ลักษณะแผ่นดินไหว ของ แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย_พ.ศ._2547

จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับ เกาะซิเมอลูเอ ของอินโดนีเซีย

แผ่นดินไหวถูกบันทึกครั้งแรกด้วยค่าความรุนแรงแมกนิจูด 8.8 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 จึงได้ปรับเพิ่มเป็นแมกนิจูด 9.0[11] โดยศูนย์เตือนภัยสึนามิมหาสมุทรแปซิฟิกได้ยอมรับค่าใหม่นี้ ส่วนสำนักธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey) ยังคงยึดค่าเดิมที่ประมาณการไว้ที่แมกนิจูด 9.1 ด้านผลการศึกษาล่าสุดในปี พ.ศ. 2549 บ่งชี้ว่าความรุนแรงของแผ่นดินไหวมีค่าระหว่างแมกนิจูด 9.1–9.3 อย่างไรก็ตาม ดอกเตอร์ฮิโระโอะ คะนะโมริ (Hiroo Kanamori) แห่งสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนียแนะนำว่าแมกนิจูด 9.2 เหมาะสมที่จะใช้เป็นค่าตัวแทนสำหรับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ครั้งนี้[12]

จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดขึ้นใต้มหาสมุทรอินเดีย ลึกลงไป 30 กิโลเมตร (19 ไมล์) จากระดับน้ำทะเล ห่างจาก เกาะซิเมอลูเอ ไปทางทิศเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร (100 ไมล์) ซึ่งตัวเกาะตั้งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกของเกาะสุมาตรา โดยรอยเลื่อนซุนดาเมกะทรัสต์ (Sunda megathrust) ได้เลื่อนตัวแตกออกยาวถึง 1,300 กิโลเมตร (810 ไมล์)[13] ทำให้เกิดแผ่นดินไหวและตามด้วยคลื่นสึนามิ ประชาชนในประเทศบังคลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย พม่า ไทย สิงคโปร์ และมัลดีฟส์รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว[14] จากนั้นรอยเลื่อนย่อย (Splay fault) จึงขยับตาม ทำให้พื้นทะเลเกิดรอยแตกยาวในเวลาไม่กี่วินาที และเกิดน้ำทะเลยกตัวสูงและเพิ่มความเร็วแก่คลื่นให้มากขึ้น จากนั้นคลื่นสึนามิได้เข้าทำลายเมืองล็อกนา (Lhoknga) ใกล้กับเมืองบันดาอาเจะฮ์ จนราบเป็นหน้ากลอง[15]

ด้านธรณีสัณฐาน อินโดนีเซียตอนเหนือและตะวันออกใกล้กับนิวกินีจะตั้งอยู่บนแนววงแหวนแห่งไฟแห่งแปซิฟิก ส่วนตอนใต้พาดไปทางตะวันตกของประเทศเป็นแนวแผ่นดินไหวเรียกว่า แนวแอลไพด์ ผ่านเกาะติมอร์ โฟลเร็ซ บาหลี ชวา และเกาะสุมาตรา

แผนภูมิวงกลม แสดงขนาดโมเมนต์แผ่นดินไหวที่วัดได้ทั้งหมดตั้งแต่ปี ค.ศ. 1906–2005 เปรียบเทียบกับแผ่นดินไหวขนาดใหญ่แต่ละครั้ง แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียแสดงสีน้ำเงินเข้ม

แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งนี้เกิดขึ้นในเขตมุดตัวของเปลือกโลก ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวขนาดเมกะทรัสต์อยู่เสมอ มีค่าโมเมนต์แผ่นดินไหวสูงในระดับศตวรรษ โดยหากรวมค่าโมเมนต์แผ่นดินไหวทั้งหมดที่เกิดขึ้นในรอบ 100 ปี ตั้งแต่ ค.ศ. 1906 จนถึง 2005 แผ่นดินไหวที่อินโดนีเซียครั้งนี้จะมีขนาดโมเมนต์แผ่นดินไหวถึง 1 ใน 8 ของแผ่นดินไหวทั้งหมดดังกล่าว นอกจากนี้ หากรวมกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่อะแลสกา ค.ศ. 1964 และที่ชิลี ค.ศ. 1960 จะมีขนาดโมเมนต์สูงถึงครึ่งหนึ่งของแผ่นดินไหวทั้งหมดดังกล่าว หากเทียบกับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในซานฟรานซิสโกปี ค.ศ. 1906 กับแผ่นดินไหวครั้งนี้ ถือว่าครั้งนั้นมีขนาดเล็กมาก (หากแต่ครั้งนั้นเกิดความเสียหายไม่แพ้กัน)

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1900 แผ่นดินไหวในครั้งนี้ถือว่ามีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 รองจากแผ่นดินไหวในชิลี ค.ศ. 1960 (แมกนิจูด 9.5) และแผ่นดินไหวในอะแลสกา ค.ศ. 1964 (แมกนิจูด 9.2) นอกจากนี้มีอีกเพียงสองครั้งที่มีขนาดแมกนิจูด 9.0 ได้แก่ แผ่นดินไหวที่คาบสมุทรคัมชัตคา ทางตะวันออกของรัสเซีย เมื่อ ค.ศ. 1952[16] และแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น ค.ศ. 2011 เหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าวล้วนก่อให้เกิดคลื่นสึนามิในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกแทบทั้งสิ้น ถึงกระนั้นกลับมีจำนวนผู้เสียชีวิตไม่มากอย่างมีนัยสำคัญ โดยสาเหตุหลักคือ ชายฝั่งใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวมีประชากรอาศัยเบาบาง พื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวเหล่านั้นมาก รวมถึงความมีประสิทธิภาพของระบบสาธารณูปโภคและระบบเตือนภัย เช่น ในกรณีของประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ (ขนาดเมกะทรัสต์) ครั้งอื่น เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1868 ในประเทศเปรู (แผ่นเปลือกโลกนาสกาและแผ่นอเมริกาใต้) ค.ศ. 1827 ในโคลอมเบีย (แผ่นนาสกาและแผ่นอเมริกาใต้) ค.ศ. 1812 ในเวเนซูเอลา (แผ่นแคริบเบียนและแผ่นอเมริกาใต้) และแผ่นดินไหวคาสคาเดีย ค.ศ. 1700 ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกา (แผ่นฮวนเดอฟูกาและแผ่นอเมริกาเหนือ) ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คาดว่ามีความรุนแรงมากกว่าแมกนิจูด 9 แต่ไม่มีตัวเลขชัดเจนถึงขนาดที่แท้จริงในขณะนั้น

ภาพเคลื่อนไหวของคลื่นสึนามิสุมาตรา (ที่มา: องค์การสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา

ใกล้เคียง

แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮกุ พ.ศ. 2554 แผ่นดินไหวนอกชายฝั่งจังหวัดฟูกูชิมะ ค.ศ. 2022 แผ่นดินไหวในคาบสมุทรโนโตะ ค.ศ. 2024 แผ่นดินไหว แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ฮันชิง ค.ศ. 1995 แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2547 แผ่นดินไหวใน พ.ศ. 2561 แผ่นดินไหวใน พ.ศ. 2559 แผ่นดินไหวในชูเอ็ตสึ จังหวัดนีงาตะ พ.ศ. 2547 แผ่นดินไหวในอำเภอแม่ลาว พ.ศ. 2557

แหล่งที่มา

WikiPedia: แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย_พ.ศ._2547 http://www.aseannewsnetwork.com/tsunami.html http://edition.cnn.com/2005/TECH/science/05/19/sum... http://www.newscientist.com/article.ns?id=dn6991 http://guru.sanook.com/encyclopedia/%E0%B8%84%E0%B... http://www.gps.caltech.edu/~sieh/pubs_docs/papers/... http://indianoceantsunami.web.unc.edu/the-economic... http://archimer.ifremer.fr/doc/2007/publication-35... http://earthquake.usgs.gov/earthquakes/world/most_... http://soundwaves.usgs.gov/2005/03/ http://www.nat-hazards-earth-syst-sci.net/6/979/20...