การสังเคราะห์เอทิลีน ของ เอทิลีน

การสังเคราะห์เอทิลีนในพืช

เกิดขึ้นได้ในส่วนต่างๆของพืชทั้งราก ลำต้น ใบ ผล เมล็ด และส่วนหัว แต่อัตราการสังเคราะห์จะขึ้นกับระยะเวลาในการเติบโต โดยเนื้อเยื่อที่แก่จะสังเคราะห์เอทิลีนมาก เช่น ผลไม้ที่กำลังสุก ในใบ ใบอ่อนจะผลิตเอทิลีนน้อยและจะเพิ่มขึ้นเมื่อใบแก่ขึ้นและจะมากที่สุดเมื่อใบใกล้ร่วง เมื่อผลไม้เริ่มสังเคราะห์เอทิลีน ปริมาณเอทิลีนที่ผลิตอยู่ในระดับ 0.1 -1 ไมโครลิตร ซึ่งสามารถกระตุ้นให้ผลไม้เพิ่มอัตราการหายใจได้ เนื้อเยื่อที่ยังไม่แก่แต่เกิดบาดแผลหรือถูกรบกวนจะปล่อยเอทิลีนออกมาได้ภายในครึ่งชั่วโมง การถูกรบกวนโดยการกรีด (ในกรณีของต้นยาง) การติดเชื้อจุลินทรีย์ น้ำท่วม อากาศเย็นจัด ล้วนแต่กระตุ้นการผลิตเอทิลีนได้ทั้งสิ้น[3]การผลิตเอทิลีนเกิดขึ้นได้ทุกส่วนในพืชชั้นสูง ทั้งที่ใบ ราก ลำต้น ดอก ผล และต้นกล้า

"การผลิตเอทิลีนถูกควบคุมด้วยปัจจัยทางพัฒนาการและสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก ในช่วงชีวิตของพืช การผลิตเอทิลีนถูกชักนำด้วยระหว่างระยะของการเจริญเช่น การงอกของเมล็ด การสุกของผลไม้ การร่วงของใบ และ ความชราของดอกไม้ การผลิตเอทิลีนถูกชักนำด้วยกลไกภายนอกหลายประการ เช่น การเกิดบาดแผล ความกดดันทางสิ่งแวดล้อม และสารเคมี เช่น ออกซินและสารควบคุมการเจริญเติบโตอื่นๆ"[4]

เอทิลีนผลิตจากกรดอะมิโนเมทไทโอนีน โดยเปลี่ยนรูปมาเป็น S-adenosyl-L-methionine (SAM, หรือเรียก Adomet) ด้วยเอนไซม์ Met Adenosyltransferase SAM ถูกเปลี่ยนไปเป็น 1-aminocyclopropane-1-carboxylic-acid (ACC) ด้วยเอนไซม์ ACC synthase (ACS)การทำงานของ ACS เป็นตัวกำหนดอัตราการผลิตเอทิลีน การควบคุมการทำงานของเอนไซม์นี้เป็นกุญแจสำคัญในการควบคุมการผลิตเอทิลีน ขั้นตอนสุดท้ายต้องการออกซิเจนและเกี่ยวข้องกับการทำงานของเอนไซม์ ACC-oxidase (ACO) ซึ่งเดิมเรียกว่า Ethylene Forming Enzyme (EFE) การผลิตเอทิลีนถูกชักนำได้ด้วยเอทิลีนภายในและภายนอกลำต้น การสังเคราะห์ ACC เพิ่มขึ้นเมื่อมีออกซินระดับสูง โดยเฉพาะ กรดอินโดลอะซีติก และไซโตไคนิน ACC synthase ถูกยับยั้งด้วย กรดแอบไซซิก[5]