สถาปัตยกรรม ของ เฮลซิงกิ

มหาวิหารของเฮลซิงกิ เป็นที่หมายตาของกรุงเฮลซิงกิ

หลังจากเฮลซิงกิถูกตั้งเป็นเมืองหลวง เฮลซิงกิก็ถูกแปรสภาพจากเมืองเล็กๆที่มีประชากรเพียง 4,000 คนเป็นศูนย์กลางการปกครองของฟินแลนด์ สถาปัตยกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ได้รับอิทธิพลจากจักรวรรดิรัสเซีย โดยเฉพาะรูปแบบนีโอคลาสสิกตามแบบเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก คาร์ล ลุดวิก เองเกล ชาวเยอรมัน ทำหน้าที่เป็นสถาปนิกใหญ่ในโครงการสร้างเมืองใหม่นี้ ศูนย์กลางของแผนอยู่ที่จัตุรัสวุฒิสภา (Senaatintori; Senatstorgot) ซึ่งมีขนาดใหญ่รองรับคนได้หลายหมื่นคน สิ่งก่อสร้างสำคัญบริเวณจัตุรัสนี้คือมหาวิหาร (ในอดีตเรียกโบสถ์นิโคลัส) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจัตุรัส ทางทิศตะวันออกและตะวันตกเป็นทำเนียบรัฐบาลและอาคารหลักของมหาวิทยาลัยตามลำดับ อาคารสองหลังนี้มีขนาดใกล้เคียงกัน ทำเนียบรัฐบาลมีเสาหินแบบคอรินเธียน ในขณะที่อาคารมหาวิทยาลัยเป็นแบบไอออนิก[6] สิ่งก่อสร้างทั้งสามนี้เป็นผลงานของเองเกล เช่นเดียวกับสิ่งก่อสร้างอีกหลายแห่ง อาคารที่มีชื่อเสียงของเองเกลอีกแห่งหนึ่งคือห้องสมุดมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับการยกย่องในเรื่องความงดงาม อิทธิพลของรัสเซียอีกอย่างหนึ่งคือโบสถ์ออร์โธดอกซ์ ซึ่งแห่งที่สำคัญของเฮลซิงกิคือมหาวิหารอุสเปนสกี ก่อสร้างในช่วงปีพ.ศ. 2405-2411[7]

เฮลซิงกิยังมีชื่อเสียงในด้านสถาปัตยกรรมแบบอาร์ตนูโว (Jugenstil) โดยมีสถาปนิกคนสำคัญคือเอเลียล ซาริเนน ในช่วงแรกซาริเนนร่วมงานกับสถาปนิกอีกสองคนในบริษัท Gesellius, Lindgren & Saarinen ผลงานที่สำคัญในเฮลซิงกิคือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ออกแบบในปีพ.ศ. 2445 ผลงานสำคัญของซาริเนนอีกอย่างหนึ่งคือสถานีรถไฟกลางเฮลซิงกิ

อาคารรัฐสภา (Eduskuntatalo) เป็นผลงานนีโอคลาสสิกชิ้นสำคัญของฟินแลนด์ยุคหลังประกาศเอกราช ออกแบบโดยโยฮัน ซิกฟริด ซิเรน ในปีพ.ศ. 2467 และสร้างเสร็จในปีพ.ศ. 2474 ภายหน้าอาคารเป็นเสาหินแบบคอรินเธียน 14 ต้น[8]

สถาปัตยกรรมแบบประโยชน์นิยม (อังกฤษ: functionalism) ได้รับความนิยมในฟินแลนด์ยุคใหม่ อัลวาร์ อาลโต เป็นสถาปนิกชาวฟินแลนด์ที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ โดยมีสิ่งก่อสร้างในเฮลซิงกิคือหอฟินแลนเดีย

  • ทำเนียบรัฐบาล (Valtioneuvosto)
  • มหาวิหารอุสเปนสกี (Uspenskin katedraali)
  • พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ (Suomen kansallismuseo)
  • อาคารรัฐสภา (Eduskuntatalo)
  • หอฟินแลนเดีย (Finlandia-talo)