ประวัติ ของ เอ็มคอตเอชดี

เมื่อปี พ.ศ. 2492 สรรพสิริ วิรยศิริ ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของกรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) เขียนบทความขึ้นบทหนึ่ง เพื่อแนะนำให้ผู้อ่านรู้จักกับ "วิทยุภาพ" อันเป็นเทคโนโลยีการสื่อสารชนิดใหม่ของโลก ต่อมา กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน) ส่งข้าราชการของกรมฯ กลุ่มหนึ่ง ไปศึกษางานวิทยุโทรภาพที่สหราชอาณาจักร ในราวปี พ.ศ. 2493 เมื่อเล็งเห็นประโยชน์มหาศาลต่อประเทศชาติ กรมประชาสัมพันธ์จึงนำเสนอ "โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ" ต่อจอมพลแปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรส่วนมาก แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลืองต่องบประมาณแผ่นดินโดยเปล่าประโยชน์ จึงจำเป็นต้องยุติโครงการดังกล่าวลง

หลังจากนั้น ประสิทธิ์ ทวีสิน ประธานกรรมการบริษัท วิเชียรวิทยุและโทรภาพ จำกัด นำเครื่องส่งวิทยุโทรภาพ 1 เครื่อง พร้อมเครื่องรับจำนวน 4 เครื่อง ซึ่งมีน้ำหนักรวมกว่า 2,000 กิโลกรัม มาทำการทดลองส่งแพร่ภาพในทำเนียบรัฐบาล ให้คณะรัฐมนตรีได้รับชม นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และยังเปิดฉายให้ประชาชนทั่วไป ทดลองรับชมที่ศาลาเฉลิมกรุงด้วย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2495

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 บางขุนพรหม

ระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน พ.ศ. 2495 รัฐมนตรีและข้าราชการกลุ่มหนึ่ง ของกรมประชาสัมพันธ์ รวมจำนวน 7 คน ประกอบด้วย พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์), พลโทหม่อมหลวงขาบ กุญชร, ประสงค์ หงสนันทน์, พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์, เล็ก สงวนชาติสรไกร, พลอากาศโทมุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษฎ์ และนาวาอากาศเอกเลื่อน พงษ์โสภณ ดำเนินการระดมทุน ด้วยการเสนอขายหุ้น ต่อกรมประชาสัมพันธ์ เป็นเงิน 11 ล้านบาท จึงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอีก 8 แห่ง เป็นเงิน 9 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 20 ล้านบาท เพื่อเป็นทุนจดทะเบียนจัดตั้ง "บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด" (อังกฤษ: Thai Television Co., Ltd. ชื่อย่อ: ท.ท.ท.) ขึ้นเมื่อวันที่10 พฤศจิกายน ของปีดังกล่าว เพื่อเป็นผู้ดำเนินกิจการการส่งสัญญาณโทรทัศน์ในประเทศไทย[3]

ทั้งนี้ ในระยะก่อนจะดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์ บจก.ไทยโทรทัศน์ ดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. ขึ้นเพื่อระดมทุนทรัพย์ สำหรับใช้ในการบริหารงาน และเพื่อฝึกฝนบุคลากรฝ่ายต่างๆ พร้อมทั้งเตรียมงานส่วนอื่นด้วย โดยส่งกระจายเสียงจากอาคารที่ทำการ บริเวณแยกคอกวัว (ปัจจุบันเป็นอนุสรณ์สถาน14 ตุลาฯ) จากนั้น เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2497 พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด (อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น) เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ภายในบริเวณวังบางขุนพรหม ที่ทำการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน (จึงเป็นที่มาของชื่อ ที่ผู้ชมทั่วไปเรียกว่า "ช่อง 4 บางขุนพรหม") โดยในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ก็เริ่มทดลองส่งแพร่ภาพโทรทัศน์จากห้องส่งของสถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. ไปพลางก่อน จนกระทั่งก่อสร้างอาคารที่ทำการ พร้อมติดตั้งเครื่องส่งเสร็จสมบูรณ์

จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธานพิธีเปิด สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 (อังกฤษ: Thai Television Channel 4ชื่อย่อ: ไทย ที.วี. ชื่อเรียกตามอนุสัญญาสากลว่าด้วยวิทยุโทรทัศน์: HS1-TV) ขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและทวีปเอเชียบนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ (Asia Continental) ซึ่งเป็นแห่งที่สองของทวีปเอเชียทั้งหมด ถัดจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งตรงกับวันชาติไทยในสมัยนั้น โดยใช้เครื่องส่งโทรทัศน์ขนาด 10 กิโลวัตต์ แพร่ภาพขาวดำระบบ 525 เส้นต่อภาพ 30 ภาพต่อวินาที เช่นเดียวกับที่ใช้ในสหรัฐอเมริกา[3] ต่อมาในเวลา 19:00 น. วันเดียวกัน จึงเริ่มทดลองออกอากาศอย่างเป็นทางการ เริ่มด้วย อารีย์ นักดนตรี ผู้ประกาศของสถานีฯ รำประกอบเพลงต้นบรเทศ (ในยุคหลังเรียกว่า "ต้นวรเชษฐ์"[4]) ซึ่งใช้เปิดการออกอากาศทั้งสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุของ บจก.ไทยโทรทัศน์ ออกอากาศสดจากห้องส่งโทรทัศน์จากนั้น เย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ ผู้ประกาศแจ้งรายการประจำวัน

สำหรับคณะผู้ปฏิบัติงานยุคแรก ของช่อง 4 บางขุนพรหม ได้แก่ จำนง รังสิกุล เป็นผู้อำนวยการคนแรกของสถานีฯ กับทั้งหัวหน้าฝ่ายผลิตรายการ, อัมพร พจนพิสุทธิ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายกำกับภาพ, สมชาย มาลาเจริญ เป็นหัวหน้าฝ่ายช่างกล้อง, ธนะ นาคพันธุ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายควบคุมการออกอากาศ, เกรียงไกร (สนั่น) ชีวะปรีชา เป็นหัวหน้าฝ่ายเครื่องส่ง, ธำรง วรสูตร ร่วมกับ ฟู ชมชื่น เป็นหัวหน้าฝ่ายเครื่องส่งและเสาอากาศ, จ้าน ตัณฑโกศัย เป็นหัวหน้าฝ่ายกำกับเสียง, รักษ์ศักดิ์ วัฒนพานิช เป็นหัวหน้าฝ่ายบริการเครื่องรับโทรทัศน์, สรรพสิริ วิรยศิริ เป็นหัวหน้าฝ่ายข่าว กับหัวหน้าฝ่ายช่างภาพและแสง

ส่วนผู้ประกาศยุคแรกเป็นสุภาพสตรี ได้แก่ เย็นจิตต์ สัมมาพันธ์ (ปัจจุบันคือ เย็นจิตต์ รพีพัฒน์ ณ อยุธยา), อารีย์ นักดนตรี (ปัจจุบันคือ อารีย์ จันทร์เกษม), ดาเรศร์ ศาตะจันทร์, นวลละออ ทองเนื้อดี (ปัจจุบันคือ นวลละออ เศวตโสภณ), ชะนะ สาตราภัย และประไพพัฒน์ นิรัตพันธ์ เป็นต้น ทางผู้ประกาศข่าวเป็นสุภาพบุรุษ ได้แก่ สรรพสิริ วิรยศิริ, อาคม มกรานนท์, สมชาย มาลาเจริญ และบรรจบ จันทิมางกูร เป็นต้น

ในระยะแรก แพร่ภาพทุกวันอังคาร, วันพฤหัสบดี, วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 18:30-23:00 น. ต่อมาเพิ่มวันและเวลาออกอากาศ มากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ รัฐบาลในสมัยนั้น มักใช้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4 ถ่ายทอดการปราศรัย ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี, เผยแพร่ผลงานของรัฐบาล, ถ่ายทอดการประชุมรัฐสภา ตลอดจนถ่ายทอดสดงานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. 2500 แต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น จึงสั่งการให้กองทัพบก จัดตั้งสถานีโทรทัศน์ขึ้น อีกแห่งหนึ่งคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 (ภาพขาวดำ; ปัจจุบันคือ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5) ในระหว่างปี พ.ศ. 2500-2501

ราวต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้เปลี่ยนระบบการออกอากาศ จากภาพขาวดำเป็นภาพสี ในระบบ 625 เส้น ทางช่อง 4 บางขุนพรหม อย่างสมบูรณ์ โดยได้ย้ายห้องส่งโทรทัศน์ไปที่ถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู และราวปี พ.ศ. 2519 ได้หยุดทำการออกอากาศพร้อมกับการเปลี่ยนชื่อเป็น สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 บางลำพู ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2513 ที่ผ่านมา

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 บางลำพู

บจก.ไทยโทรทัศน์ เริ่มออกอากาศเป็นภาพสี 625 เส้น ในย่านความถี่วีเอชเอฟ ทางช่องสัญญาณที่ 9 ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2513 โดยแพร่ภาพออกอากาศคู่ขนานกับช่องสัญญาณที่ 4 ในระบบภาพขาวดำ เป็นเวลาประมาณ 4 ปี[5] กระทั่งราวต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2517 จึงยุติการออกอากาศในระบบภาพขาวดำ 525 เส้น ทางช่องสัญญาณที่ 4 คงไว้เพียงระบบภาพสี มาจนถึงราวปี พ.ศ. 2519 โดยทางช่องสัญญาณที่ 9 อย่างสมบูรณ์ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9" (อังกฤษ: Thai Color Television Channel 9) พร้อมทั้งย้ายห้องส่งโทรทัศน์ รวมถึงที่ทำการทั้งหมด ไปยังอาคารพาณิชย์ขนาด 5 คูหา ย่านถนนพระสุเมรุ แขวงบางลำพู (ดังที่ผู้ชมทั่วไป มักเรียกว่า "ช่อง 9 บางลำพู" ในสมัยนั้น) เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย เสนอซื้อที่ดิน, อาคารที่ทำการ บจก.ไทยโทรทัศน์ และสิ่งปลูกสร้างทั้งหมด ซึ่งอยู่ภายในบริเวณวังบางขุนพรหม ด้วยมูลค่า 39 ล้านบาท เพื่อแลกกับบ้านมนังคศิลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502[ต้องการอ้างอิง]

สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท.

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 คณะรัฐมนตรี ที่นำโดยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรี มีมติให้ยุบเลิกกิจการ บจก.ไทยโทรทัศน์ ส่งผลให้การดำเนินงานของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 สิ้นสุดลงด้วย ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง "องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย" (อังกฤษ: The Mass Communication Organisation of Thailand ชื่อย่อ: อ.ส.ม.ท.; M.C.O.T.) ให้เป็นรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐ ให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่เชื่อถือของสาธารณชน โดยรัฐบาลมอบทุนประเดิม 10 ล้านบาท และให้รับโอนกิจการสื่อสารมวลชนของ บจก.ไทยโทรทัศน์ คือ สถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 เพื่อดำเนินกิจการต่อไป[6] ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2520 ซึ่งเป็นวันสถาปนา อ.ส.ม.ท.[3] ส่งผลให้เปลี่ยนชื่อเป็น "สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท." โดยอัตโนมัติ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด อาคารที่ทำการ อ.ส.ม.ท. บนเนื้อที่ 14 ไร่ ที่มีห้องส่งโทรทัศน์ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนั้น เมื่อเวลา 09:25 น. ของวันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2524[7] ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2528-2532 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิธีกรรายการ ความรู้คือประทีป ในขณะนั้น ตอบรับคำเชิญของ ผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ในขณะนั้น ให้เข้ามาช่วยปรับปรุงการนำเสนอข่าว 9 อ.ส.ม.ท. ร่วมกับ บริษัท แปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชัน จำกัด ส่งผลให้ผู้ประกาศข่าวคู่ ซึ่งมีชื่อเสียงที่สุด ของยุคนั้นก็คือ ดร.สมเกียรติ และกรรณิกา ธรรมเกษร (ซึ่งทำหน้าที่ ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์ ดร.สมเกียรติ ประกาศคู่กับ อรุณโรจน์ เลี่ยมทอง)

วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 อ.ส.ม.ท. ร่วมลงนามในสัญญากับสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เพื่อขยายเครือข่ายกิจการโทรทัศน์ ไปสู่ส่วนภูมิภาค และหน่วยงานภาครัฐ จัดสรรคลื่นความถี่ส่ง ด้วยระบบวีเอชเอฟ พร้อมอุปกรณ์การออกอากาศ เพื่อจัดตั้งสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์ในการกำกับของ อ.ส.ม.ท. แต่ละแห่ง (ระยะหลังจึงขยายไปสู่ระบบยูเอชเอฟ) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2531-กรกฎาคม พ.ศ. 2534 เป็นระยะเวลา 3 ปี จึงทำให้ สถานีโทรทัศน์ในการกำกับของ อ.ส.ม.ท. ทั้งสองแห่ง สามารถออกอากาศไปได้ทั่วประเทศ

ราวปี พ.ศ. 2535 แสงชัย สุนทรวัฒน์ เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท.ในช่วงที่ อ.ส.ม.ท. ถูกเรียกว่า "แดนสนธยา" เนื่องจากมีกลุ่มอิทธิพลมืด ฝังตัวอยู่ในองค์กร แต่แสงชัยก็สามารถขจัดอิทธิพลมืดเหล่านั้นสำเร็จ รวมถึงสามารถพัฒนา อ.ส.ม.ท. ขึ้นมาเป็นอย่างดี แต่แล้วแสงชัยก็ถูกลอบสังหารด้วยอาวุธปืน เสียชีวิตระหว่างนั่งรถยนต์ เดินทางกลับบ้านพักในเมืองทองธานี ถนนแจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2539 จากผลการสอบสวนของตำรวจ ระบุว่า อุบล บุญญชโลธร อดีตผู้รับสัมปทานจัดรายการ ทางสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. ส่วนภูมิภาค จ้างวานให้บุตรเขย คือ ทวี พุทธจันทร์ ส่งมือปืนไปลอบสังหารแสงชัย ต่อมาอุบลถูกลอบสังหาร เสียชีวิตบนรถยนต์ก่อนกลับถึงบ้านพัก อย่างเช่นเดียวกับแสงชัย เมื่อปี พ.ศ. 2541[8]

สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์

เมื่อปี พ.ศ. 2545 มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ อ.ส.ม.ท. ขณะนั้น มีดำริให้ปรับปรุงการบริหารงานของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ให้มีความทันสมัย รวดเร็ว และฉับไว ในด้านการนำเสนอ รายงานข่าวสาร สาระความรู้ และความบันเทิง เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคโลกาภิวัตน์ และเพื่อขจัดความเป็น "แดนสนธยา" ภายในองค์กรอีกด้วย

ในวันที่ 6 พฤศจิกายน ของปีนั้น จึงมีพิธีเปิดตัว "สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์" โดยมี พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมทั้งเริ่มออกอากาศตามรูปแบบใหม่ ตั้งแต่เวลา 18:30 น. เป็นต้นไป โดยมีทั้งการเปลี่ยนแปลง ตราสัญลักษณ์ของสถานีฯ พร้อมทั้งปรับปรุงรูปแบบ การเสนอรายการตลอด 24 ชั่วโมง [3] เพิ่มเวลานำเสนอข่าว โดยเฉพาะข่าวต้นชั่วโมง และแถบตัววิ่งข่าว (News Bar) เพิ่มช่วงแมกกาซีนออนทีวี ในข่าวภาคค่ำ ซึ่งนำเสนอข่าวสาร และสาระความรู้ ในประเด็น และการนำเสนอแบบสบายๆ โดยใช้วิธีการนำเสนอแบบนิตยสาร ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา เป็นรายการ ไนน์เอ็นเตอร์เทน ในเวลาต่อมา รวมถึงเพิ่มบทบาทความสัมพันธ์กับเครือข่ายสำนักข่าวชั้นนำทั่วโลก เช่น ซีเอ็นเอ็น/ซีเอ็นบีซี/เอพี/รอยเตอร์ส/วีโอเอ ของสหรัฐอเมริกา, บีบีซี ของสหราชอาณาจักร, เอ็นเอชเค ของประเทศญี่ปุ่น และซีซีทีวี ของประเทศจีน เป็นต้น

โมเดิร์นไนน์ทีวี ดำเนินการผลิตรายการโทรทัศน์ ตลอดจนการแพร่ภาพ และควบคุมการออกอากาศ จากสถานีส่วนกลางในกรุงเทพมหานคร ไปยังสถานีเครือข่ายแอนะล็อกส่วนภูมิภาค 32 สถานี สามารถให้บริการครอบคลุมพื้นที่ร้อยละ 79.5 ของประเทศ มีประชากรในขอบเขตการออกอากาศ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 96.5 ของประเทศ โดยมีรายการประเภทข่าวสาร สาระความรู้ ความบันเทิง กีฬา และรายการเพื่อสาธารณประโยชน์ รวมทั้งการถ่ายทอดสดต่างๆ โดยเฉพาะรายการประเภทข่าวสาร และสาระความรู้ ในด้านต่างๆ มานำเสนอในช่วงไพรม์ไทม์ที่มีผู้ชมมากที่สุด เพื่อให้ผู้ชม ได้รับข่าวสารและความรู้ ที่เป็นประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน โดยมุ่งหวังจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ชมชาวไทย

มีเหตุการณ์สำคัญ ระหว่างรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งเกี่ยวข้องกับโมเดิร์นไนน์ทีวี คือ เมื่อเวลา 22:15 น. พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ ทั้งนี้ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่จากสหรัฐอเมริกา มาออกอากาศสดทางโมเดิร์นไนน์ทีวี แต่อ่านแถลงการณ์ได้เพียงสามฉบับ ก็มีกำลังพลทหารพร้อมอาวุธกลุ่มหนึ่ง บุกเข้าไปถึงห้องควบคุมการออกอากาศ แล้วออกคำสั่งให้หยุดการประกาศทันที จึงทำให้เจ้าหน้าที่สถานีฯ ต้องปฏิบัติตามในที่สุด

จากนั้นเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2555 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เป็นประธานในงานครบรอบ 60 ปี การสถาปนา อสมท พร้อมทั้งเริ่มออกอากาศรายการข่าวโทรทัศน์ รูปแบบใหม่ของสำนักข่าวไทย ตามดำริของ จักรพันธุ์ ยมจินดา รองประธานกรรมการ และรักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ประกอบด้วย การนำเทคโนโลยีวิดีโอวอลล์ ขนาดความยาว 20 เมตร ความกว้าง 3 เมตร มาใช้กับการรายงานข่าวในห้องส่ง ร่วมกับการนำเฮลิคอปเตอร์ มาใช้ประกอบรายงานข่าวนอกสถานที่ เป็นครั้งแรกของสำนักข่าวไทย โดยใช้ชื่อว่า "เบิร์ดอายส์นิวส์" (Bird Eye's News) รวมทั้งจัดสำรวจความเห็นผู้ชมในชื่อ "เอ็มคอตโพลล์" (MCOT Poll) นอกจากนี้จะออกแบบตราสัญลักษณ์ ของสำนักข่าวไทยขึ้นใหม่ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น[9] (ทว่าแบบที่จัดทำในยุคของจักรพันธุ์ มิได้นำมาใช้จริงแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากนั้นมีการออกแบบใหม่ แล้วจึงนำออกใช้จริงต่อมา)

สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี

เมื่อวันพุธที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2558 ศิวะพร ชมสุวรรณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีเปิดตัว ช่อง 9 เอ็มคอตเอชดี ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยนำเทปบันทึกภาพมาออกอากาศ ระหว่างเวลา 19:00-19:20 น. ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ชื่อใหม่ดังกล่าว ซึ่งมีการปรับปรุงอัตลักษณ์รูปแบบใหม่ เพื่อนำมาใช้แทนที่ตราสัญลักษณ์เดิมซึ่งใช้ร่วมกับกิจการในเครือ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นับแต่ปลายปี พ.ศ. 2545 พร้อมทั้งเพิ่มเติมรายการใหม่ จากผู้ผลิตเนื้อหาหลายแห่งเช่น บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (เนชั่นทีวี), บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด (นาว 26) และบริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (ทรูวิชันส์) เป็นต้น[10]