แบย์เตียเรียก

แบย์เตียเรียก (คาซัค: Báıterek, Бәйтерек; "ต้นพ็อปลาร์สูง") เป็นอนุสรณ์สถานและหอคอยในกรุงนูร์-ซุลตัน (อัสตานา) เมืองหลวงของประเทศคาซัคสถาน อนุสรณ์สถานแห่งนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของนูร์-ซุลตันและของคาซัคสถานสมัยใหม่หลังได้รับเอกราชจากสหภาพโซเวียต[1]แบย์เตียเรียกตั้งอยู่บนถนนนูร์โฌล ได้รับการออกแบบให้สื่อถึงนิทานพื้นบ้านเรื่องหนึ่งว่าด้วย "แบย์เตียเรียก" ซึ่งเป็นต้นไม้แห่งชีวิตที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโลก กับ "ซัมรุก" (Samruk) ซึ่งเป็นนกศักดิ์สิทธิ์แห่งความสุข ทุกปี ซัมรุกจะบินมาออกไข่ทองคำไว้ที่คาคบยอดไม้แบย์เตียเรียก ไข่ทองคำเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์ซึ่งให้ชีวิตและความหวัง อนุสรณ์สถานแห่งนี้แสดงไข่ดังกล่าวโดยใช้โครงสร้างทรงกลมหุ้มด้วยกระจก มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 22 เมตรชั้นชมเมืองในโครงสร้างทรงกลมตั้งอยู่ที่ระดับความสูงจากพื้นดิน 97 เมตร สื่อถึง ค.ศ. 1997 ซึ่งเป็นปีที่อัสตานา (นูร์-ซุลตัน) กลายเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศ ภายในติดตั้งรอยพิมพ์มือขวาของนูร์ซุลตัน นาซาร์บายิฟ ประธานาธิบดีคนแรกของประเทศ นักท่องเที่ยวนิยมวางมือทาบลงบนรอยมือนี้แล้วอธิษฐาน