ประวัติศาสตร์ ของ แมนเชสเตอร์

ประวัติศาสตร์ยุคเริ่มต้น

แมนเชสเตอร์ไม่มีหลักฐานการอยู่อาศัยของยุคก่อนประวัติศาสตร์มากนัก มีเพียงการค้นพบชุมชนกสิกรรมขนาดใหญ่ระหว่างการก่อสร้างลานวิ่งที่สองของท่าอากาศยานแมนเชสเตอร์[13]

มีการตั้งรกรากในแมนเชสเตอร์แล้วในยุคโรมันเป็นอย่างช้า[14] นายพลโรมัน ไนอุส ยูลิอุส อากริโคลา (Gnaeus Julius Agricola) ได้ก่อสร้างป้อมที่มีชื่อว่า มามูคิอุม ราว 70 ปีหลังคริสตกาล ที่บริเวณเนินเขา ซึ่งแม่น้ำเมดลอกและแม่น้ำเออร์เวลล์ มาบรรจบกัน ฐานของป้อมรุ่นสุดท้ายยังคงปรากฏอยู่ที่คาสเซิลฟิลด์ ชาวโรมันถอนตัวออกในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5 และการตั้งถิ่นฐานได้ย้ายไปยังจุดที่แม่น้ำเออร์เวลล์และแม่น้ำเอิร์กบรรจบกันตั้งแต่ก่อนชัยชนะของชาวนอร์แมนที่อังกฤษในปีพ.ศ. 1609[15]

แผนที่เมืองแมนเชสเตอร์ราว ค.ศ. 1650

โทมัส เดอลาแวร์ เจ้าคฤหาสน์ ได้ก่อตั้งโบสถ์ของวิทยาลัยขึ้นสำหรับตำบลในปีพ.ศ. 1964 โดยปัจจุบันเป็นมหาวิหารแมนเชสเตอร์ และสถานที่วิทยาลัยได้เป็นที่ตั้งของห้องสมุดเชแทมและโรงเรียนดนตรีเชเทม[13][15]

ราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 แมนเชสเตอร์มีช่างทอผ้าชาวฟลามส์ไหลบ่ามาจำนวนมาก โดยมักถือว่าเป็นรากฐานของอุตสาหกรรมสิ่งทอในภูมิภาค[16] แมนเชสเตอร์กลายมาเป็นศูนย์กลางสำคัญของการผลิตและค้าขายขนแกะและลินิน

เริ่มมีการใช้ฝ้ายปริมาณมากในช่วงเริ่มต้นศตวรรษที่ 17 โดยเริ่มต้นที่ผ้าฝ้ายผสมลินินเนื้อหยาบ แต่เมื่อประมาณกลางศตวรรษที่ 18 ผ้าฝ้ายบริสุทธิ์ก็เริ่มมีการผลิตและก็ได้เป็นวัสดุสำคัญแทนที่ขนสัตว์[15] แม่น้ำเออร์เวลล์และเมอร์ซีย์สามารถแล่นเรือผ่านได้ในปี พ.ศ. 2279 เปิดเส้นทางจากแมนเชสเตอร์ไปยังท่าเรือนฝั่งเมอร์ซีย์ คลองบริดจ์วอเทอร์ (Bridgewater canal) เปิดใช้ในปี พ.ศ. 2304 นำถ่านหินจากเหมืองที่เวอร์สลีย์มายังใจกลางแมนเชสเตอร์ คลองนี้ขยายต่อไปยังเมอร์ซีย์ในปีพ.ศ. 2319 การแข่งขันและประสิทธิภาพที่พัฒนาขึ้นทำให้ต้นทุนถ่านหินและค่าขนส่งฝ้ายดิบลดลงถึงครึ่งหนึ่ง[15][13] แมนเชสเตอร์กลายมาเป็นตลาดสำคัญของสิ่งทอจากเมืองรอบๆ[15] ตลาดแลกเปลี่ยนสินค้า เปิดขึ้นในปีพ.ศ. 2272[17] และคลังสินค้าจำนวนมาก ช่วยพัฒนาการพานิชย์ของเมือง ในปีพ.ศ. 2323 ริชาร์ด อาร์กไรท์ (Richard Arkwright) เริ่มก่อสร้างโรงฝ้ายแห่งแรกของแมนเชสเตอร์[13][17]

การปฏิวัติอุตสาหกรรม

การปั่นฝ้ายส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่แลงคาเชอร์ใต้และเชสเชอร์เหนือ เขตรอบนอกของแมนเชสเตอร์ และในช่วงหนึ่งแมนเชสเตอร์ได้เป็นศูนย์กลางการผลิตฝ้ายที่มีการผลิตมากที่สุด[18] และในเวลาต่อมา เป็นตลาดสินค้าฝ้ายที่ใหญ่ที่สุดในโลก[15][19] แมนเชสเตอร์มีฉายาว่า "คอตตอโนโพลิส" และ "แวร์เฮาส์ซิตี" ในยุควิกตอเรีย[18]

แมนเชสเตอร์พัฒนาอุตสาหกรรมในหลากหลายสาขา ทำให้ได้รับยกย่องว่า ในปี พ.ศ. 2378 "แมนเชสเตอร์เป็นเมืองอุตสาหกรรมแรกและที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างไม่มีข้อสงสัย"[19] ธุรกิจทางวิศวกรรมเริ่มแรกเกี่ยวข้องกับการค้าฝ้าย แต่ภายหลังขยายไปยังการผลิตทั่วไป อุตสาหกรรมเคมีก็เริ่มต้นจากการผลิตน้ำยาฟอกสีและย้อมสี และจึงขยายไปยังสาขาอื่น การค้าขายได้รับการสนับสนุนจากธุรกิจการเงิน เช่น การธนาคารและการประกันภัย การค้าขายและประชากรที่เพิ่มขึ้นจำเป็นต้องมีระบบขนส่งและจัดจำหน่าย ทำให้มีการขยายระบบคลอง และแมนเชสเตอร์กลายมาเป็นเมืองปลายทางหนึ่งในทางรถไฟโดยสารระหว่างเมืองสายแรกของโลก นั่นคือทางรถไฟลิเวอร์พูล-แมนเชสเตอร์ การแข่งขันระหว่างการขนส่งหลากหลายรูปแบบทำให้ต้นทุนการขนส่งต่ำ[15] ในปีพ.ศ. 2421 จีพีโอ หรือสำนักงานไปรษณีย์ ให้บริการโทรศัพท์ครั้งแรกกับบริษัทในแมนเชสเตอร์[20]

มีการขุดคลอง แมนเชสเตอร์ ชิป เคอนาล (Manchester Ship Canal) ช่วยให้เรือจากมหาสมุทรตรงเข้าสู่ท่าเรือแมนเชสเตอร์ได้ โดยนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกของโลกเกิดขึ้นบนชายฝั่งคลองนี้ที่แทรฟฟอร์ดพาร์ก[15] ในฐานะศูนย์กลางของระบอบทุนนิยม ก็ได้มีการจลาจลจากกลุ่มชนชั้นแรงงาน แมนเชสเตอร์เป็นหัวข้อศึกษาในเรื่อง ความเป็นอยู่ของชนชั้นแรงงานในอังกฤษ (Die Lage derarbeitenden Klasse in England) ของฟรีดริช เองเงิลส์ โดยเองเงิลส์ได้ใช้เวลาพอสมควรในและรอบๆแมนเชสเตอร์[21]จำนวนโรงปั่นฝ้ายในแมนเชสเตอร์ขึ้นถึงจุดสูงสุด 108 แห่งในปีพ.ศ. 2396[18] ในปีพ.ศ. 2456 ร้อยละ 65 ของฝ้ายในโลกผลิตขึ้นในบริเวณนี้ แต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งลดโอกาสการส่งออกในเวลาต่อมา[15]

สงครามโลกครั้งที่สอง

ตู้ไปรษณีย์ที่รอดจากเหตุการณ์ระเบิด บนตู้มีแผ่นป้ายเขียนว่า "ตู้ไปรษณีย์นี้แทบไม่ได้รับความเสียหายในวันที่ 15 มิถุนายน 1996 เมื่อบริเวณนี้ถูกระเบิดทำลายอย่างหนัก ตู้นี้ถูกนำออกระหว่างการฟื้นฟูใจกลางเมือง และนำมาตั้งไว้ที่เดิมเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 1999"

บริเวณแมนเชสเตอร์มีการระดมกำลังอย่างหนัก เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆของสหราชอาณาจักรในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แมนเชสเตอร์เป็นเป้าหมายหลักแห่งหนึ่งของกองทัพอากาศเยอรมนี และการโจมตีทางอากาศได้ขยายไปยังเป้าหมายพลเรือนด้วย พื้นที่ส่วนใหญ่ของศูนย์กลางเมืองถูกทำลาย มีผู้เสียชีวิต 376 คนและบ้านถึง 30,000 หลัง[22] มหาวิหารแมนเชสเตอร์เป็นที่หนึ่งที่โดนโจมตีอย่างหนัก โดยต้องใช้เวลาฟื้นฟูถึง 20 ปี[23]

หลังจากสงครามสงบลง อุตสาหกรรมและการค้าฝ้ายยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง และตลาดแลกเปลี่ยนได้ปิดตัวลงในพ.ศ. 2511[15] ในปีพ.ศ. 2506 ท่าเรือแมนเชสเตอร์เป็นท่าเรืออันดับสามของประเทศ[24] มีการจ้างงานกว่า 3,000 คน แต่คลองไม่สามารถรองรับเรือบรรทุกขนาดใหญ่ได้ การจราจรจึงลดลง และท่าเรือต้องปิดในปีพ.ศ. 2525[25] อุตสาหกรรมหนักซบเซาลงตั้งแต่ช่วงหลังปีพ.ศ. 2500 และลดจำนวนลงอย่างมากหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจในรัฐบาลของมาร์กาเรต แทตเชอร์ (ตั้งแต่พ.ศ. 2522) แมนเชสเตอร์มีงานน้อยลงถึง 150,000 งานระหว่างปีพ.ศ. 2504 และ 2526[15]

การฟื้นฟูเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 2530 โดยมีสิ่งใหม่ๆเช่น เมโทรลิงก์ บริดจ์วอเทอร์คอนเสิร์ตฮอลล์ และแมนเชสเตอร์อีฟนิงนิวส์อารีนา การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิก เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มชื่อเสียงในต่างประเทศ[26]

เหตุการณ์ระเบิด

วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2540 กลุ่มกองทัพสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (ไออาร์เอ หรือพีไออาร์เอ) วางระเบิดขนาดใหญ่ใกล้ห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 200 คน สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่อาคารโดยรอบ มีการจ่ายเงินประกันภัยสูงถึงกว่าสี่ร้อยล้านปอนด์[27]

จากการลงทุนหลังเหตุระเบิดและคอมมอนเวลท์เกมส์ครั้งที่ 17 ศูนย์กลางของเมืองแมนเชสเตอร์ได้มีการปฏิรูปหลายสิ่ง[26] มีหลายแห่งที่สร้างขึ้นหรือปรับปรุงใหม่ และได้กลายมาเป็นแหล่งชอปปิ้งและบันเทิงยอดนิยม แมนเชสเตอร์แอมเดลเป็นศูนย์การค้ากลางเมืองที่ใหญ่ที่สุดในสหราชอาณาจักร[28]

แหล่งที่มา

WikiPedia: แมนเชสเตอร์ ftp://ftp.atdd.noaa.gov/pub/GCOS/WMO-Normals/RA-VI... http://www.btplc.com/Thegroup/BTsHistory/1851to188... http://www.carnegiepublishing.com/product/view/46 http://www.climate-charts.com/Locations/u/UK03334.... http://www.oup.com/uk/catalogue/?ci=9780195168969 http://oxforddictionaries.com/definition/english/M... http://www.oxfordreference.com/view/10.1093/acref/... http://www.prupim.com/about/properties/showPropert... http://www.visitmanchester.com/ http://www.visitmanchester.com/Parts2.aspx?Experie...