ประวัติ ของ เอ็นเอชเค

การถ่ายทอดเสียงทางวิทยุเป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2468 บนยอดเขาอาตาโกะ (Atago Hill) ในนามของ สถานีวิทยุกระจายเสียงโตเกียว (ญี่ปุ่น: 東京放送局 โรมาจิTōkyō Hōsō Kyōku; อังกฤษ: The Tokyo Broadcasting Station) เปิดสถานีด้วยการบรรเลงดนตรีคลาสสิกของลุดวิจ ฟาน เบโทเฟน และของศิลปินชาวญี่ปุ่น ต่อมา ในปีเดียวกัน ได้เพิ่มสถานีส่งที่เมืองโอซากะ และนาโงยะ

ในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2469 จึงมีการก่อตั้ง บริษัทการกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งญี่ปุ่น พร้อมการมอบเอกสิทธิ์ในการดำเนินกิจการกระจายเสียงแต่เพียงผู้เดียวในญี่ปุ่นขณะนั้น โดยมีที่มาจากการยุบรวมกิจการเครือข่ายสถานีวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่นสามแห่งเข้าด้วยกัน และนำนโยบายของบรรษัทกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งบริเตน (บีบีซี) มาเป็นแนวทางดำเนินงาน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการกระจายเสียงและแพร่ภาพ เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารและสาระประโยชน์สู่ผู้ฟังอย่างเที่ยงตรง กล่าวคือไม่เบี่ยงเบนไปให้การสนับสนุนรัฐบาล หรือองค์กรเอกชนอื่นใด และยึดถือความคิดเห็นของผู้ฟังเป็นความสำคัญอันดับแรกสุด[1]

จากนั้น เอ็นเอชเค ขยายเครือข่ายวิทยุอีกหนึ่งสถานี เมื่อปี พ.ศ. 2474 ต่อมา เอ็นเอชเค เปิดบริการกระจายเสียงวิทยุคลื่นสั้น สำหรับผู้ฟังโพ้นทะเลขึ้น ในปี พ.ศ. 2478 ที่มีชื่อเสียงในชื่อ วิทยุญี่ปุ่น (อังกฤษ: Radio Japan) ช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930-1940 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2484 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา เอ็นเอชเค ถ่ายทอดเสียงรายการพิเศษ ยุทธการกุหลาบโตเกียว (อังกฤษ: Tokyo Rose Wartime) ภายหลังสงครามสิ้นสุดลง ในปี พ.ศ. 2493 มีการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการกระจายเสียง (ญี่ปุ่น: 放送法 โรมาจิHōsō Hō) ขึ้น โดยเอ็นเอชเค กลับมาเป็นองค์กรพิเศษ ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ฟัง ภายใต้กฎหมายนี้

เอ็นเอชเค เริ่มออกอากาศโทรทัศน์ระบบขาวดำเป็นครั้งแรก โดยช่องโทรทัศน์ภาคปกติ เมื่อปี พ.ศ. 2496 และช่องโทรทัศน์เพื่อการศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2502 จากนั้นจึงปรับปรุงเป็นการออกอากาศด้วยระบบสี เมื่อปี พ.ศ. 2503 ต่อมา มีการขยายไปออกอากาศในช่องทางใหม่ๆ เพิ่มเติม คือ ช่องโทรทัศน์ระบบผ่านดาวเทียม ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980, ช่องโทรทัศน์ภาคบริการโลก เมื่อปี พ.ศ. 2538 และระบบดิจิทัลผ่านดาวเทียม ในปี พ.ศ. 2543

เอ็นเอชเค เริ่มโครงการออกอากาศโทรทัศน์ระบบดิจิทัล โดยส่งสัญญาณขนานไปตามพื้นโลก เมื่อปี พ.ศ. 2546 ด้วยการเปิดสถานีส่งในบริเวณสามเมืองใหญ่ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ เอ็นเอชเค วางแผนว่า จะดำเนินการครอบคลุมได้ทั่วประเทศ ภายในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 แต่อย่างไรก็ตาม เอ็นเอชเค ได้ยกเลิกการออกอากาศโทรทัศน์ระบบแอนะล็อก ไฮ-วิชัน ผ่านดาวเทียม ไปเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2550

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2563) เอ็นเอชเค มีบริการกระจายเสียง และแพร่ภาพภายในประเทศ ผ่าน 6 ช่องโทรทัศน์ โดยมีโทรทัศน์ภาคปกติ และโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ที่แพร่ภาพภาคพื้นดินเป็นหลัก โทรทัศน์ดาวเทียม 4 ช่อง โดย 2 ช่องแรก จัดทำรายการที่มีความยืดหยุ่น ตามความสนใจของผู้ชมในวงกว้าง ส่วนอีก 2 ช่อง แพร่ภาพในระบบความคมชัดสูง 4K และ 8K ตามลำดับ และยังมีสถานีวิทยุ 3 แห่ง ให้บริการนำเสนอรายการข่าว, การศึกษา สาระและบันเทิงสำหรับครอบครัว เป็นต้น[1]