แมงดาจาน
แมงดาจาน

แมงดาจาน

แมงดาจาน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Tachypleus gigas) เป็นแมงดาเพียงหนึ่งในสองชนิดที่พบได้ในประเทศไทย [อีกชนิดคือ แมงดาถ้วย (Carcinoscorpius rotundicauda)] และจัดเป็นหนึ่งในสองชนิดที่อยู่ในสกุล Tachypleus [อีกชนิดคือ แมงดาญี่ปุ่น (T. tridentatus)] แมงดาจานมีลักษณะกระดองแบนราบและกว้างกว่าแมงดาถ้วย หางมีลักษณะเป็นสันนูนขึ้นมาเป็นสามเหลี่ยม มีสันซึ่งมีหนามเล็ก ๆ เรียงเป็นแถวตามความยาวอยู่ตรงกลางด้านบนของหาง ตัวผู้มีขอจับพองออกเป็นกระเปาะ 2 คู่ ตัวเมียมีหนามบริเวณขอบด้านข้างของส่วนท้องขนาดยาว 3 คู่แรก และสั้น 3 คู่หลังในตัวผู้มีขนาดความยาวใกล้เคียงกัน ด้านท้องมีสีน้ำตาลอ่อนและมีสีเข้มตอนขอบหน้า ขนาดใหญ่สุดมีความกว้างของกระดอง ไม่เกิน 25 เซนติเมตร หรือประมาณเท่าจานข้าวใบใหญ่ อันเป็นที่มาของชื่อ สีของกระดองอ่อนกว่าแมงดาถ้วย ความยาวของกระดองประมาณ 35–40 เซนติเมตร พบกระจายทั่วไปในเขตชายฝั่งของมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย, ทางตะวันออกของอ่าวเบงกอล, อินโดนีเซีย, เวียดนาม, ซาราวัก, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ไทย ไปจนถึงจีน สำหรับในประเทศไทยซึ่งพบแพร่กระจายชุกชุมทั้ง 2 ฟาก ในฝั่งทะเลอันดามันพบได้ตั้งแต่บริเวณจังหวัดสมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, เพชรบุรีถึงชุมพร ในฝั่งอ่าวไทยพบได้ที่ จังหวัดสมุทรปราการ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรีจนถึงจันทบุรีแมงดาจานนั้น มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า แมงดาทะเลหางเหลี่ยม หรือ แมงดาทะเลหางสามเหลี่ยม ตามลักษณะของหาง จัดเป็นแมงดาชนิดที่รับประทานได้ โดยนิยมนำไข่และเนื้อมาย่าง หรือทำเป็นห่อหมก โดยที่พิษของแมงดาจานนั้น ในประเทศไทยยังไม่เคยมีรายงานพบ แต่ทว่าในต่างประเทศ มีรายงานพบประมาณร้อยละ 10 เช่นที่ สิงคโปร์แมงดาจานอาศัยอยู่บริเวณน้ำตื้นตามชายฝั่งทะเล โดยวางไข่ไว้บนหาดทรายด้วยการขุดหลุมประมาณ 8–12 หลุม วางไข่แต่ละครั้งประมาณ 9,000 ฟอง ช่วงต้นฤดูร้อนประมาณตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกันยายน โดยจะวางไข่ในช่วงน้ำขึ้นสูงสุดประมาณ 2–3 วัน ทุก ๆ รอบ 15 วัน ไข่มีสีเหลืองอ่อน และมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 มิลลิเมตร