บทบาททางสังคม ของ แปลก_พิบูลสงคราม

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ริเริ่มองค์กรและหน่วยงานสำคัญ ๆ ของประเทศหลายองค์กร ที่พัฒนาและเจริญรุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน ซึ่งล้วนแต่เป็นหน่วยงานที่มีความเฉพาะของแต่ละวิชาชีพ เช่น รัฐวิสาหกิจ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน), มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยบูรพา(วิทยาลัยวิชาการศึกษา ต่อมาเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน ก่อนจะมาเป็น มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งนับได้ว่าเป็นการนำเอาสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ออกมาสู่ภูมิภาค เป็นแห่งแรก) รวมทั้งเป็นผู้ที่ใช้อำนาจยึดสถานที่ต่าง ๆ ที่เคยเป็นที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ และที่อยู่ของบุคคลสำคัญก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาใช้เป็นสถานที่ราชการ เช่น วังบางขุนพรหม, วังสวนกุหลาบ, บ้านมนังคศิลา, บ้านพิษณุโลก, บ้านนรสิงห์ เป็นต้น

ผู้ก่อตั้งโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศ

หลังจากความคิดของเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม ในช่วงปี พ.ศ. 2473-พ.ศ. 2475 ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ว่าต้องการที่จะให้ประเทศสยาม มีกิจการแพร่ภาพออกอากาศโทรทัศน์ ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 เป็นผลต้องประสบความล้มเหลวในขณะนั้น[25] อย่างไรก็ดีโทรทัศน์ถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งภายใต้กรมประชาสัมพันธ์ นับเป็นแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแห่งแรกของทวีปเอเชีย บนภาคพื้นแผ่นดินใหญ่ (Asia Continental) แพร่ภาพออกอากาศในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งข้าราชการกลุ่มหนึ่งของกรมประชาสัมพันธ์ แสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดตั้งโทรทัศน์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2493 ว่า "ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมี Television แล้ว"

วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2493 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นำรัฐบาลมอบหมายให้ กรมประชาสัมพันธ์เสนอ "โครงการจัดตั้งวิทยุโทรภาพ" ต่อคณะรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2493 คณะรัฐมนตรีลงมติให้จัดตั้งวิทยุโทรภาพและให้ตั้งงบประมาณใน พ.ศ. 2494

ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2493 จอมพล ป. เขียนข้อความด้วยลายมือ ถึง พล.ต.สุรจิต จารุเศรณี อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้น ให้ศึกษาจัดหาและจัดส่ง "Television"

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2498 ซึ่งถือเป็นวันชาติในสมัยนั้น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เป็นประธาน ในพิธีเปิดสำนักงาน และที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม และเริ่มแพร่ภาพออกอากาศอย่างเป็นทางการ เรียกชื่อตามอนุสัญญาสากลวิทยุ HS1/T-T.V. สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกบนผืนแผ่นดินใหญ่แห่งเอเชีย เครื่องส่งโทรทัศน์เครื่องนี้มีกำลังส่ง 10 กิโลวัตต์ ขาวดำ ระบบ 525 เส้นต่อภาพ 30 ภาพต่อวินาที (ต่อมาออกอากาศระบบวีเอชเอฟ ย่านความถี่ที่ 3 ช่อง 9 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 จนถึงปี พ.ศ. 2561 และในขณะนี้ใช้ชื่อว่า เอ็มคอตเอชดี ปัจจุบันออกอากาศในระบบยูเอชเอฟ ย่านความถี่ที่ 5 ช่อง 40 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ในระบบดิจิตอล ความคมชัดละเอียดสูง ทางช่องหมายเลข 30)(ก่อนหน้านี้ สถานีเคยออกอากาศคู่ขนานกันทั้งสองระบบ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปี พ.ศ. 2561)

ตลาดนัดกรุงเทพมหานคร

ในปี พ.ศ. 2491 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศนโยบายจัดตั้งตลาดนัดทั่วประเทศทุกสุดสัปดาห์ ในกรุงเทพฯ มีการจัดตลาดนัดขึ้นที่สนามหลวง ซึ่งเรียกว่า ตลาดนัดสนามหลวง หรือ ตลาดนัดกรุงเทพมหานคร ปัจจุบัน ตลาดนัดสนามหลวงได้ย้ายออกไปจากบริเวณสนามหลวงแล้ว โดยไปอยู่ที่ ตลาดนัดจตุจักร แทน

บ้านพักคนชรา

บ้านพักคนชราบางแค หรือ บ้านบางแค เดิมใช้ชื่อว่า "สถานสงเคราะห์คนชราบ้านบางแค" ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2496 ในสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี นับเป็นสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุแห่งแรกของประเทศไทย เพื่อให้การสงเคราะห์ผู้สูงอายุตามนโยบายสวัสดิการสังคมของรัฐ โดยเริ่มเปิดดำเนินการในสมัยของนายปกรณ์ อังศุสิงห์ เป็นอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์[26] ปัจจุบันอยู่ภายใต้การสนับสนุนของ มูลนิธิบ้านบางแคในพระอุปถัมภ์พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ

อัตลักษณ์เชิงทางการเมือง

การสร้างอัตลักษณ์ทางการเมืองของจอมพล ป. ได้มีการสร้างอัตลักษณ์ผ่าน"ไก่" โดยไก่นั้นคือกับปีระกาซึ่งเป็นปีนักษัตรที่จอมพล ป. เกิดตรงกันพอดี โดยสัญลักษณ์ไก่นั้น ได้ถูกสื่อออกมาผ่านตราต่างๆ เช่น ตราประจำจังหวัดพิบูลสงคราม หรือปูนปั้นรูปหัวไก่ ที่ประดับอยู่ตรงชายคารับพื้นระเบียงของอาคารภายในตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล หรือแม้กระทั่งจาน ชาม เก้าอี้ หัวจดหมาย ฯลฯ เพื่อเป็นการสื่อถึงอำนาจบารมีของจอมพล ป. โดยลักษณะตราไก่นั้นมีความคล้ายคลึงกับตราครุฑ (บางข้อมูลได้กล่าวไว้ว่ามีความคล้ายคลึงกับตราแผ่นดินไรซ์ที่สาม ของนาซีเยอรมันในสมัยนั้นเช่นกัน) ทำให้มีหลายๆคน เช่นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มองว่าจอมพล ป. พยายามจะทำตัวเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง

แหล่งที่มา

WikiPedia: แปลก_พิบูลสงคราม http://192.150.249.121/rarebook/rt0033.pdf http://192.150.249.121/rarebook/rt0094/21%A1%D2%C3... http://www.oknation.net/blog/print.php?id=246355 http://www.taharn.net/war/47c1.html http://www.banbangkhae.go.th/history.php http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2480/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/...