พระประวัติ ของ แม่เจ้าบัวไหล

แม่เจ้าบัวไหล เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2390 ที่เมืองนครน่าน เป็นธิดาในพระยาไชยสงคราม เชื้อสายเจ้าเจ็ดตนทางพะเยา กับ เจ้านางอิ่น ชาวไทยอง [1] มีเจ้าเชษฐาและเชษฐภคินีร่วมอุทร ได้แก่ 1.เจ้าจอมแปง (เจ้านางของ ซึ่งเป็นชายาเดิมพระยาไชยสงครามได้ขอไปอุปการะที่พะเยา) 2.เจ้าเทพรส รสเข้ม (ฝาแฝดกับเจ้าจอมแปง) 3.เจ้านางสามผิว (ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรงท้องร่วงตอนอายุ 13 ปี) ตอนเกิด พระยาไชยสงครามถูกเรียกตัวจากเมืองน่านมายังกรุงเทพฯ เนื่องจากต้องคดี เรื่อง ช่วยเจ้าหลวงนครน่าน ยกพลไปกวดต้อนตีเอาเมืองหัวพันห้าทั้งหกที่แคว้นสิบสองปันนา กวาดต้อนเชลยศึกชาวไทลื้อชาวไทยอง มาไว้ที่เขตนาน้อยเมืองน่าน ดังนั้นจึงต้องเดินทางโดยเรือขณะที่น้ำน่านนองเต็มฝั่ง บิดาเลยตั้งชื่อให้ว่า "บัวไหล" [2]

แม่เจ้าบัวไหลได้รับการสถาปนาให้ดูแลเมืองแพร่ ก่อนที่เจ้าพิริยเทพวงษ์จะกลับจากราชการที่กรุงเทพมหานคร ชาวเมืองแพร่จึงเรียกขานเจ้าบัวไหลว่า "แม่เจ้าหลวง" และต่อมาได้รับการเสกสมรสและแต่งตั้งให้เป็นชายาของเจ้าผู้ครองนครแพร่ ในตอนเด็กบัวไหลได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบเจ้านายตามขนบธรรมเนียมล้านนามาอย่างดี มีฝีมือในการเย็บปักผ้าและงานปักเย็บทุกชนิด ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว บัวไหลได้ปักผ้าม่านและหมอนขวาน ตลอดจนเครื่องใช้ต่าง ๆ ถวาย เป็นที่โปรดปรานของรัชกาลที่ 5 ถึงกับได้รับการโปรดให้จัดห้องเฉพาะ แล้วพระราชทานให้ชื่อว่า "ห้องบัวไหล" นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณและเป็นเกียรติประวัติอันสูงยิ่ง เพื่อแสดงถึงเจ้านายสตรีทางเหนือ เป็นผู้มีฝีมือในงานศิลปะปักเย็บอย่างยอดเยี่ยม และตามคำกราบบังคมทูลของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ว่า บัวไหลเป็นผู้หญิงดีในเมืองลาวเฉียงเวลาเจ้านครแพร่ลงมากรุงเทพฯ ก็ว่าราชการบ้านเมืองแทนสามี

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 ก็เกิดการจลาจลเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ เจ้าพิริยเทพวงษ์ต้องโทษกบฏ ถูกถอดยศและได้หลบภัยไปประทับที่หลวงพระบาง ประเทศลาว และไม่ได้กลับมาอีกเลยจนกระทั่งถึงแก่กรรมที่นั่น ส่วนบัวไหลพร้อมด้วยบุตรหลานได้ถูกควบคุมตัวไปกรุงเทพฯ ตามพระบรมราชโองการ ภายใต้การควบคุมดูแลของพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศขณะนั้น) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เป็นเวลา 4-5 ปี จึงได้รับพระบรมราชานุญาตให้กลับคืนบ้านเมืองได้ โดยในบั้นปลายของชีวิต บัวไหลได้ประทับกับบุตรสาวคนเล็กและบุตรเขยที่จวนข้าหลวงประจำจังหวัดเชียงราย และถึงแก่กรรมที่เชียงราย เมื่อ พ.ศ. 2475 สิริอายุได้ 85 ปี