ประวัติ ของ แคปพาโดเชีย

เกอเรเมที่เป็นบ้านเรือนที่สร้างเข้าไปในภูมิสัณฐานธรรมชาติหน้าภูมิทัศน์อันน่าประทับใจของหุบเขาอันเต็มไปด้วยสีสรรบัลลูนอากาศร้อนเหนือแคปพาโดเชียแท่งหินธรรมชาติในแคปพาโดเชียแผนที่จากคริสต์ศตวรรษที่ 15 ของภูมิภาคแคปพาโดเชียบ้านเรือนที่เป็นส่วนหนึ่งของภูมิสัณฐานธรรมชาติในแคปพาโดเชียคริสต์ศาสนสถานที่เป็น สถาปัตยกรรมในหินผา (Rock cut architecture) ในแคปพาโดเชีย

แคปพาโดเชียเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า “ฮัตติ” ในปลายยุคสำริดและเป็นศูนย์กลางทางอำนาจของชนฮิทไทต์ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ฮัททุชา หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิฮิทไทท์และความเสื่อมโทรมของอารยธรรมซีเรีย-แคปพาโดเชียหลังจากความพ่ายแพ้ต่อกษัตริย์โครซัสแห่งลีเดียในคริสต์ศตวรรษที่ 6 แล้ว แคปพาโดเชียก็ปกครองโดยขุนนางกึ่งระบบศักดินา ที่อยู่อาศัยกันตามที่มั่นที่เป็นปราสาทต่างๆ โดยมีไพร่ติดแผ่นดินเป็นบริวาร ซึ่งต่อมาเป็นสภาวะที่เหมาะกับการวิวัฒนาการมาเป็นระบบทาสต่างประเทศ แคปพาโดเชียจัดเป็นแคว้นของจักรวรรดิเปอร์เซียสมัยที่สามที่ก่อตั้งขึ้นโดยจักรพรรดิดาไรอัสมหาราช แต่ยังคงได้รับการอนุญาตให้มีประมุขปกครองตนเอง แต่ก็ไม่มีผู้ใดที่มีอำนาจมากพอที่จะปกครองได้ทั้งภูมิภาค

ราชอาณาจักรแคปพาโดเชีย

หลังจากอเล็กซานเดอร์มหาราชนำมาซึ่งการล่มสลายของจักรวรรดิเปอร์เซียแล้ว พระองค์ก็ทรงพยายามที่จะปกครองแคปพาโดเชียโดยการส่งผู้แทนพระองค์มาปกครอง แต่อาเรียร์ทีสผู้เป็นขุนนางเปอร์เซียกลับกลายมาเป็นกษัตริย์แห่งแคปพาโดเชียแทนที่ อาเรียร์ทีสที่ 1 แห่งแคปพาโดเชีย (332—322 ก่อนคริสต์ศักราช) เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ และทรงทำการขยายดินแดนของราชอาณาจักรแคปพาโดเชียออกไปถึงทะเลดำ ราชอาณาจักรแคปพาโดเชียตั้อยู่ในความสงบสุขมาจนกระทั่งการเสด็จสวรรคตของอเล็กซานเดอร์มหาราช เมื่อจักรวรรดิถูกแบ่งย่อยออกไปเป็นส่วนๆ แคปพาโดเชียตกไปเป็นของยูเมนีส ยูเมนีสขึ้นมามีอำนาจโดยความช่วยเหลือของขุนพลเพอร์ดิคคัสผู้เป็นผู้สำเร็จราชการของอเล็กซานเดอร์มหาราชผู้จับอาเรียร์ทีสตรึงกางเขน แต่หลังจากที่เพอร์ดิคคัสถูกลอบสังหาร และยูเมนีสถูกประหารชีวิต บุตรชายของอาเรียร์ทีสก็ได้แคปพาโดเชียคืน และทำการปกครองต่อมาโดยกษัตริย์ที่สืบเชื้อสายต่อมา

เมื่อมาถึงรัชสมัยของอาเรียร์ทีสที่ 4 แห่งคาแคปพาโดเชีย (220—163 ก่อนคริสต์ศักราช) แคปพาโดเชียก็เริ่มมีความสัมพันธ์กับโรมที่เริ่มด้วยการเป็นศัตรูในการเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าแอนทิโอคัสมหาราช และต่อมาหันมาเป็นพันธมิตรในการต่อต้านเพอร์เซียสแห่งมาซิดอน ซึ่งก็เท่ากับทรงวางตนเป็นศัตรูกับ จักรวรรดิเซลูซิดที่เคยทรงส่งบรรณาการเป็นครั้งคราวอย่างเต็มพระองค์

อาเรียร์ทีสที่ 5 แห่งแคปพาโดเชีย (163—130 ก่อนคริสต์ศักราช) ทรงนำทัพร่วมกับกงสุลโรมันพิวเบลียส ลิซิเนียส คราซัส ดิเวส มูเชียนัสในการต่อสู้กับยูเมนีสที่ 3 ผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เพอร์กามอน แต่พระองค์ก็ทรงได้รับความพ่ายแพ้อย่างยับเยินและสิ้นพระชนม์ในปี 130 ก่อนคริสต์ศักราช ภาวะของความสับสนวุ่นวายที่ตามมาหลังจากการเสียชีวิตของอาเรียร์ทีสที่ 5 นำไปสู่การแทรกแซงของพอนทัสที่รุ่งเรืองขึ้นมา และการสงครามที่เกิดขึ้นที่นำมาซึ่งความหายนะของราชวงศ์ที่ปกครองแคปพาโดเชีย

มณฑลแคปพาโดเชียของโรมัน

ชาวแคปพาโดเชียได้รับการสนับสนุนจากโรมในการเป็นโค่นมิทราดีสที่ 4 แห่งพอนทัส และแทนที่ด้วยอริโอบาร์ซานีสที่ 1 ฟิลโลโรมาอิออสแห่งแคปพาโดเชีย ในปี 93 ก่อนคริสต์ศักราช แต่ในปีเดียวกันกองทัพอาร์มีเนียภายใต้การนำของพระเจ้าไทกราเนสมหาราชก็ทรงนำทัพเข้ามารุกรานแคปพาโดเชีย ทรงทำการถอดอริโอบาร์ซานีสจากราชบัลลังก์ และทรงแต่งตั้งให้กอร์เดียสแห่งแคปพาโดเชียขึ้นครองเป็นกษัตริย์บริวารแทนที่ การสร้างแคปพาโดเชียขึ้นเป็นอาณาจักรบริวารของพระเจ้าไทกราเนสก็เท่ากับเป็นการสร้างบริเวณฉนวนเพื่อยับยั้งความก้าวร้าวของสาธารณรัฐโรมันที่คืบเข้ามาในภูมิภาค

เมื่อโรมถอดกษัตริย์พอนทัสและกษัตริย์อาร์มีเนียจากราชบัลลังก์ อาริโอบาร์ซานีสที่ 1 ฟิลโลโรมาอิออสแห่งแคปพาโดเชียจึงได้กลับมาขึ้นครองแคปพาโดเชียอีกครั้งหนึ่งในปี 63 ก่อนคริสต์ศักราช ในระหว่างสงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นในโรมแคปพาโดเชียก็เปลี่ยนการสนับสนุนเรื่อยมาตั้งแต่สนับสนุนปอมเพย์, ต่อมาก็จูเลียส ซีซาร์, ต่อมามาร์ค แอนโทนี และหันมาเป็นปฏิปักษ์ท้ายที่สุด ราชวงศ์อริโอบาร์ซานีสมาสิ้นสุดลงในสมัยของอาร์คีลอสแห่งแคปพาโดเชียผู้หนุนหลังมาร์ค แอนโทนี และหันมาเป็นปฏิปักษ์ ผู้ปกครองเป็นอิสระมาจนกระทั่งปี 17 ก่อนคริสต์ศักราช เมื่อจักรพรรดิไทบีเรียสทรงลดฐานะของแคปพาโดเชียลงมาเป็นเพียงมณฑลของโรมันหลังจากการสิ้นพระชนม์ของอาร์คีลอสอย่างอัปยศ ต่อมาอีกเป็นเวลานานแคปพาโดเชียก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิไบแซนไทน์

แคปพาโดเชียประกอบด้วยเมืองใต้ดินหลายเมือง (ดูเมืองใต้ดินแห่งเคย์มาคลี) ที่ใช้โดยชาวคริสเตียนในยุคแรกในการเป็นที่หลบหนีภัยจากการเบียดเบียนคริสต์ศาสนิกชนก่อนที่ศาสนาคริสต์จะเป็นศาสนาที่ได้รับการประกาศว่าเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิ ปิตาจารย์แห่งแคปพาโดเชียของคริสต์ศตวรรษที่ 4 เป็นองค์ประกอบสำคัญของประวัติศาสตร์เทววิทยาศาสนาคริสต์ยุคแรก นักเทววิทยาศาสนาคริสต์คนสำคัญก็รวมทั้งจอห์นแห่งแคปพาโดเชียผู้เป็นอัครบิดรแห่งคอนสแตนติโนเปิล ระหว่างปี ค.ศ. 517 ถึง ค.ศ. 520 ในช่วงการปกครองของจักรวรรดิไบแซนไทน์ แคปพาโดเชียปลอดจากความขัดแย้งของบริเวณนี้กับจักรวรรดิแซสซานิด แต่มาเป็นบริเวณดินแดนพรมแดนอันสำคัญต่อมาในสมัยการพิชิตดินแดนของมุสลิมต่อมา แคปพาโดเชียกลายเป็นส่วนหนึ่งของเขตการปกครองไบแซนไทน์แห่งอาร์มีเนีย (Armeniac Theme) และต่อมาเขตการปกครองคาร์เซียนอน และในที่สุด เขตการปกครองไบแซนไทน์แห่งแคปพาโดเชีย (Cappadocia Theme)

ความสัมพันธ์ระหว่างแคปพาโดเชียและอาร์มีเนียที่ตั้งอยู่ติดกันเป็นความสัมพันธ์อันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักประวัติศาสตร์อาหรับอบู อัล ฟารัจกล่าวถึงชาวอาร์มีเนียผู้ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ซิวาสระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 10 ว่า “ซิวาสในแคปพาโดเชียเต็มไปด้วยชาวอาร์มีเนีย ที่มีจำนวนมากจนกระทั่งกลายเป็นส่วนสำคัญของกองทัพของราชอาณาจักร กองทหารอาร์มีเนียเหล่านี้มีหน้าที่เฝ้ายามตามป้อมที่สำคัญๆ ที่ยึดมาได้จากอาหรับ ทหารอาร์มีเนียมีชื่อเสียงจากการเป็นทหารราบผู้มีประสบการณ์และมักจะแสดงความสามารถในการต่อสู้อย่างกล้าหาญและประสบกับความสำเร็จเคียงข้างทหารโรมันหรือที่เรียกว่าทหารไบแซนไทน์”[8] การรณรงค์ทางการทหารของไบแซนไทน์และการรุกรานของเซลจุคในอาร์มีเนียทำให้ชาวอาร์มีเนียขยายตัวเข้ามาในแคปพาโดเชียและออกไปทางตะวันออกจากซิลิเคียไปยังดินแดนที่เป็นหุบเขาทางตอนเหนือของซีเรีย และ เมโสโปเตเมีย จนกระทั่งได้ก่อตั้งราชอาณาจักรอาร์มีเนียแห่งซิลิเคียขึ้น การอพยพของชาวอาร์มีเนียเพิ่มจำนวนขึ้นหลังจากการเสื่อมโทรมอำนาจของจักรวรรดิไบแซนไทน์ และการขยายตัวของอาณาจักรครูเสดหลังสงครามครูเสดครั้งที่ 4 สำหรับนักรบครูเสดแล้วแคปพาโดเชียคือ “terra Hermeniorum” (ดินแดนของชาวอาร์มีเนีย) เพราะเป็นดินแดนที่ขณะนั้นเต็มไปด้วยผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอาร์มีเนีย[9]

หลังจากยุทธการมันที่ซิเคิร์ตในปี ค.ศ. 1071 แล้วกลุ่มตุรกีต่างๆ ภายใต้การนำของเซลจุคก็เริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานในอานาโตเลีย การค่อยขยายตัวทางอำนาจของเซลจุคอย่างค่อยเป็นค่อยไปในที่สุดก็ทำให้แคปพาโดเชียกลายเป็นรัฐบริวารของรัฐตุรกีที่ก่อตั้งขึ้นทางตะวันออกและตะวันตกของภูมิภาค และประชากรบางส่วนของบริเวณนี้ก็เปลี่ยนไปถือศาสนาอิสลาม เมื่อมาถึงตอนปลายของต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 เซลจุคแห่งอานาโตเลียก็กลายเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดในภูมิภาคแคปพาโดเชีย ต่อมาเมื่ออำนาจของเซลจุคที่ตั้งอยู่ที่คอนยาอ่อนตัวลงในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 13 เบยิคตุรกีแห่งอานาโตเลียน (Anatolian Turkish Beyliks) ที่มีฐานอำนาจอยู่ที่คารามานก็เข้ามามีอำนาจแทนที่ และในที่สุดกลุ่มที่ว่านี้ก็มาแทนที่ด้วยจักรวรรดิออตโตมันในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 15 แคปพาโดเชียก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมันเป็นเวลาอีกหลายร้อยปีต่อมา และในปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของรัฐตุรกีปัจจุบัน ความเปลี่ยนแปลงพื้นฐานของภูมิภาคนี้เกิดขึ้นเมื่อ บริเวณเมือง Nevşehir ได้รับการก่อตั้งขึ้นใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 โดยมหาเสนาบดีผู้มีถิ่นฐานดั้งเดิมมาจากบริเวณนี้ก่อตั้งขึ้นเป็นเมืองหลวงของภูมิภาค และยังคงเป็นมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ในขณะเดียวกันชาวแคปพาโดเชียก็เริ่มเปลี่ยนไปพูดภาษาตุรกีที่เขียนด้วยอักษรกรีกที่เรียกว่า “Karamanlıca” และในบริเวณที่ยังคงพูดภาษากรีก อิทธิพลของภาษาตุรกีรอบข้างก็เริ่มจะเพิ่มขึ้น ภาษากรีกที่พูดกันในภูมิภาคแคปพาโดเชียเรียกกันว่า “ภาษากรีกแบบแคปพาโดเชีย” หลังจากการแลกเปลี่ยนประชากรระหว่างกรีซและตุรกีในปี ค.ศ. 1923 แล้วก็เหลือผู้พูดภาษากรีกแคปพาโดเชียอยู่เพียงไม่กี่คน