แคว้นปกครองตนเองของประเทศสเปน
แคว้นปกครองตนเองของประเทศสเปน

แคว้นปกครองตนเองของประเทศสเปน

ในประเทศสเปน แคว้นปกครองตนเอง หรือ ประชาคมปกครองตนเอง (สเปน: comunidad autónoma; กาตาลา: comunitat autònoma; กาลิเซีย: comunidade autónoma; บาสก์: autonomia erkidegoa) เป็นเขตทางการเมืองและการปกครองในระดับบนสุดที่ได้รับการจัดตั้งโดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญสเปน พ.ศ. 2521 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรับประกันความเป็นอิสระในการปกครองตนเอง (อย่างมีข้อจำกัด) ของชาติทางประวัติศาสตร์และภูมิภาคต่าง ๆ ที่ประกอบกันเป็นสเปน[1][2][3]สเปนมิใช่สหพันธรัฐ แต่เป็นเอกรัฐ[1] ที่มีการกระจายอำนาจสูง[4][5] ในขณะที่อำนาจอธิปไตยเป็นของรัฐชาติสเปนโดยรวม โดยมีสถาบันส่วนกลางของรัฐบาลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนนั้น รัฐชาติสเปนก็ได้คลายอำนาจสู่แคว้นต่าง ๆ ในระดับที่ต่างกันตามภูมิหลังของแต่ละแคว้นเช่นกัน แคว้นเหล่านั้นจะใช้สิทธิ์ในการปกครองตนเองภายในขอบเขตที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญสเปนและธรรมนูญการปกครองตนเอง[lower-alpha 1] ของแคว้นตามลำดับ[1] นักวิชาการบางคนเรียกระบบที่เป็นผลจากการกระจายอำนาจดังกล่าวว่าเป็นระบบสหพันธรัฐในทางปฏิบัติ-เอกรัฐเพียงในนาม หรือ "สหพันธรัฐที่ปราศจากระบอบสหพันธรัฐ"[6] ปัจจุบันในสเปนมีแคว้นปกครองตนเอง 17 แคว้น และนครปกครองตนเอง 2 นครซึ่งมีชื่อเรียกรวมกันว่า "หน่วยการปกครองตนเอง"[lower-alpha 2] นครปกครองตนเองมีสิทธิ์ที่จะขอเปลี่ยนแปลงฐานะเป็นแคว้นปกครองตนเอง แต่นครทั้งสองยังไม่ได้ใช้สิทธิ์นี้ เค้าโครงการบริหารดินแดนซึ่งเป็นเอกลักษณ์เช่นนี้มีชื่อเรียกว่า "รัฐแห่งหน่วยการปกครองตนเอง"[lower-alpha 3]แคว้นปกครองตนเองต่าง ๆ จะได้รับการบริหารในทิศทางที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญสเปนร่วมกับธรรมนูญการปกครองตนเองซึ่งเป็นกฎหมายจัดระเบียบองค์การเฉพาะในแคว้นแต่ละแคว้น กฎหมายเหล่านี้เป็นตัวกำหนดอำนาจหน้าที่ทั้งหมดที่แคว้นเหล่านั้นจะมีได้ เนื่องจากการคลายอำนาจสู่แคว้นต่าง ๆ ถูกกำหนดให้มีลักษณะที่ไม่เท่าเทียมกันโดยธรรมชาติ[7] ขอบเขตอำนาจและหน้าที่ของแต่ละแคว้นจึงอยู่ในระดับที่แตกต่างกันไป เช่น ทุกแคว้นมีอำนาจจัดการด้านการศึกษาเป็นของตนเอง แต่บางแคว้นมีอำนาจจัดการด้านการเงินสาธารณะเพิ่มเติม หน่วยงานตำรวจของบางแคว้นมีบทบาทหน้าที่มากกว่าหน่วยงานตำรวจส่วนกลาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทุกแคว้นล้วนมีโครงสร้างสภานิติบัญญัติในรูปแบบเดียวกัน[1]การนำระบบแคว้นและนครปกครองตนเองมาใช้ส่งผลให้สเปนเปลี่ยนจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการรวมอำนาจปกครองสูงที่สุดมาเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการกระจายอำนาจปกครองสูงที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สเปนเป็นประเทศที่อัตราความเติบโตของรายได้และผลประกอบการของหน่วยงานที่ได้รับมอบอำนาจ (คือแคว้นปกครองตนเองต่าง ๆ) สูงที่สุด โดยเป็นผู้นำในการจัดอันดับดังกล่าวในยุโรปเมื่อถึงปี พ.ศ. 2558 และเป็นประเทศที่มีอัตราการกระจายภาษีสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ในบรรดาประเทศสมาชิกโออีซีดี (รองจากแคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา และออสเตรีย)[8][9] นอกจากนี้ สเปนยังได้รับการกล่าวอ้างว่าเป็นประเทศ "ที่น่าทึ่งจากขอบเขต [อันกว้างขวาง] ของอำนาจที่ได้รับการถ่ายโอนโดยสันติในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา" และเป็น "ประเทศที่มีการกระจายอำนาจสูงเป็นพิเศษ" อีกด้วย ในแง่บุคลากร เมื่อถึงปี พ.ศ. 2553 ข้าราชการพลเรือนจำนวนเกือบ 1,350,000 คน หรือร้อยละ 50.3 จากข้าราชการพลเรือนทั้งหมดในสเปนเป็นลูกจ้างของแคว้นปกครองตนเองต่าง ๆ[10] ร้อยละ 23.6 เป็นลูกจ้างของสภาเมืองและสภาจังหวัดต่าง ๆ ส่วนลูกจ้างที่ทำงานให้กับหน่วยงานบริหารส่วนกลาง (รวมทั้งหน่วยงานของตำรวจและทหาร) มีเพียงร้อยละ 22.2 ของข้าราชการพลเรือนทั้งหมด[11]ในขณะเดียวกัน ชาตินิยมชายขอบ (peripheral nationalism) โดยเฉพาะในแคว้นกาตาลุญญา แคว้นกาลิเซีย และแคว้นประเทศบาสก์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเมืองสเปน นักชาตินิยมชายขอบบางคนมองว่าความแตกต่างระหว่างสถานะ "ชาติทางประวัติศาสตร์"[lower-alpha 4] ที่เคยใช้นิยามแคว้นเหล่านั้นโดยเฉพาะ กับสถานะ "ภูมิภาค"[lower-alpha 5] ที่เคยใช้นิยามแคว้นอื่นทั่วไปนั้นกำลังเลือนหายในทางปฏิบัติ[12] เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไป แคว้นทั้งหมดก็ได้รับการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่เกือบจะในระดับเดียวกัน และแคว้นอื่น ๆ บางแคว้น (เช่น แคว้นบาเลนเซีย แคว้นอันดาลูซิอา) ก็ได้เลือกระบุตนเองว่าเป็น "ชาติทางประวัติศาสตร์" เช่นกัน ที่จริงแล้วก็ยังมีการถกเถียงอยู่ว่าการสถาปนาระบบรัฐแห่งหน่วยการปกครองตนเองในสเปนนั้นได้นำไปสู่การสร้าง "เอกลักษณ์ใหม่ในระดับภูมิภาค"[13][14] และ "ประชาคมที่ถูกประดิษฐ์ขึ้น"[14] หรือไม่ ด้วยเหตุเหล่านี้ หลายคนในกาลิเซีย ประเทศบาสก์ และกาตาลุญญาจึงเริ่มมองว่าแคว้นของพวกเขาเป็น "ชาติ"[lower-alpha 6] มิใช่เพียงชาติทางประวัติศาสตร์อย่างแคว้นอื่น ๆ และมองว่าสเปนเป็น "รัฐพหุชาติ" หรือ "ชาติที่ประกอบด้วยหลายชาติ" ดังนั้นจึงเรียกร้องให้รัฐบาลสเปนกระจายอำนาจสู่แคว้นของตนเองมากขึ้นหรือให้แคว้นของตนเองแยกตัวเป็นเอกราช

แคว้นปกครองตนเองของประเทศสเปน

รัฐบาล ฝ่ายบริหารแคว้นปกครองตนเอง
จำนวน 17 แคว้น (และนครปกครองตนเอง 2 นคร)
หน่วยการปกครอง จังหวัด
เทศบาล
หมวดหมู่ เขตพื้นที่ที่ปกครองตนเอง
ประชากร แคว้นปกครองตนเอง :
321,171 คน (แคว้นลาริโอฆา) –
8,415,490 คน (แคว้นอันดาลูซิอา)
นครปกครองตนเอง :
81,323 คน (เมลียา), 83,517 คน (เซวตา)
ที่ตั้ง สเปน
พื้นที่ แคว้นปกครองตนเอง :
94,224 ตร.กม. (แคว้นกัสติยาและเลออน) –
4,992 ตร.กม. (หมู่เกาะแบลีแอริก)
นครปกครองตนเอง :
12.3 ตร.กม. (เมลียา), 18.5 ตร.กม. (เซวตา)
ก่อตั้ง พ.ศ. 2521–2526
ก่อตั้งโดย รัฐธรรมนูญสเปน พ.ศ. 2521

แหล่งที่มา

WikiPedia: แคว้นปกครองตนเองของประเทศสเปน http://elpais.com/elpais/2012/09/28/opinion/134885... http://elpais.com/elpais/2017/03/15/opinion/148960... http://www.elpais.com/articulo/sociedad/funcionari... http://www.congreso.es/consti/constitucion/indice/... http://www.congreso.es/consti/constitucion/indice/... http://www.congreso.es/consti/constitucion/indice/... http://recursostic.educacion.es/secundaria/edad/3e... http://www.mpt.gob.es/servicios/empleo_publico/bol... http://www.oecd.org/dataoecd/61/8/37890628.pdf http://www.oecd.org/publications/fiscal-federalism...