุสซีตีฮอลล์ เหตุโจมตีในปารีส เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2558 เหตุโจมตีโดยอิหร่านในประเทศอิสราเอล พ.ศ. 2567

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุโจมตีสถานีรถไฟกรามาตอสก์ https://www.bbc.com/russian/news-61038473 https://www.bbc.com/news/world-europe-61055105 https://web.archive.org/web/20220505071255/https:/... https://www.lemonde.fr/en/international/article/20... https://web.archive.org/web/20220412025852/https:/... https://www.telegraph.co.uk/world-news/2022/04/25/... https://web.archive.org/web/20220520173113/https:/... https://edition.cnn.com/europe/live-news/russia-uk... https://web.archive.org/web/20220501161110/https:/... https://www.theatlantic.com/ideas/archive/2022/04/...