ประวัติ ของ แปดเทพอสูรมังกรฟ้า

"แปดเทพอสูรมังกรฟ้า" เป็นผลงานลำดับที่ 11 ของกิมย้ง นับตั้งแต่ชื่อเรื่อง และที่มาของแรงบันดาลใจ แสดงความใฝ่ใจในพุทธศาสนาของเขา ชื่อภาษาจีน "เทียนหลงปาปู้" หมายถึง เทพและอมนุษย์ 8 จำพวก ในตำนานของพุทธศาสนานิกายมหายาน ซึ่งมีอิทธิฤทธิ์เฉพาะตนแตกต่างกันไป ประกอบด้วย

  1. เทพ เป็นผู้มีบุญกุศล อาศัยอยู่ในสวรรค์ที่พรั่งพร้อม และอิ่มทิพย์ ทว่า ยังไม่อาจละกิเลสจากโลกียสุข เช่น ยังอยากได้หญิงงามของอสูร เป็นต้น
  2. อสูร เป็นอมนุษย์ในภพภูมิที่หยาบกว่าเทพ หากเป็นชายจะสุดอัปลักษณ์ หากเป็นหญิงจะมีรูปโฉมสะคราญ อสูรมักทำสงครามกับเทพบ่อยครั้ง เพราะต่างริษยาในกันและกัน อสูรอยากได้สวรรค์และความอิ่มทิพย์ของเทพ เทพอยากได้นางงามและภักษาหารรสโอชาของอสูร ต่างสัประยุทธ์กันจนฟ้าดินปั่นป่วน
  3. มังกร หรือนาค เป็นผู้สืบทอดพิทักษ์ศาสนา เปรียบกับพระชั้นผู้ใหญ่ หรืออุปถัมภกคนสำคัญ
  4. ครุฑ เป็นนกที่ยิ่งใหญ่ เมื่อกางปีกออกจะครอบคลุมดินฟ้าสามแสนหกหมื่นลี้ และมีฤทธิ์มาก สามารถสร้างความสั่นสะเทือนให้แผ่นดินและจักรวาลได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ในหนึ่งวัน ต้องกินมังกร 1 ตัว และลูกมังกร 500 ตัวเป็นอาหาร มักกล่าวกันว่า วีรบุรุษคนสำคัญคือครุฑมาเกิด
  5. ยักษ์ เป็นภูตประเภทหนึ่ง อยู่ระหว่างพรมแดนของเทพ อสูร และมนุษย์ มีความแข็งแรง คล่องแคล่ว เป็นกำลังที่เคลื่อนไหวได้ทั้งดีและชั่ว บางยักษ์ช่วยคุ้มครองมนุษย์ บางยักษ์ชอบจับมนุษย์กิน
  6. คนธรรพ์ เป็นเทพมังสวิรัติ ไม่แตะต้องเนื้อสัตว์สุรา แต่หลงใหลในความงามและกลิ่นหอม ส่วนตนมีฉายาและกลิ่นหอมชวนให้ผู้คนลุ่มหลง ทั้งยังแปลงกายเปลี่ยนรูปได้สุดหยั่งคะเน
  7. กินนร เป็นเทพที่ชอบร้องรำทำเพลง และสร้างสีสันสำราญใจให้แก่ชาวสวรรค์
  8. มโหราค เป็นอมนุษย์ชั้นต่ำต้อยที่สุด บ้างมีลำตัวเป็นมนุษย์ ศีรษะเป็นงู บ้างมีลำตัวเป็นงู ศีรษะเป็นมนุษย์ มีฤทธิ์มาก แต่ไม่มีใครอยากยุ่งเกี่ยวด้วยนัก

เทพอสูร 8 เหล่าในความเปรียบทางธรรม ยังหมายถึง ความเปิดกว้างโดยเมตตาของพระพุทธศาสนา ซึ่งไม่ว่าเผ่าพันธุ์วรรณะใด ล้วนมีสิทธิที่จะสดับฟังธรรมะของพระพุทธเจ้า สามารถแสวงหาความเข้าใจ ความหลุดพ้นจากทุกข์ และบรรลุธรรมได้โดยเสมอภาคกัน

กิมย้งเขียนเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้าในปี พ.ศ. 2506-2510 และปรับปรุงพิมพ์เป็นเล่มในปี พ.ศ. 2521 ฉบับภาษาไทย จำลอง พิศนาคะ แปลสำนวนแรกในปี พ.ศ. 2522 ใช้ชื่อว่า "มังกรหยกภาคพิเศษ" แต่เนื้อหาและเหตุการณ์ตามท้องเรื่องไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับมังกรหยกทั้ง 3 ภาคเลย ฉากหลังเป็นประวัติศาสตร์ช่วงก่อนมังกรหยกภาคแรกประมาณ 100 ปี

ก่อนหน้านั้น ราชวงศ์ซ้อง (ซ่ง) ดำเนินนโยบายลิดรอนอำนาจขุนศึก และนิยมลัทธิขงจื๊อใหม่ กำลังของส่วนกลางจึงไม่เข้มแข็งนัก ช่วงเวลาตามท้องเรื่องแปดเทพอสูรมังกรฟ้า แผ่นดินจีนแบ่งออกเป็น 5 อาณาจักร ของหลายชนเผ่า

ตรงกลางคือต้าซ้องของชาวฮั่น ด้านเหนือคือต้าเหลียวของชาวชี่ตัน ด้านใต้คือต้าหลี่ ด้านตะวันตกเฉียงเหนือคือซีเซี่ย และด้านตะวันตกเฉียงใต้คือถู่ฝาน ต่างฝ่ายต่างอยากกลืนอาณาจักรอื่น และอาณาจักรที่ล่มสลายไปแล้วอย่างเยี่ยน ก็มีคนคิดฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ ศึกสงครามจึงไม่สงบโดยง่าย