การก้าวขึ้นสู่พระราชอำนาจและเรื่องอื้อฉาว ของ แคโรไลน์_มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่

โจฮันน์ ฟรีดิช สตรูเอนซี ชู้รักของพระนางแคโรไลน์ มาทิลดาซึ่งภายหลังเป็นนายกรัฐมนตรี

ระหว่างที่พระเจ้าคริสเตียนเสด็จประพาสเมืองอัลโทนา ทรงได้พบกับแพทย์ชายเยอรมันคือ โจฮันน์ ฟรีดิช สตรูเอนซี ซึ่งกำลังศึกษาโรคจิตเภท เนื่องจากเป็นคนที่พูดเก่ง พูดจาดี อ่อนน้อมถ่อมตน พระองค์จึงรู้สึกประทับใจในสตรูเอนซี และทรงให้เขาตามเสด็จพระองค์ไปด้วย เพราะทรงรู้สึกว่าพระองค์ทรงต้องการเขาคอยอยู่เป็นพระสหาย ในวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2312 พระองค์ได้เสด็จกลับโคเปนเฮเกนและแต่งตั้งเขาเป็นนักฟิสิกส์ของราชสำนัก และทำหน้าที่เป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์

หลังจากที่สตรูเอนซีเข้าสู่พระราชวังคริสเตียนเบอร์ก เขาได้ผลิตยาขนานพิเศษแก้อาการทางประสาทของพระเจ้าคริสเตียน ทำให้เขาสามารถชนะพระทัยได้อย่างเด็ดขาด การสนทนาของเขามีเหตุผลซึ่งทำให้ความกระวนกระวายพระทัยของพระองค์สงบลง ด้วยนิสัยที่อ่อนน้อมถ่อมตนทำให้คนในราชสำนักไว้วางใจ

เดือนตุลาคม พ.ศ. 2312 พระนางมาทิลดาทรงพระประชวรอย่างหนัก ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พระสวามีทรงติดมาจากหญิงโสเภณี ทำให้พระนางทรงเศร้าและหดหู่พระทัย เพราะความละเอียดอ่อนของโรค พระราชินีจึงไม่มีพระประสงค์ให้แพทย์ทำการวินิจฉัย พระนางประชวรและทรงประทับในห้องบรรทมหลายสัปดาห์ พระเจ้าคริสเตียนมีพระทัยเป็นห่วงและทรงให้ราชินีเข้ารับการตรวจจากสตรูเอนซี ระหว่างการตรวจพระอาการพระนางทรงบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในตัวเขาและมีพระประสงค์ให้เขาเข้าเฝ้าอีกในวันต่อมาซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องอื้อฉาว

สตรูเอนซีทราบว่าความหดหู่เป็นศัตรูของอาการเจ็บป่วยทางกายของพระราชินี เขาได้แนะนำว่า "พระนางทรงไม่ต้องการยาขนานใดมากไปกว่าการออกกำลังกายกับอากาศบริสุทธิ์และการหย่อนใจ"[9] เขาแนะนำให้พระนางเสด็จทรงม้าเล่น ซึ่งเป็นกีฬาที่สุภาพสตรีชาวเดนมาร์กไม่นิยมนัก พระนางทรงไม่เคยประทัยหลังม้าเลย แต่พระนางก็กลายเป็นนักขี่ม้าที่ชำนาญ นอกจากนี้ทรงออกกำลังกายด้วยการเดินซึ่งสร้างความตื่นตะลึงแก่ชาวเดนมาร์ก เนื่อจากไม่มีสตรีชาวเดนมาร์กคนใดไปที่ไหนด้วยการเดินมาก่อน ซึ่งมักจะเดินทางด้วยเกี้ยวหรือรถม้า และพระนางได้เสด็จพระราชดำเนินไปงานการกุศลต่าง ๆ ด้วยพระองค์เอง ซึ่งส่งผลให้พระสรีระดีขึ้นมาก น้ำหนักลดลงมาก

สมเด็จพระพันปีหลวงจูเลียนา มาเรีย พระมารดาเลี้ยงในพระสวามีของพระนาง ทรงพยายามครอบครองพระราชอำนาจในการปกครองประเทศ เป็นผลให้ขัดแย้งกับพระเจ้าคริสเตียน พระนางมาทิลดาและสตรูเอนซี

หลังจากทรงหายจากพระอาการประชวร พระนางทรงไว้วางพระทัยในสตรูเอนซีมากยิ่งขึ้น เขาได้แนะนำให้พระราชินีหวนกลับไปปรองดองกับพระสวามีและโน้มน้าวให้พระนางเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง เขากราบทูลพระราชินีว่า พระเจ้าคริสเตียนจะมีสุขภาพจิตที่ปกติต่อไปอีกไม่นาน อีกไม่ช้าพระองค์จะจมดิ่งในห้วงวิปลาสโดยไม่อาจฟื้นคืนได้อีก ซึ่งจะมีใครบางคนยึดอำนาจแทนกษัตริย์และประกาศเป็นศัตรูกับพระนาง เขาได้กล่าวว่า ใครบางคนที่ว่าอาจจะเป็น สมเด็จพระพันปีหลวงจูเลียนา มาเรีย พระมารดาเลี้ยงของกษัตริย์ ซึ่งก่อนที่พระพันปีหลวงจะได้อำนาจนั้น พระนางควรชิงอำนาจเสียก่อน เพื่อประโยชน์ของเดนมาร์ก ต่อมาในเดือนพฤษภาคมปีพ.ศ. 2313 พระนางทรงใช้เวลาอยู่กับแพทย์ส่วนพระองค์วันละหลายชั่วโมง และทรงมักมีรับสั่งให้นางพระกำนัลออกไปจากห้องทุกครั้ง ซึ่งต่อมาสตรูเอนซีได้เล่าให้รัแวร์เดิลฟังว่า เขาได้ร่วมรักกับพระราชินีแล้ว โดยพระนางทรงไม่มีพระกิริยาขัดขืน เมื่อพระเจ้าคริสเตียนทรงทราบ พระองค์กลับรักพระราชินีมากยิ่งขึ้นและไว้วางพระทัยในสตรูเอนซี พระองค์ได้ทรงสารภาพกับรีแวร์เดิลซึ่งตื่นตระหนกยิ่งกว่าว่า ทรงพอพระทัยที่พระมเหสีมีสัมพันธ์รักกับสตรูเอนซี ผู้สนองความต้องการของราชินีได้ครบถ้วนและทรงต้องการให้พระนางได้รับความสุขที่พระองค์ไม่อาจประทานให้ได้เนื่องจากควมแปรปรวนทางจิตใจของพระองค์

พระเจ้าคริสเตียนทรงรู้สึกสบายพระทัยเมือ่ทรงประทับร่วมกับพระนางมาทิลดาและสตรูเอนซี พระองค์จะกระสับกระส่ายทันทีเมื่อทั้งสองลับไปจากสายพระเนตร พระนางมาทิลดาและสตรูเอนซีได้ช่วยพระเจ้าคริสเตียนบริหาราชกิจรัฐบาลซึ่งทำให้พระองค์ดีพระทัยอย่างยิ่งเมื่อไม่มีใครนำเรื่องการเมืองมาปรึกษา และบังคับให้พระองค์ไปร่วมประชุมสภา พระนางมาทิลดาทรงมีความสุขมากเมื่อทรงสามารถรักสตรูเอนซีได้และพระสวามีทรงเห็นชอบ ดังนั้นพระนางไม่จำเป็นต้องปิดบังความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งพระองค์ทรงดำเนินตามรอยเจ้าหญิงออกัสตาแห่งแซ็กซ์-ก็อตธาพระมารดา ซึ่งพระมารดาของพระนางเมื่อพระสวามีสิ้นพระชนม์ ทรงคบหากับจอห์น สจ๊วต มาควิสแห่งบิวท์ซึ่งเป็นทั้งมิตรและที่ปรึกษา และเขามีความสัมพันธ์กับเจ้าหญิงออกัสตาอย่างเปิดเผยซึ่งสามารถเข้าออกพระราชวังคิวได้ทุกเมื่อ

พระเจ้าคริสเตียนที่ 7 พระสวามีของพระนางมาทิลดา มีพระอาการผิดปกติทางจิต ทรงให้สตรูเอนซีเป็นแพทย์ส่วนพระองค์

ต่อมาพระนางมาทิลดาทรงแต่งตั้งสตรูเอนซีเป็นราชเลขาส่วนพระองค์ของพระราชา เหล่าขุนนางสังเกตเห็นความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็วของบุรุษชาวต่างชาติผู้นี้ จึงเริ่มวิตกว่าชาวต่างชาติอาจเข้ามามีอำนาจในเดนมาร์ก โดยสัมพันธ์รักกับพระราชินี ต่อมาพระนางทรงสร้างความตกใจแก่ผู้คยโดยทรงริเริ่มทรงเครื่องแต่งกายแบบบุรุษ โดยสตรูเอนซีสนับสนุนให้พระนางแหวกประเพณีที่เคร่งครัดของเดนมาร์ก พระนางเริ่มทรงกางเกงหนังสัตว์รัดรูปกับเสื้อกั๊กและเสื้อคลุมแบบบุรุษ พร้อมรองเท้าบู๊ตทหารสูงเทียมเข่า และแทนที่จะเกล้าผมสูงตามความนิยมในสมัยนั้น พระนางกลับถักเปียห้อยยาวถึงพระปฤษฎางค์ พระราชินีทรงเปลี่ยนวิธีทรงม้าแบบไพล่ขาแบบสตรีทั่วไปมาเป็นทรงคร่อมเช่นเดียวกับบุรุษ ทรงสร้างความตื่นตะลึงมากในศตวรรษที่ 18 และพระนางทรงร่วมการแข่งขันยิงธนูประจำปีในโคเปนเฮเกน พระนางทรงเครื่องทรงเยี่ยงบุรูษยิงธนูเข้ากลางเป้า ขณะที่พระราชาทรงประทับคุดคู้ พระเนตรเหม่อลอย หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า "ระหว่างทั้งสองพระองค์ ราชินีทรงมีลักษณะคล้ายชายชาตรีมากกว่า"[10]

สมเด็จพระจักรพรรดินีแคทเธอรีน ทรงทราบว่าพระนางมาทิลดาและสตรูเอนซีมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเดนมาร์กและรัสเซียเย็นชาลง พระนางจึงลงความเห็นว่า"อยากจะทำอะไรก็ปล่อยพวกเขาไปเถิด รนหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวแท้ๆ"

เพื่อหลีกเลี่ยงสายตาของพวกสอดแนมและระเบียบในวัง พระเจ้าคริสเตียน พระนางมาทิลดาและสตรูเอนีได้ย้ายไปที่พระราชวังเฮิร์สโชล์ม ที่สันโดษตั้งอยู่บนเกาะไม่ไกลจากโคเปนเฮเกน ต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2313 หลังจากพระเจ้าคริสเตียนทรงลงพระปรมาภิไธยเรียบร้อย สตรูเอนซีได้ขึ้นนั่งตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีแทน โยฮันน์ เบิร์นสตอร์ฟฟ์ ที่ประชาชนชื่นชอบ เขากำหนดให้การติดต่อกับคณะรัฐมนตรีกับพระราชาต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรและมีคำสั่งไม่ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ สตรูเอนซีปกครองเดนมาร์กอย่างสมบูรณ์และความปรารถนาสูงสุดคือ การพยายามปรับปรุงประเทศเดนมาร์กให้หลุดพ้นจากแนวคิดการปกครองและวัฒนธรรมประเพณีรูปแบบเก่าตั้งแต่สมัยยุคกลาง ซึ่งพยายามทำให้เดนมาร์กที่ยังล้าหลังกว่าประเทศอื่นในยุโรปก้าวขึ้นสู่โลกสมัยใหม่ สตรูเอนซีเน้นแนวทางเสรีนิยมซึ่งเป็นประโยชน์แก่ชนชั้นล่าง เช่น ได้ประกาศลดภาษีเกลือซึ่งเป็นภาระหนักแก่ประชาชนและลดราคาข้าวสาลีลงครึ่งหนึ่ง และนำเงินทุนมาสร้างโรงพยาบาล โรงเรียนแก่ชนชั้นล่าง และได้ประกาศเปิดสวนในพระราชวังให้ประชาชนสามารถเข้าไปได้ อีกทั้งเขายังริเริ่มกฎหมายกำหนดหมายเลขบ้านและทำความสะอาดถนน ซึ่งทำให้คนชนชั้นล่างสำนึกในคุณของเขาและพระนางมาทิลดา พระนางมาทิลดายังทรงเป็นตัวแทนของสตรีที่พยายามฝ่ากฎเกณฑ์ดั้งเดิมของสตรีเดนมาร์กที่ต้องอยู่ดูและปรนนิบัติสามี พระนางทรงสนับสนุนให้สตรีมีสิทธิเท่าเทียมกับบุรุษ โดยทรงสวมฉลองพระองค์ทหารแบบบุรุษเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปิดประตูแห่งยุคสมัยกลาง ซึ่งนับตั้งแต่สมัยหลุยส์แห่งบริเตนใหญ่ สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก ทรงพยายามปรับปรุงประเทศโดยทรงให้สตรีสามารถร่วมงานสังคมกับบุรษได้และทรงปฏิรูปด้านศิลปะและวัฒนธรรม เนื่องจากพระนางหลุยส์สิ้นพระชนม์ขณะมีพระชนมายุ 27 พรรษาทำให้ทรงไม่สามารถดำเนินนโยบายที่ประสงค์ได้และพระนางมาทิลดาทรงสามารถสานต่อนโยบายของพระนางให้สำเร็จ แต่นโยบายพระนางมาทิลดาและสตรูเอนซีกลับสร้างความไม่พอใจแก่คนชนชั้นสูงซึ่งสูญเสียประโยชน์รวมทั้งพระพันปีจูเลียนาด้วยและพยามยามปฏิวัติยึดอำนาจกลับมา [11]

พะนางมาทิลดาทรงปิติอย่างยิ่งกับความเจริญก้าวหน้าที่ชู้รักนำมาสู่เดนมาร์ก พระนางมักเปรียบองค์เองกับสมเด็จพระจักรพรรดินีเยกาเจรีนาที่ 2 แห่งรัสเซียบ่อยๆ แต่พระนางมาทิลดาทรงขาดความหลักแหลมและปราศจากไหวพริบทางการเมือง พระนางแคทเทอรีนมหาราชินีทรงพระสรวลดังลั่นเมื่อได้ยินว่าราชินีมาทิลดาแห่งเดนมาร์กทรงเปรียบเทียบองค์เองกับพระนาง พระนางแคทเธอรีนทรงตระหนักดีว่าสตรูเอนซีคือตัวการที่ทำให้ความสัมพันธ์เดนมาร์กและรัสเซียเย็นชาลง จึงลงความเห็นว่า"อยากจะทำอะไรก็ปล่อยพวกเขาไปเถิด รนหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัวแท้ๆ"[12].

สุขภาพจิตของพระเจ้าคริสเตียนทรุดลงอย่างต่อเนื่อง พระองค์ทรงหลงทางในพระราชวังบ่อยครั้งจนสตรูเอนซีต้องให้เจ้าหน้าที่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด พระนางมาทิลดาจึงเสด็จออกรับแขกแต่เพียงลำพัง พระนางมีพระราชปฏิสันถารกับข้าราชบริพาร คณะรัฐมนตรีและคณะทูตานุทูตเป็นประจำซึ่งถือว่าทรงทำหน้าที่แทนกษัตริย์

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2314 พระราชินีทรงพระประสูติกาลพระธิดาองค์หนึ่งอย่างลับๆ ที่พระราชวังเฮิร์สโชล์ม สตรูเอนซีประคองพระราชินีตลอดเวลาที่ทรงเจ็บพระครรภ์และเป็นแพทย์ให้ด้วย ทั้ง 2 ตั้งชื่อพระธิดาว่า หลุยส์ ออกัสตา ไม่มีการประกาศล่วงหน้าว่าราชินีทรงพระครรภ์เพื่อให้ประชาชนช่วยกันสวดภาวนาขอให้พระองค์มีพระประสูติกาลอย่างปลอดภัย ซึ่งผิดธรรมเนียมการปฏิบัติของพระบรมวงศ์ ประชาชนชาวเดนมาร์กประหลาดใจมากที่ได้เจ้าหญิงพระองค์ใหม่โดยไม่รู้ตัว

เมื่อข่าวการประสูติประกาศออกไป หนังสือพิมพ์ได้วิพากย์วิจารณ์ว่า "ลบหลู่พระเกียรติบนพระแท่นบรรทมของกษัตริย์อย่างไร้ยางอาย และให้กำเนิดทายาทที่ต่ำช้า เข้ามาเป็นสมาชิกราชวงศ์"[13] เพื่อเป็นการตอบโต้เสียงวิพากย์วิจารณ์ สตรูเอนซีได้ให้พระเจ้าคริสเตียนทรงลงพระปรมาภิไธยว่าพระองค์เป็นพระบิดาที่แท้จริงของพระธิดา และพระเจ้าคริสเตียนก็ทรงเชื่อจริงๆว่า หลุยส์ ออกัสตา เป็นพระธิดาทางสายพระโลหิตของพระองค์จริงๆ และทรงสนุกอย่างยิ่งในการเตรียมพิธีรับศีลล้างบาปให้พระธิดา หลังการประสูติพระธิดา สตรูเอนซีได้แต่งตั้งตนเองเป็นองคมนตรีและดำรงยศเป็นท่านเคานท์ ซึ่งงานกิจการของประเทศทำให้เขารู้สึกเหนื่อย เคยมีผู้ถามเขาว่าเหตุใดจึงไม่ออกไปจากที่นี่ เขาตอบว่า "จะมีที่ไหนอีกล่ะที่เราจะได้เป็นทั้งนายกรัฐมนตรี พระสหายของพระราชา และชู้รักของพระราชินีเหมือนที่นี่"[14]

ใกล้เคียง

แคโรไลน์ มาทิลดาแห่งบริเตนใหญ่ แคโรไลน์ อเมลีแห่งออกัสเตนบวร์ค แคโรไลน์ น็อกซ์ แคโรไลนา (ชื่อ) แคโรไลน์แห่งเบราน์ชไวก์ สมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร แคโรไลน์แห่งอันสบาค สมเด็จพระราชินีแห่งบริเตนใหญ่ แคโรไลน์ ออกัสตา แห่งบาวาเรีย แคโรลีน เบอร์ทอซซี แอโรไวรอนเมนต์ อาร์คิว-11 เรฟเวน แคโรทีนอยด์