ลักษณะทั่วไป ของ แพนด้ายักษ์

ถึงแม้จะจัดอยู่ในวงศ์ของหมี แต่พฤติกรรมของมันแตกต่างจากหมีโดยสิ้นเชิง แพนด้าเป็นสัตว์กินพืชเป็นอาหาร โดยร้อยละ 99 ของอาหารที่มันกินคือไผ่ แต่บางทีอาจพบว่ามันก็กินไข่ ปลา และแมลงบางชนิดในไม้ไผ่ที่มันกิน นี่เป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญ จัดได้ว่าแพนด้ายักษ์เป็นหมีที่แตกต่างไปจากหมีชนิดอื่น ๆ ที่กินเนื้อเป็นอาหารหลัก แม้ว่าไผ่จะเป็นพืชที่ให้พลังงานกิโลแคลเลอรี่ต่ำมาก ทำให้แพนด้ายักษ์ใช้เวลากินไผ่นานถึงวันละ 16 ชั่วโมง ในปริมาณไม่ต่ำกว่า 18 กิโลกรัม และขับถ่ายมากถึงวันละ 40 ครั้ง และทำให้ในช่วงฤดูหนาว แพนด้ายักษ์จะไม่จำศีลในถ้ำเหมือนกับหมีชนิดอื่น เนื่องจากไผ่ให้พลังงานสะสมไม่เพียงพอ และจากการที่มีพฤติกรรมกินไผ่เป็นอาหารเพียงอย่างเดียวนั้น เป็นสาเหตุที่ทำให้แพนด้ายักษ์เป็นสัตว์ที่แพร่ขยายพันธุ์ได้ยากด้วย โดยในรอบปี แพนด้ายักษ์ตัวเมียจะมีอาการติดสัดเพียง 1-2 วันเท่านั้น และออกลูกรวมถึงเลี้ยงลูกให้รอดจนเติบโตในธรรมชาติได้ยากมาก หากแพนด้ายักษ์แพร่ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว จะทำให้ไผ่พืชอาหารหลักหมดไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน [2] และถึงแม้แพนด้ายักษ์จะกินไผ่เป็นอาหารหลัก คิดเป็นร้อยละ 99 ของอาหารทั้งหมดก็ตาม แต่ภายในตัวของแพนด้ายักษ์กลับไม่มีจุลินทรีย์ในการช่วยย่อยไผ่ แต่กลับมีเขี้ยวสำหรับใช้กัดและเอนไซน์ในการย่อยเนื้อแทน[3] โดยลูกแพนด้ายักษ์ที่เพิ่งเกิด ตาจะยังไม่ลืมและไม่มีขน และมีน้ำหนักน้อยกว่าแพนด้ายักษ์ตัวเต็มวัยถึง 900 เท่า แต่ทว่ากลับมีอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมากที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยสามารถเพิ่มน้ำหนักตัวจากแค่ 89 กิโลกรัม เป็น 1.8 กิโลกรัม ได้ภายในเวลาเพียงเดือนเดียว[3]

หลายสิบปีที่ผ่านมา การจัดจำแนกสายพันธุ์ที่แน่นอนของแพนด้ายังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แพนด้ายักษ์และแพนด้าแดงซึ่งเป็นญาติสายพันธุ์ห่าง ๆ กัน และยังมีลักษณะพิเศษที่เหมือนทั้งหมีและแรคคูน อย่างไรก็ตาม การทดลองทางพันธุกรรมบ่งบอกว่าแพนด้ายักษ์เป็นหนึ่งในชนิดของหมี (วงศ์ Ursidae) หมีที่ชนิดใกล้เคียงที่สุดของแพนด้าคือหมีแว่นที่พบในทวีปอเมริกาใต้ (ข้อขัดแย้งที่ยังคงเป็นที่สงสัยอยู่คือแพนด้าแดงนั้นอยู่ในวงศ์ใด เป็นที่ถกเถียงว่าอาจจะอยู่ในวงศ์หมี (Ursidae), วงศ์แรคคูน, วงศ์โพรไซโอนิดี้ (Procyonidae), หรืออยู่ในวงศ์เฉพาะของมันเอง วงศ์ไอเลอริดี้ (Ailuridae)) โดยซากดึกดำบรรพ์ที่ค้นพบจากในถ้ำของประเทศจีนพบว่า แพนด้ายักษ์ถือกำเนิดมาแล้วบนโลกอย่างน้อย 2 ล้านปี แต่การที่ได้วิวัฒนาตัวเองแยกออกมาจากหมีทั่วไปนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด[3]

แพนด้ายักษ์เป็นสัตว์สปีชีส์ที่ถูกคุกคามหรืออยู่ในอันตรายต่อการสูญพันธ์ ทั้งนี้มาจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่จากการบุกรุกของมนุษย์ อัตราการเกิดต่ำทั้งในป่าและในกรงเลี้ยง เชื่อว่ามีแพนด้ายักษ์เพียง 1,600 ตัว อาศัยอยู่รอดในป่า

แพนด้ายักษ์มีอุ้งตีนที่ผิดจากธรรมดา คือมีนิ้วหัวแม่มือและมีนิ้วอีก 5 นิ้ว นิ้วหัวแม่มือที่จริงแล้วมาจากการปรับปรุงรูปแบบของกระดูกข้อต่อ ใช้ประโยชน์สำหรับหยิบจับไผ่ สตีเฟน เจย์ กาวลด์ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ โดยมีชื่อเรื่องว่า The Panda's Thumb หรือ นิ้วหัวแม่มือของแพนด้า หางของแพนด้ายักษ์นั้นสั้นมาก โดยมีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร รวมถึงมีกรามที่แบนราบเหมาะสำหรับการเคี้ยวไผ่อีกด้วย[3]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แพนด้ายักษ์ http://ngm.nationalgeographic.com/ngm/0607/feature... http://tv.ohozaa.com/hourly-rerun/tpbs/2015-02-09/... http://today.reuters.com/news/articlenews.aspx?typ... http://news.xinhuanet.com/english/2007-11/08/conte... http://panda.org/about_wwf/what_we_do/species/our_... http://news.bbc.co.uk/2/hi/science/nature/5085006.... http://news.bbc.co.uk/2/hi/science/nature/7087345.... https://commons.wikimedia.org/wiki/Giant_Panda?set...