พระชนนี ของ แคทเธอรีน_เดอ_เมดีชี

พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2

พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส โดย ฟรองซัวส์ โคลเอท์ (François Clouet) ค.ศ. 1560 พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 ทรงรู้สึกว่ามงกุฏที่สวมในพระราชพิธีราชาภิเษกหนักจนต้องทรงให้ขุนนางสี่คนช่วยประคองขณะที่ทรงเดินขึ้นไปประทับบนบัลลังก์[46]

พระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 แห่งฝรั่งเศส เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเมื่อพระชนม์ได้ 15 พรรษา ในเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นการ “รัฐประหาร” โดยดยุกฟรองซัวส์แห่งกีสยึดอำนาจวันรุ่งขึ้นหลังจากที่พระเจ้าอองรีที่ 2 เสด็จสวรรคตและรีบย้ายเข้าไปในพระราชวังลูฟร์ พร้อมหลานสาวเจ้าหญิงแมรีและพระเจ้าฟรองซัวส์ที่เพิ่งเสกสมรสกันปีหนึ่งก่อนหน้านั้น[47] ราชทูตอังกฤษรายงานสองสามวันต่อมาว่า “ตระกูลกีสปกครองและทำไปเสียทุกอย่างอย่างเช่นพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส” (“the house of Guise ruleth and doth all about the French king”) [48] ในระหว่างนั้นพระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงร่วมมือกับตระกูลกีสโดยไม่มีทางอื่น พระเจ้าฟรองซัวส์ไม่ทรงมีสิทธิอย่างเป็นทางการในการปกครองของรัฐบาลขององค์เพราะยังมีพระชันษาน้อยเกินกว่าที่จะปกครองประเทศด้วยพระองค์เองได้[49] แต่กระนั้นในพระราชบัญญัติที่ทรงออกอย่างเป็นทางการก็จะเริ่มต้นด้วย “ด้วยความพอพระทัยของสมเด็จพระราชินี, พระราชชนนีของข้าพเจ้า, และข้าพเจ้าก็ยอมรับความคิดเห็นของพระองค์ทุกประการที่ทรงมี, ข้าพเจ้าพอใจและสั่งว่า....”[50] พระราชินีแคทเธอรีนเองก็มิได้ทรงลังเลในการที่ใช้อำนาจนี้ สิ่งแรกที่ทรงทำก็คือทรงบังคับให้ไดแอน เดอ ปอยเตียร์คืนเครื่องเพชรพลอยและวังเชอนงโซกับหลวง[51] พอได้วังเชอนงโซคืนมาก็ทรงปรับปรุงต่อเติมให้เด่นกว่าที่ไดแอนได้ทำไว้[52]

เมื่อตระกูลกีสมีอำนาจขึ้นก็เริ่มกำจัดผู้ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ (อูเกอโนท์ (Huguenots)) อย่างจริงจัง แต่พระราชินีแคทเธอรีนไม่ทรงมีนโยบายที่รุนแรงและทรงกล่าวต่อต้านการไล่ทำร้ายอูเกอโนท์ของตระกูลกีส แม้ว่าพระองค์เองจะไม่ทรงมีความเห็นใจหรือทรงมีความเข้าใจในสาเหตุของการต่อสู้ของกลุ่มผู้ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์แต่อย่างใด กลุ่มอูเกอโนท์พยายามหาผู้นำ ตอนแรกก็ได้อองตวนแห่งบูร์บง ดยุกแห่งแวงโดมผู้เป็นเจ้าชายสืบสายพระโลหิตชั้นเอก (Premier Prince du Sang) ต่อมาก็ได้พระอนุชาหลุยส์ที่ 1 แห่งบูร์บง เจ้าชายแห่งคองเดผู้สนับสนุนการโค่นอำนาจของตระกูลกีสโดยการใช้กำลัง[53] เมื่อทางตระกูลกีสทราบแผนของเจ้าชายหลุยส์แห่งคองเดที่เรียกว่าการคบคิดที่อังบัวส์ (The Conspiracy of Amboise) [54] ก็รีบย้ายราชสำนักไปยังวังอังบัวส์ (Château d'Amboise) เพื่อใช้ที่เป็นที่มั่นในการต่อสู้ป้องกัน ดยุกฟรองซัวส์แห่งกีสก็โจมตีบริเวณป่ารอบอังบัวส์อย่างจู่โจมทำให้ฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากรวมทั้งตัวนายทัพลาเรโนดี (La Renaudie) [55] ส่วนผู้อื่นก็จมน้ำตายๆ กันไปบ้าง ถูกขึงรอบกำแพงเมืองบ้าง ขณะที่ราชสำนักของพระราชินีแคทเธอรีนเฝ้าดู[56]

ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1560 มีแชล เด โลปีตาล (Michel de l'Hôpital) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นอัครมหาเสนาบดีแห่งฝรั่งเศส เด โลปีตาลพยายามหาทางทำให้บ้านเมืองสงบสุขจากความวุ่นวายโดยการใช้รัฐธรรมนูญและทำงานอย่างใกล้ชิดกับพระราชินีแคทเธอรีน[57] ทั้งสองคนไม่เห็นด้วยกับการลงโทษผู้ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์โดยเฉพาะผู้ที่ทำพิธีศาสนาเป็นการส่วนตัวและมิได้ถืออาวุธ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ค.ศ. 1560 พระราชินีแคทเธอรีนและอัครมหาเสนาบดีเสนอนโยบายต่อสมาชิกสภาคนสำคัญๆ ที่พระราชวังฟงแตนโบล นักประวัติศาสตร์ถือว่าเหตุการณ์นี้เป็นการแสดงความสามารถอย่างรัฐบุรุษของพระราชินีแคทเธอรีนเป็นครั้งแรก ขณะเดียวกันเจ้าชายหลุยส์แห่งคองเดก็รวบรวมกำลังทหารในฤดูใบไม้ร่วงและเริ่มโจมตีเมืองต่างๆ ทางใต้ของฝรั่งเศส พระราชินีแคทเธอรีนทรงเรียกตัวเจ้าชายแห่งคองเดมายังราชสำนัก แต่พอมาถึงก็ทรงให้จับเจ้าชายหลุยส์เป็นนักโทษทันที ศาลตัดสินว่าทรงเป็นกบฏต่อราชบัลลังก์และตัดสินให้ประหารชีวิต แต่เจ้าชายหลุยส์แห่งคองเดรอดชีวิตมาได้เพราะพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 มาเสด็จสวรรคตเสียก่อนจากหูอักเสบ[58]

เมื่อพระราชินีแคทเธอรีนทรงทราบว่าพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 ใกล้จะเสด็จสวรรคตก็ทรงทำสัญญากับอองตวนแห่งบูร์บงดยุกแห่งแวงโดมให้อองตวนสละสิทธิในการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่--พระเจ้าชาลส์ที่ 9--เป็นการแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวของเจ้าชายหลุยส์แห่งคองเด[59] ดังนั้นเมื่อพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1560 องคมนตรีจึงได้แต่งตั้งพระราชินีแคทเธอรีนให้เป็น “ผู้ว่าราชการฝรั่งเศส” (gouvernante de France) ผู้มีอำนาจเด็ดขาด พระราชินีแคทเธอรีนมีพระราชสาส์นถึงเอลิซาเบธแห่งวาลัวส์พระธิดา ว่า “ความประสงค์ของฉันก็เพื่อที่จะให้เป็นเกียรติแก่พระเป็นเจ้าในทุกสิ่งทุกอย่างและเพื่อเป็นการรักษาอำนาจ, ไม่ใช่เพื่อตัวของฉันเอง, แต่เพื่อรักษาราชอาณาจักรและทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นสิ่งดีสำหรับพี่ชายทุกคนของเจ้า” [60]

พระเจ้าชาลส์ที่ 9

พระเจ้าชาลส์ที่ 9 แห่งฝรั่งเศส โดย ฟรองซัวส์ โคลเอท์ (François Clouet) ค.ศ. 1565 จิโอวานนี มิคิเอล ราชทูตเวนิสบรรยายว่า “เป็นเด็กที่น่าชื่นชม, ตาสวย, เคลื่อนไหวอย่างงดงาม, แต่ไม่ทรงแจ่มใส โปรดกีฬาที่รุนแรงเกินไปสำหรับพระสุขภาพ, เพราะทรงมีปัญหาเรื่องการหายพระทัย”[61]

เมื่อเริ่มแรกพระราชินีแคทเธอรีนทรงดูแลพระเจ้าชาลส์ที่ 9 ผู้มีพระชนม์เพียง 9 พรรษาอย่างใกล้ชิดและทรงนอนให้ห้องบรรทมเดียวกัน เมื่อมีการประชุมองคมนตรีก็ทรงนั่งร่วมประชุมด้วย และทรงเป็นผู้ตัดสินเกี่ยวกับนโยบายและการควบคุมกิจการของรัฐและการอุปถัมภ์ แต่มิได้ทรงมีอำนาจพอที่จะควบคุมประเทศทั้งประเทศได้ ซึ่งขณะนั้นใกล้จะเกิดสงครามกลางเมือง บางบริเวณของฝรั่งเศสขณะนั้นปกครองโดยขุนนางแทนที่จะโดยพระมหากษัตริย์ ปัญหาที่พระราชินีแคทเธอรีนทรงประสบเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและยากต่อที่พระองค์จะทรงเข้าพระทัยได้[62]

พระราชินีแคทเธอรีนจึงทรงเรียกผู้นำทางศาสนาจากทั้งฝ่ายโรมันคาทอลิก และโปรเตสแตนต์เพื่อให้มาพยายามหาทางตกลงกันเกี่ยวกับความแตกต่างทางปรัชญา แม้ว่าจะทรงตั้งความหวังไว้อย่างดีแต่การประชุมที่ปัวส์ซี (Colloquy of Poissy) ก็จบลงด้วยความล้มเหลวเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม ค.ศ. 1561 และสลายตัวด้วยพระอนุญาตจากพระราชินีแคทเธอรีน[63] ที่มิได้ทรงประสพความสำเร็จเพราะพระราชินีแคทเธอรีนทรงเห็นว่าการแบ่งแยกของสองนิกายเป็นการแบ่งแยกทางการเมืองมิใช่ทางปรัชญาศาสนา อาร์ เจ เน็คท์ (R. J. Knecht) นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า “ทรงคาดไม่ถึงถึงความลึกซึ้งในความเชื่อมั่นทางศาสนา, ทรงได้แต่หวังว่าทุกสิ่งทุกอย่างก็จะเป็นไปด้วยดีถ้าทรงสามารถที่จะทำให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้”[64] ในเดีอนมกราคม ค.ศ. 1561 พระราชินีแคทเธอรีนทรงออกพระราชกฤษฎีกาแห่งแซงต์-แชร์แมง เพื่อพยายามสร้างความสมานสัมพันธ์กับกลุ่มโปรเตสแตนต์[65] แต่มาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1562 ก็เกิดเหตุการณ์วิกฤติที่เรียกว่า การสังหารหมู่ที่วาสซีย์ (Massacre at Vassy) โดยฟรองซัวส์ ดยุกแห่งกีสและพรรคพวกบุกเข้าไปโจมตีผู้ที่นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ในโรงนาที่วาสซีย์ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 74 คนและบาดเจ็บอีก 104 คน[66] ดยุกฟรองซัวส์เรียกการสังหารหมู่ว่าเป็น “เหตุการณ์ที่น่าสลดใจ” และได้รับการต้อนรับอย่างวีรบุรุษตามท้องถนนอย่างเอิกเกริกในปารีส ขณะที่อูโกโนท์เรียกร้องการให้มีการแก้แค้น[67] การสังหารหมู่ที่วาสซีย์เป็นต้นเหตุของสงครามศาสนาของฝรั่งเศสซึ่งเป็นสงครามกลางเมืองที่ยาวนานต่อมาถึงสามสิบปี[68]

ภายในเดือนเดียวหลังจากเจ้าชายหลุยส์แห่งคองเดและนายพลกาสปาร์ด เดอ โคลิญญีก็รวบรวมกองทหารได้จำนวน 1,800 คนและตกลงเป็นพันธมิตรกับอังกฤษและเริ่มยึดเมืองต่างๆ ในฝรั่งเศส[69] พระราชินีแคทเธอรีนทรงพบปะกับโคลิญญีแต่โคลิญญีไม่ยอมถอย พระราชินีแคทเธอรีนทรงกล่าวว่าในเมื่อโคลิญญีใช้กำลังพระองค์ก็จะใช้กำลังเป็นการโต้ตอบ[70] กองทัพหลวงจึงเริ่มตอบโต้อย่างรวดเร็วโดยการล้อมเมืองรูอองที่อูเกอโนท์ยึด พระราชินีแคทเธอรีนเสด็จไปเยี่ยมอองตวนแห่งบูร์บง กษัตริย์แห่งนาวาร์เมื่อทรงถูกยิงบาดเจ็บสาหัส[71] พระองค์ทรงยืนยันที่จะเสด็จไปสนามรบด้วยพระองค์เอง เมื่อทรงได้รับการถวายการแนะนำถึงอันตรายก็ทรงพระสรวลและกล่าวว่า “ความกล้าหาญของข้าพเจ้าก็มากพอกับท่านทั้งหลายนั่นแหละ”[72] ฝ่ายโรมันคาทอลิกยึดรูอองคืนได้แต่ก็เพียงระยะสั้น เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1563 สายลับชอง เดอ โพลโทรท์ (Jean de Poltrot) ยิงดยุกฟรองซัวส์แห่งกีส กลางหลังระหว่างการล้อมออร์ลีอองส์ การลอบสังหารพระราชวงศ์ครั้งนี้เป็นผลทำให้ปัญหาสงครามเมืองยิ่งซับซ้อนหนักขึ้นไปอีกเป็นเวลาอีกหลายปีต่อมา[73] พระราชินีแคทเธอรีนทรงดีพระทัยที่ได้รับข่าวการเสียชีวิตของดยุกแห่งกีสโดยทรงกล่าวกับทูตจากเวนิสว่า “ถ้ามองเซอร์เสียชีวิตเสียก่อนหน้านี้ สันติภาพก็คงเกิดขึ้นเร็วกว่านี้แน่”[74]เมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1563 สงครามก็ยุติด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาอ็องบวซ (Edict of Amboise) หรือที่รู้จักกันว่า “พระราชกฤษฎีกาแห่งความสงบ” (Edict of Pacification) หลังจากนั้นพระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงต้องพึ่งกองทหารทั้งโรมันคาทอลิกและอูเกอโนท์ให้ยึดลาฟที่อูเกอโนท์ไปยกให้อังกฤษเมื่อเริ่มสงครามคืนจากอังกฤษ

อูเกอโนท์

พระราชินีฌานน์แห่งนาวาร์, โดยฟรองซัวส์ โคลเอท์, ค.ศ. 1570 ฌานน์มีพระราชสาส์นถึงพระโอรสอองรีในปี ค.ศ. 1572 ว่า: “สิ่งเดียวที่ (พระราชินีแคทเธอรีน) ทรงทำก็คือตรัสเย้ยหยันฉัน, และหันไปบอกคนอื่นตรงกันข้ามกับที่ฉันพูด ... ทรงปฏิเสธทุกอย่าง, ทรงพระสรวลต่อหน้าฉัน ... ทรงมีกิริยาที่น่าละอายที่ฉันใช้ความพยายามกดความรู้สึกที่ยิ่งเหนือไปกว่ากริเซลดา (Griselda) ”[75]มาร์เกอรีตแห่งวาลัวร์โดยฟรองซัวส์ โคลเอท์

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ค.ศ. 1563 พระเจ้าชาร์ลที่ 9 ก็ทรงได้รับการประกาศโดยรัฐสภาแห่งรูอองว่าทรงบรรลุนิติภาวะ แต่แท้จริงแล้วพระองค์ก็ไม่ทรงสามารถปกครองด้วยพระองค์เองได้และไม่แสดงความสนพระทัยในกิจการบ้านเมืองแต่อย่างใด.[76] จากนั้นพระราชินีแคทเธอรีนทรงตัดสินพระทัยรณรงค์ในการบังคับใช้พระราชกฤษฎีกาอ็องบวซและเพิ่มความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยทรงจัดการการประพาสทั่วประเทศของพระเจ้าชาร์ลตั้งแต่เดือนมกราคม ค.ศ. 1564 จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1565[77] นอกจากนั้นก็ทรงจัดการพบปะระหว่างพระองค์กับพระราชินีโปรเตสแตนต์ฌานน์แห่งนาวาร์ (Jeanne III of Navarre) ที่ Mâcon และเนรัค และทรงพบปะกับพระธิดาของพระองค์พระราชินีเอลิซาเบธแห่งสเปนที่ Bayonne ไม่ไกลจากพรมแดนสเปน พระสวามีพระเจ้าฟิลลิปมิได้ทรงเข้าพบปะด้วยแต่ทรงส่งดยุกแห่งอัลบา (Fernando Álvarez de Toledo, 3rd Duke of Alba) ไปบอกพระราชินีแคทเธอรีนว่าให้เลิกทำตามพระราชกฤษฎีกาแห่งอังบัวส์ และควรจะหันมาใช้วิธีลงโทษผู้นอกรีตแทนที่[78]

เมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1567 ก็เกิดเหตุการณ์จู่โจมที่รู้จักกันว่าการจู่โจมแห่งโมซ์ (Surprise of Meaux) โดยที่กลุ่มอูเกอโนท์พยายามโจมตีพระเจ้าชาร์ลโดยตรงซึ่งเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามกลางเมือง[79] ราชสำนักไม่ทันรู้ตัวต้องหนีกลับไปปารีสกันอย่างระส่ำระสาย[80] สงครามจบลงด้วยการลงนามในสัญญาสันติภาพลองจูโม (Peace of Longjumeau) เมื่อวันที่ 2223 มีนาคม ค.ศ. 1568 แต่ความไม่สงบและการนองเลือดก็ยังคงมีอยู่ต่อไป[81] การจู่โจมแห่งโมซ์เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้พระราชินีแคทเธอรีนทรงเปลี่ยนพระทัยในนโยบายที่มีต่อกลุ่มอูเกอโนท์ ตั้งแต่นั้นมาพระองค์ก็ทรงเลิกใช้วิธีประนีประนอมและหันมาใช้การกำหราบแทนที่[82] มีพระราชดำรัสกับนักการทูตจากเวนิสในเดือนกันยายนในปี ค.ศ. 1568 ว่าสิ่งเดียวที่หวังได้จากกลุ่มอูเกอโนท์คือความหลอกลวงและทรงสรรเสริญการปกครองอย่างเหี้ยมโหดของดยุกแห่งอัลบาในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผลให้กลุ่มผู้ปฏิวัติคาลวินิส์ม (Calvinism) ถูกสังหารกันเป็นพันพันคน[83]

กลุ่มอูเกอโนท์ถอยไปตั้งหลักอยู่ที่ลาโรเชลล์ (La Rochelle) ชายฝั่งทางตะวันตกซึ่งพระราชินีฌานน์และพระโอรสอองรีแห่งนาวาร์มาสมทบทีหลัง[84] พระราชินีฌานน์ทรงสาส์นถึงพระราชินีแคทเธอรีนว่า “เรามาตั้งใจที่จะเสียชีวิต, เราทุกคน,...แทนที่จะละทิ้งพระผู้เป็นเจ้าของเรา, และศาสนาของเรา”[85] การเป็นปฏิปักษ์ของพระราชินีฌานน์เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของราชวงศ์วาลัวส์ พระราชินีแคทเธอรีนทรงเรียกพระราชินีฌานน์ว่าเป็น “ผู้หญิงที่น่าละอายที่สุดในโลก”[86] แต่กระนั้นก็ทรงยอมลงพระนามในสนธิสัญญาแซงต์แชร์แมงอองเลย์ (Peace of Saint-Germain-en-Laye) เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1570 เพราะกองทัพของพระองค์ขาดทุนทรัพย์ในการบำรุงรักษาในการต่อต้านกลุ่มอูเกอโนท์ซึ่งมีกำลังแข็งแกร่งขึ้นทุกขณะ[87]

พระราชินีแคทเธอรีนทรงพยายามสร้างเสริมความมั่นคงของราชวงศ์วาลัวร์โดยการจัดการเสกสมรสอันยิ่งใหญ่ในปี ค.ศ. 1570 ระหว่างพระเจ้าชาร์ลกับอาร์ชดัชเชสเอลิซาเบธแห่งออสเตรีย (Elisabeth of Austria) ผู้เป็นพระราชธิดาของสมเด็จพระจักรพรรดิแม็กซิมิเลียนที่ 2 นอกจากนั้นก็ยังมีพระประสงค์ที่จะจัดการเสกสมรสกับพระโอรสองค์องค์รองใดองค์หนึ่งกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 แห่งอังกฤษ [88]

หลังจากพระราชธิดาเอลิซาเบธสิ้นพระชนม์ในการให้กำเนิดในปี ค.ศ. 1568 ในขณะนั้นพระราชินีแคทเธอรีนพยายามจัดให้พระธิดาองค์สุดท้องมาร์เกอรีตแห่งวาลัวร์ แต่งงานกับพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปน แต่ทรงเปลี่ยนพระทัยและหันมาจัดการให้มาร์เกอรีตแต่งงานกับอองรีแห่งนาวาร์เพื่อประโยชน์ในการเพิ่มความมั่นคงระหว่างราชวงศ์วาลัวส์และราชวงศ์บูร์บง แต่ขณะนั้นมาร์เกอรีตมีความสัมพันธ์ลับๆ กับดยุกอองรีแห่งกีส ลูกชายขอดยุกฟรองซัวส์แห่งกีสผู้ถูกสังหารในการล้อมที่ออร์ลีอองส์ เมื่อพระราชินีแคทเธอรีนทรงทราบก็ทรงสั่งให้ลากตัวมาร์เกอรีตเข้ามาในห้องบรรทมแล้วทรงฉีกฉลองพระองค์และทรงทุบตีทึ้งพระเกศาพระธิดา[89]

พระราชินีแคทเธอรีนทรงบังคับให้พระราชินีฌานน์เข้าเฝ้าในราชสำนัก ทรงเขียนว่ามีพระประสงค์ที่จะพบปะกับพระโอรสธิดาของพระราชินีฌานน์และทรงให้คำสัญญาว่าจะไม่ทรงทำทำร้าย พระราชินีฌานน์ทรงตอบสวนมาว่า “หม่อมฉันต้องขออภัยที่เมื่ออ่านพระสาส์นและต้องหัวเราะ เพราะทรงให้คำมั่นที่ช่วยผ่อนคลายความระแวงที่หม่อมฉันไม่เคยมี หม่อมฉันไม่เคยคิดว่า, ตามข่าวที่ลือกัน, ว่าเสวยเด็กเล็กๆ เป็นอาหาร”[90] เมื่อพระราชินีฌานน์เข้ามาเฝ้าในราชสำนัก แคทเธอรีนก็เพิ่มความกดดันอย่างหนักในการจัดการเสกสมรสของพระโอรสหนักขึ้น[91] ในที่สุดพระราชินีฌานน์ก็ทรงยอมตกลงในการเสกสมรสระหว่างพระโอรสกับมาร์เกอรีตแต่มีข้อแม้ว่าอองรียังรักษาความเป็นอูเกอโนท์ เมื่อพระราชินีฌานน์มาถึงปารีสเพื่อมาหาซึ้อเครื่องทรงสำหรับการเสกสมรส ก็ทรงล้มประชวรและสิ้นพระชนม์เมื่อพระชนมายุได้ 54 พรรษา กลุ่มอูเกอโนท์กล่าวหาว่าพระราชินีแคทเธอรีนเป็นผู้ฆ่าโดยใช้ถุงมือที่มียาพิษ[92] การเสกสมรสเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ค.ศ. 1572 ที่มหาวิหารโนตเรอดามแห่งปารีส

การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว

ดูบทความหลักที่ การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว

นายพลกาสปาร์ด เดอ โคลิญญีการสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิว

สามวันต่อมานายพลกาสปาร์ด เดอ โคลิญญีก็ถูกลอบยิงขณะกำลังเดินกลับห้องในพระราชวังลูฟร์ ถูกแขนและมือ[93] แต่ผู้ลอบยิงหนีไปได้ไปทางด้านหลังอาคารที่มีม้ารออยู่[94] นายพลโคลิญญีถูกนำตัวไปที่พักที่โอเตลเดอเบทิซีย์ที่ศัลย์แพทย์ อังบรัวส์ ปาเร (Ambroise Paré) ผ่าตัดเอากระสุนออกจากข้อศอกและตัดนิ้วด้วยกรรไกร พระราชินีแคทเธอรีนหลังจากทรงรับข่าวโดยปราศจากพระอารมณ์ ก็เสด็จไปเยี่ยมนายพลโคลิญญีและสัญญาว่าจะนำตัวผู้ผิดมาลงโทษ นักประวัติศาสตร์หลายคนกล่าวหาพระราชินีแคทเธอรีนว่าทรงมีส่วนร่วมในกรณีที่นายพลโคลิญญีถูกลอบยิง แต่บางท่านก็กล่าวว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังอาจจะเป็นตระกูลกีสหรือเป็นการการคบคิดโดยกลุ่มโรมันคาทอลิกสเปนเพื่อจะยุติความมีอิทธิพลของนายพลโคลิญญีต่อพระเจ้าชาลส์[95] แต่จะจริงแท้เท่าใดการนองเลือดที่ตามมาก็เกินการควบคุมของพระราชินีแคทเธอรีนหรือผู้นำคนอื่นๆ [96]

การสังหารหมู่วันเซนต์บาโทโลมิวที่เริ่มขึ้นสองวันต่อมาทำให้พระราชินีแคทเธอรีนทรงเสียชื่อเสียงตั้งแต่บัดนั้น[42] แต่ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ไม่สนับสนุนว่าทรงมีส่วนในการตัดสินใจเมื่อในวันที่ 23 สิงหาคมเมื่อพระเจ้าชาลส์ทรงพระสุรเสียงดังลั่นว่า “ฆ่ามันให้หมด!, ฆ่ามันให้หมด!” !"[97] [98] พระราชินีแคทเธอรีนและที่ปรึกษาคาดการณ์ล่วงหน้าว่ากลุ่มอูเกอโนท์จะลุกขึ้นต่อต้านเพื่อเป็นการแก้แค้นในการที่นายพลโคลิญญีถูกลอบยิง จึงแทนที่จะรอให้ถูกก็มีคำสั่งให้สังหารผู้นำของอูเกอโนท์หลายคนที่ขณะนั้นยังพำนักอยู่ในปารีสหลังจากการแต่งงาน[99]

การสังหารหมู่ในปารีสกระทำต่อเนื่องกันราวหนึ่งอาทิตย์และแผ่ขยายไปทั่วฝรั่งเศสจนถึงฤดูใบไม้ร่วง นักประวัติศาสตร์จูลส์ มิเชเลท์ (Jules Michelet) กล่าวว่า “วันนักบุญบาร์โทโลมิวไม่ใช่วันเดียว, แต่เป็นฤดู”[100] ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กันยายนเมื่ออองรีแห่งนาวาร์คุกเข่าต่อหน้าแท่นบูชาในฐานะผู้เป็นโรมันคาทอลิกหลังจากที่ถูกบังคับให้เปลี่ยนนิกายเพื่อเลี่ยงการถูกฆ่า พระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงหันไปทรงพระสรวลกับราชทูต[101] หลังจากเหต์การณ์นี้แล้วพระราชินีแคทเธอรีนก็ได้รับตำนานว่าเป็นพระราชินีอิตาลีผู้ชั่วร้าย นักเขียนอูเกอโนท์ก็กล่าวหาว่าพระราชินีแคทเธอรีนทรงเป็นผู้วางแผนก่อการอิตาลีผู้ปฏิบัติตามทฤษฎีของนิคโคโล มาเคียเวลลีโดยการสังหารศัตรูทั้งหมดอย่างรวดเร็ว[102]

รัชสมัยของพระเจ้าอองรีที่ 3

ดยุกอองรีแห่งอองชู โดยฌอง เดคอร์ท (Jean Decourt) ราว ค.ศ. 1573 พระเจ้าองค์ทรงสนพระทัยในความเคร่งครัดทางศาสนามากกว่าการปกครอง

สองปีต่อมาพระราชินีแคทเธอรีนก็ทรงประสบปัญหาใหม่เมื่อพระเจ้าชาร์ล 9 เสด็จสวรรคตเมื่อพระชนมายุได้เพียง 23 พรรษา พระราชดำรัสขสุดท้ายของพระองค์คือ “โอ้, สมเด็จแม่”[103] วันก่อนที่จะเสด็จสวรรคตพระเจ้าชาร์ลทรงแต่งตั้งพระราชินีแคทเธอรีนให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะพระอนุชาดยุกแห่งอองชูผู้เป็นรัชทายาทยังประทับอยู่ในโปแลนด์ ซึ่งเป็นราชอาณาจักรที่พระองค์ทรงได้รับเลือกให้เป็นกษัตริย์ในปีก่อนหน้านั้น พระราชินีแคทเธอรีนทรงพระราชสาส์นถึงอองรีว่า: “ฉันมีความโทมนัสที่ต้องเป็นพยานในเหตุการณ์และความรักที่ทรงแสดงต่อฉันในนาทีสุดท้าย ...สิ่งที่ช่วยปลอบประโลมฉันในขณะนี้ก็คือการที่จะได้เห็นเจ้าเพียงอีกไม่นานนัก, เพราะราชอาณาจักร (ฝรั่งเศส) ต้องการตัวเจ้า, และได้เห็นว่าเจ้ามีสุขภาพพลานามัยดี, เพราะถ้าฉันเสียเจ้าไปอีกคน, ฉันก็คงจะฝังตัวเองทั้งเป็นกับเจ้า”[104]

อองรีเป็นพระโอรสองค์โปรดที่สุดของพระราชินีแคทเธอรีน พระองค์ต่างจากพระเชษฐาตรงที่ทรงเป็นผู้ใหญ่แล้วเมื่อได้ราชบัลลังก์และมีพระสุขภาพพลานามัยที่ดีกว่าเพียงแต่ปอดอ่อนแอกว่าและทรงเหนื่อยง่าย[105] แต่ไม่ทรงมีความสามารถทางด้านการปกครองและทรงต้องพึ่งพระราชมารดากับคณะที่ปรึกษาจนสองสามอาทิตย์ก่อนที่พระราชินีแคทเธอรีนจะเสด็จสวรรคต อองรีมักจะซ่อนพระองค์จากการปกครองบ้านเมืองด้วยการทรงมุ่งมั่นในความเคร่งครัดทางศาสนาโดยทรงเดินทางไปแสวงบุญบ้างหรือ เฆี่ยนพระองค์เอง (Flagellation) บ้าง[106]

อองรีทรงเสกสมรสกับหลุยส์แห่งลอร์แรน-โวเดมองท์ (Louise de Lorraine-Vaudémont) ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1575สองวันหลังจากวันราชาภิเศก การทรงเสกสมรสของพระองค์ทำให้แผนการจัดการเสกสมรสกับเจ้าหญิงต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพระราชมารดาต้องผิดไป ขณะเดียวกันข่าวลือที่ว่าไม่ทรงสามารถมีพระราชโอรสธิดาได้ก็เริ่มหนาหูขึ้นทุกวัน

ซาวิอาติราชทูตของสมเด็จพระสันตปาปาตั้งข้อสังเกตว่า “จากการสังเกตเห็นจะยากที่จะมีพระราชโอรสธิดา ... แพทย์และผู้มีความคุ้นเคยกับพระองค์กล่าวว่าทรงมีสุขภาพพลานามัยที่ไม่ไคร่ดีนักและคงจะไม่มีชีวิตอยู่นานนัก”[107] เมื่อเวลาผ่านไปโอกาสที่จะมีพระราชโอรสธิดาก็ยิ่งน้อยลง ฟร็องซัว ดยุกแห่งอ็องฌู (François, Duke of Anjou) พระราชโอรสองค์สุดท้องของพระราชินีแคทเธอรีนหรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “เมอซิเยอร์” ก็เริ่มแสดงพระองค์เป็นรัชทายาทโดยทรงใช้ความเป็นอนาธิปไตยของบ้านเมืองและสงครามกลางเมืองเป็นเครื่องมือ ซึ่งในขณะนั้นจุดประสงค์ไม่เพียงแต่จะเป็นการต่อสู้ในเรื่องความขัดแย้งทางศาสนาแต่เป็นการต่อสู้เพื่อแย่งอำนาจกันในบรรดาชนชั้นปกครองด้วย[108] พระราชินีแคทเธอรีนทรงพยายามทุกวิถีทางที่จะไม่ให้ฟรองซัวส์เตลิด ในโอกาสหนึ่งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1578 ทรงเรียกฟรองซัวส์มาสั่งสอนถึงหกชั่วโมงรวดถึงอันตรายในความประพฤติของพระองค์[109]

ฟรองซัวส์ ดยุกแห่งอองชู พระราชโอรสองค์สุดท้องของพระราชินีแคทเธอรีน โดย นิโคลัส ฮิลเลียร์ด (Nicholas Hilliard) ราว ค.ศ. 1577. พระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ทรงเรียกว่าพระองค์ว่า “กบน้อยของฉัน” และทรงพบว่ามิได้ทรงพิการเท่าข่าวลือที่ได้ทรงทราบก่อนหน้าที่จะได้พบพระองค์[110]

ในปี ค.ศ. 1576 ฟรองซัวส์ทรงสร้างความไม่มั่นคงต่อราชบัลลังก์ของอองรีโดยทรงไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเจ้าชายโปรเตสแตนต์ผู้เป็นปรปักษ์ต่อแผ่นดิน[111] เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม ค.ศ. 1576 พระราชินีแคทเธอรีนทรงยอมรับข้อเรียกร้องเกือบทั้งหมดของกลุ่มอูเกอโนท์ในพระราชกฤษฎีกาบิวลี (Edict of Beaulieu) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ (พระราชกฤษฎีกา) ความสันติสุขของเมอซิเยอร์” เพราะเชื่อกันว่าฟรองซัวส์เป็นผู้ทรงหนุนให้ทางฝ่ายปกครองยอมรับ[112] ฟรองซัวส์สิ้นพระชนม์ด้วยวัณโรคเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1584 หลังจากที่ทรงเข้าร่วมในสงครามในบริเวณเนเธอร์แลนด์ที่กองทัพของพระองค์พ่ายแพ้อย่างย่อยยับและถูกสังหารหมู่[113] วันรุ่งขึ้นพระราชินีแคทเธอรีนทรงพระอักษร: “ฉันรู้สึกเหมือนจะตายที่ต้องมีชีวิตยืนยาวอยู่จนต้องเห็นใครต่อใครตายไปต่อหน้าฉัน, แม้ว่าจะทราบว่าเป็นความประสงค์ของพระเจ้าที่ต้องเชื่อฟัง, ว่าท่านทรงเป็นเจ้าของทุกสิ่งทุกอย่าง และทรงให้ลูกมาตราบเท่าที่มีพระประสงค์จะให้มา”[114] ความตายของพระราชโอรสองค์สุดท้องทำให้แผนการพระองค์ในการสร้างเสริมอำนาจของราชวงศ์วาลัวส์ต้องมาสิ้นสุดลง ตามกฎบัตรซาลลิคที่บ่งว่าบุตรชายเท่านั้นที่มีสิทธิในการครองราชบัลลังก์ ฉะนั้นอองรีแห่งนาวาร์พระสวามีของมาร์เกอรีตพระราชธิดาผู้เป็นอูเกอโนท์จึงกลายเป็นรัชทายาทโดยพฤตินัย (Heir Presumptive) ของราชบัลลังก์ฝรั่งเศส[42]

อย่างน้อยพระราชินีแคทเธอรีนก็ยังมีความรอบคอบในการจัดการเสกสมรสให้กับมาร์เกอรีตพระราชธิดาองค์สุดท้องกับอองรีแห่งนาวาร์ แต่มาร์เกอรีตก็ทรงก่อปัญหาต่างๆ ให้แก่พระราชินีแคทเธอรีนพอๆ กับฟรองซัวส์ ในปี ค.ศ. 1582 มาร์เกอรีตเสด็จกลับราชสำนักฝรั่งเศสโดยไม่มีพระสวามีเสด็จตามมาด้วย พระราชินีแคทเธอรีนทรงพระสุรเสียงเมื่อพระราชธิดาทรงไปมีคนรัก[115] และทรงส่ง ปอมปองน์ เด เบลเลวฟร์ (Pomponne de Bellièvre) ไปนาวาร์เพื่อจัดการการส่งตัวมาร์เกอรีตกลับนาวาร์ ในปี ค.ศ. 1585 มาร์เกอรีตก็หนีจากนาวาร์อีกครั้ง[116] ครั้งนี้ทรงไปพำนักอยู่ที่ตำหนักส่วนพระองค์ที่อาจอง (Agen) แต่ก็ยังทรงอ้อนวอนขอเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายจากพระมารดา พระราชินีแคทเธอรีนทรงส่งให้แต่เพียงพอใช้ “พอให้พอมีข้าวกิน”[117] จากนั้นมาร์เกอรีตก็ย้ายไปป้อมคาร์ลาท์และไปมีคนรักชื่อดอบิแย็ค (d'Aubiac) พระราชินีแคทเธอรีนทรงของให้อองรีช่วยก่อนที่มาร์เกอรีตจะทำความเสียหายให้แก่ราชตระกูลมากขึ้น ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1586 อองรีจึงสั่งให้จำขังมาร์เกอรีตในวังดูซอง (Château d'Usson) ส่วนดอบิแย็คถูกประหารชีวิตแต่มิใช่ต่อหน้ามาร์เกอรีตอย่างที่พระราชินีแคทเธอรีนมีพระประสงค์[118] หลังจากนั้นพระราชินีแคทเธอรีนทรงตัดมาร์เกอรีตจากพินัยกรรมและไม่ได้มีโอกาสได้พบกันอีกจนสิ้นพระชนม์

พระราชินีแคทเธอรีนไม่ทรงสามารถควบคุมอองรีเช่นเดียวกับที่เคยทรงควบคุมพระเจ้าฟรองซัวส์และพระเจ้าชาร์ลก่อนหน้านั้นได้[119] บทบาทของพระองค์จึงเป็นแต่เพียงผู้นำในการบริหารและการทูต เสด็จประพาสบริเวณต่างๆ ในราชอาณาจักรอย่างกว้างขวางเพื่อทรงใช้อำนาจในความพยายามในการหลีกเลี่ยงสงคราม ในปี ค.ศ. 1578 ทรงพยายามสร้างความสงบทางด้านใต้ เมื่อมีพระชนมายุได้ 59 พรรษาทรงใช้เวลาเดินทางสิบแปดเดือนทั่วทางใต้ของฝรั่งเศสเพื่อพบปะกับผู้นำกลุ่มอูเกอโนท์ตัวต่อตัว พระราชวิริยะอุตสาหะทำให้ประชาชนเริ่มเปลี่ยนใจหันมาจงรักภักดีต่อพระองค์มากขึ้น[120] เมื่อเสด็จกลับปารีสในปี ค.ศ. 1579 พระองค์ก็ทรงได้รับการต้อนรับจากประชาชนและรัฐสภา เจโรลาโม ลิโปมานโนราชทูตจากเวนิสบรรยายว่า: “ทรงเป็นผู้ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย, ทรงเกิดมาเพื่อปกครองประชาชนที่เอาไม่อยู่อย่างชาวฝรั่งเศส: แต่เดี๋ยวนี้พวกเขาก็เริ่มรู้คุณค่าของพระองค์ในคุณธรรม, ในพระสงค์ในความต้องการที่จะสมานฉันท์ และเศร้าใจที่มิได้รู้คุณค่าของพระองค์ก่อนหน้านั้น”[121] แต่อย่างไรก็ตามพระราชินีแคทเธอรีนก็มิได้ทรงพระเนตรบอดเพราะเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1579 พระองค์ก็ทรงเขียนเตือนอองรีถึงการก่อความไม่สงบที่จะเกิดขึ้นและกล่าวว่าถ้าผู้ใดทูลอย่างอื่นผู้นั้นก็โกหก[122]

สันนิบาตโรมันคาทอลิก

ดยุกอองรีแห่งกีสโดยปิแอร์ ดูมูติเยร์

ผู้นำโรมันคาทอลิกหลายคนต่างก็มีความหวาดรระแวงในการที่พระราชินีแคทเธอรีนทรงพยายามแสวงหาความสงบกับกลุ่มอูเกอโนท์ หลังจากการออกพระราชกฤษฎีกาบิวลีผู้นำโรมันคาทอลิกก็เริ่มก่อตั้งสันนิบาตท้องถิ่นเพื่อหาทางปกป้องกลุ่มศาสนาของตนเอง[123] หลังจากการสิ้นพระชนม์ของฟรองซัวส์ในปี ค.ศ. 1584 ดยุกอองรีแห่งกีสก็ตั้งตนเป็นผู้นำสันนิบาตโรมันคาทอลิก (Catholic League) และพยายามหยุดยั้งสิทธิในการสืบราชบัลลังก์ของอองรีแห่งนาวาร์ผู้เป็นโปรเตสแต้นท์ และหันไปสนับสนุนพระปิตุลาโรมันคาทอลิกของอองรีคาร์ดินัลชาลส์แห่งบูร์บงแทนที่ โดยการชักชวนชนชั้นเจ้านายและขุนนางโรมันคาทอลิกให้ลงนามในสนธิสัญญาฌวนวิลล์ (treaty of Joinville) กับสเปนและเตรียมตัวเข้าทำสงครามเพื่อกำจัด “พวกนอกรีต”[124] ภายในปี ค.ศ. 1585, พระเจ้าอองรีที่ 3 ก็ไม่ทรงมีทางเลือกนอกจากเข้าทำสงครามต่อต้านสันนิบาต[125] เช่นที่พระราชินีแคทเธอรีนตรัสว่า “สันติภาพมากับไม้” (bâton porte paix) [126] “ดูแลให้ดี” ทรงเขียน “โดยเฉพาะตัวเอง รอบข้างมีอันตรายจนฉันอดกลัวไม่ได้” [127]

พระเจ้าอองรีไม่ทรงสามารถต่อสู้กับฝ่ายโรมันคาทอลิกและโปรเตสแตนต์ในขณะเดียวกันได้เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็มีกองทัพที่แข็งแกร่งกว่ากองทัพของพระองค์ ในที่สุดก็ทรงจำต้องทรงลงนามในสนธิสัญญาเนมอรส์ (Treaty of Nemours) เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1585 ที่บังคับให้พระองค์ทรงยอมรับข้อเรียกร้องของสันนิบาตทั้งหมดรวมทั้งจ่ายค่าใช้จ่ายของกองทหารของสันนิบาตเอง[128] หลังจากนั้นพระเจ้าอองรีก็เสด็จหนีไปซ่อน, ทรงอดพระกระยาหารและสวดมนต์ และทรงล้อมรอบพระองค์ด้วยกลุ่มทหารรักษาพระองค์ที่เรียกว่า “สี่สิบห้าองค์รักษ์” (The forty-five guards) และยังทรงทิ้งให้พระราชินีแคทเธอรีนแก้ปัญหาต่างๆ ที่ตามมา[129] สถาบันการปกครองของพระมหากษัตริย์ในขณะนั้นจึงหมดอำนาจในการปกครองประเทศและไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยอังกฤษในการเผชิญกับการรุกรานของสเปนที่จะมาถึง ราชทูตสเปนกราบทูลพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 ว่าสถานการณ์ในฝรั่งเศสเปรียบเหมือนหนองที่กำลังจะ “ปริ”[130]

ภายในปี ค.ศ. 1587 การต่อต้านของโรมันคาทอลิกต่อโปรเตสแตนต์ก็ขยายตัวไปทั่วยุโรป เมื่อพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 1 ทรงสั่งปลงพระชนม์พระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งสกอตแลนด์เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1587 ก็ยิ่งเป็นชนวนที่ทำให้ความไม่พอใจแก่ฝ่ายโรมันคาทอลิกหนักขึ้น[131] พระเจ้าฟิลลิปที่ 2 ทรงเตรียมการรุกรานอังกฤษ ส่วนฝ่ายสันนิบาตโรมันคาทอลิกก็มีอำนาจในบริเวณทางเหนือของฝรั่งเศสและยึดเมืองท่าทางเหนือของฝรั่งเศสเพื่อเตรียมใช้เป็นท่าสำหรับกองเรืออาร์มาดาของสเปน

ใกล้เคียง

แคทเธอรีน เดอ เมดีชี แคทเธอรีน วอเตอร์สตัน แคทเธอร์พิลลาร์ แคทเธอรีน วูดวิลล์ ดัชเชสแห่งบักกิงแฮม แคทเธอริน (ชื่อ) แคทเธอรีน เคลลี่ แลง แคทเธอริน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ แคทเธอรินแห่งวาลัว สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ แคทเธอรีนแห่งบราแกนซา แคทเธอรีน ดัชเชสแห่งเคนต์

แหล่งที่มา

WikiPedia: แคทเธอรีน_เดอ_เมดีชี http://ark.cdlib.org/ark:/13030/ft0x0n99zf/ http://en.wikisource.org/wiki/Catholic_Encyclopedi... http://worldcat.org/oclc/1018933 http://worldcat.org/oclc/1367811 http://worldcat.org/oclc/1678642&referer=brief_res... http://worldcat.org/oclc/23700937 http://www.worldcat.org/oclc/39949296&referer=brie... http://www.worldcat.org/oclc/86065266&referer=brie... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Cather...