คำชื่นชมและวิจารณ์ ของ แฮร์รี่_พอตเตอร์

การวิจารณ์ทางวรรณกรรม

ในช่วงแรก ๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี ทำให้นวนิยายชุดนี้ขยายฐานผู้อ่านออกไปอย่างมาก หนังสือเล่มแรกของชุดคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้จุดประเด็นความสนใจแก่หนังสือพิมพ์ของสกอตแลนด์หลายเล่ม เช่น The Scotsman บอกว่าหนังสือเล่มนี้ "มีทุกอย่างของความคลาสสิก"[91] หรือ The Glasgow Herald ตั้งสมญาให้ว่าเป็น "สิ่งมหัศจรรย์"[91] ไม่นานหนังสือพิมพ์ของทางอังกฤษก็เข้าร่วมวงด้วย มีหนังสือพิมพ์มากกว่า 1 เล่มเปรียบเทียบงานเขียนชุดนี้กับงานของโรอัลด์ ดาห์ล หนังสือพิมพ์ The Mail on Sunday เรียกหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น "งานเขียนที่เปี่ยมจินตนาการนับแต่ยุคของโรอัลด์ ดาห์ล"[91] ส่วน The Guardian เรียกหนังสือนี้ว่า "นวนิยายอันงดงามที่สร้างโดยนักประดิษฐ์อัจฉริยะ"[91]

ครั้นเมื่อหนังสือออกวางจำหน่ายถึงเล่มที่ห้า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ นวนิยายก็ได้รับการวิจารณ์ที่หนักหน่วงขึ้นจากเหล่านักวิชาการด้านวรรณกรรม เฮโรลด์ บลูม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยล นักวิชาการวรรณศิลป์และนักวิจารณ์ เป็นผู้ยกประเด็นการวิจารณ์วรรณกรรมเกี่ยวกับศีลธรรม เขากล่าวว่า "ในใจของโรว์ลิงมีแต่เรื่องอุปมาเกี่ยวกับความตายวนไปวนมา ไม่มีลีลาการเขียนแบบอื่นเลย"[92] เอ. เอส. ไบแอต นักเขียนประจำนิวยอร์กไทมส์ บอกว่าจักรวาลในเรื่องของโรว์ลิงสร้างขึ้นจากจินตนาการที่ผสมปนเปจากวรรณกรรมเด็กหลาย ๆ เรื่อง และเขียนขึ้นเพื่อคนที่มีจินตนาการหมกมุ่นกับการ์ตูนทีวี โลกในฟองสบู่ที่เว่อร์เกินจริง รายการรีแอลิตี และข่าวซุบซิบดารา[93]

นักวิจารณ์ชื่อ แอนโทนี โฮลเดน เขียนความรู้สึกของเขาจากการตัดสินรางวัลวิทเบรด ปี ค.ศ. 1999 ส่วนที่เกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ไว้ใน The Observer โดยที่ค่อนข้างมีมุมมองไม่ค่อยดี เขากล่าวว่า "มหากาพย์พอตเตอร์เป็นงานอนุรักษนิยม ย้อนยุค โหยหาความเป็นอดีตและระบบอุปถัมภ์ในอดีตของอังกฤษที่ผ่านไปแล้ว" เขายังวิจารณ์อีกว่าเป็น "งานเขียนร้อยแก้วที่ผิดไวยากรณ์ ใช้สำนวนตลาด"[94]

แต่ในทางตรงกันข้าม เฟย์ เวลดอน นักเขียนผู้ยอมรับว่านวนิยายชุดนี้ "ไม่ใช่งานที่กวีจะชื่นชอบ" แต่ก็ยอมรับว่า "มันไม่ใช่กวีนิพนธ์ มันเป็นร้อยแก้วที่อ่านเข้าใจง่าย อ่านได้ทุกวัน และขายได้"[95] เอ. เอ็น. วิลสัน นักวิจารณ์วรรณกรรม ยกย่องนวนิยายชุดนี้ใน The Times โดยระบุว่า "มีนักเขียนไม่มากนักเหมือนอย่างเจ. เค. ผู้มีความสามารถดังหนึ่งดิกคินส์ ที่ทำให้เราต้องรีบพลิกอ่านหน้าต่อไป ทำให้เราร้องไห้อย่างไม่อาย พอไม่กี่หน้าถัดไปเราก็ต้องหัวเราะกับมุกตลกที่แทรกอยู่สม่ำเสมอ ... เรามีชีวิตอยู่ตลอดทศวรรษที่เฝ้าติดตามงานตีพิมพ์อันมีชีวิตชีวาที่สุด สนุกสนานที่สุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา"[96] ชาลส์ เทย์เลอร์ แห่ง salon.com นักวิจารณ์ภาพยนตร์ เห็นด้วยกับความคิดของไบแอต แต่เขาก็ยอมรับว่าผู้ประพันธ์อาจจะ "มีจุดยืนทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง คือความเป็นวัยรุ่น มันเป็นแรงกระตุ้นของพวกเราที่จะเข้าใจความเหลวไหลของยุคสมัยใหม่ ซึ่งแตกต่างกับความซับซ้อนของศิลปะยุคเดิม"[97]

สตีเฟน คิง เรียกนวนิยายชุดนี้ว่า "ความกล้าหาญซึ่งผู้มีจินตนาการอันล้ำเลิศเท่านั้นจึงจะทำได้" และยกย่องการเล่นถ้อยคำสำนวนตลอดจนอารมณ์ขันของโรว์ลิงในนิยายชุดนี้ว่า "โดดเด่น" แม้เขาจะบอกว่านิยายชุดนี้จัดว่าเป็นนิยายที่ดี แต่ก็บอกด้วยว่า ในตอนต้นของหนังสือทั้งเจ็ดเล่มที่พบแฮร์รี่ที่บ้านลุงกับป้านั้นค่อนข้างน่าเบื่อ[33] คิงยังว่า "โรว์ลิงจะไม่ใช้คำขยายความที่เธอไม่ชอบ!" เขายังทำนายด้วยว่า นวนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ "จะยืนยงท้าทายการทดสอบของกาลเวลา และอยู่บนหิ้งที่เก็บหนังสือดีที่สุดเท่านั้น ผมคิดว่าแฮร์รี่ได้เทียบขั้นกับอลิซ, ฮัค, โฟรโด และโดโรธีแล้ว นิยายชุดนี้จะไม่โด่งดังเพียงทศวรรษนี้ แต่จะยืนยงตลอดกาล"[98]

การวิจารณ์ทางวัฒนธรรม

นิตยสารไทมส์ประกาศให้โรว์ลิงเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์เป็น "บุคคลแห่งปี" ของไทมส์ในปี ค.ศ. 2007 ในฐานะที่มีผลงานโดดเด่นทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากต่อกลุ่มแฟนคลับของเธอ[99] ทว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีต่อนิยายชุดนี้ก็มีทั้งด้านดีและไม่ดีปะปนกัน นักวิจารณ์หนังสือจากวอชิงตันโพสต์ รอน ชาลส์ แสดงความเห็นของเขาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 ว่าจำนวนผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนมากซึ่งอ่านหนังสืออื่นค่อนข้างน้อย อาจสะท้อนถึงตัวอย่างที่ไม่ดีของวัฒนธรรมวัยเด็ก รูปแบบการนำเสนอแบบตรงไปตรงมาในเรื่องที่แยกระหว่าง "ความดี-ความเลว" อย่างชัดเจนนั้นก็เป็นแนวทางแบบเด็ก ๆ เขายังบอกว่า ไม่ใช่ความผิดของโรว์ลิงเลย แต่วิธีทางการตลาดแบบ "ฮีสทีเรีย" (กรี๊ดกร๊าดคลั่งไคล้อย่างรุนแรง) ที่ปรากฏให้เห็นในการตีพิมพ์หนังสือเล่มหลัง ๆ "ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันหลงใหลเสียงกรีดร้องในโรงมหรสพ ประสบการณ์สื่อแบบมหาชนซึ่งนิยายอื่นอาจจะทำให้ไม่ได้"[100]

เจนนี่ ซอว์เยอร์ เขียนไว้ใน Christian Science Monitor เมื่อ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ว่า หนังสือชุดนี้เป็นตัวแทนถึง "จุดเปลี่ยนค่านิยมการเล่านิทานและสังคมตะวันตก" โดยที่ในนิยายชุดนี้ "หัวใจแห่งศีลธรรมกำลังเหือดหายไปจากวัฒนธรรมยุคใหม่... หลังจากผ่านไป 10 ปี, 4195 หน้า และ 375 ล้านเล่ม ท่ามกลางความสำเร็จอย่างสูงยิ่งของ เจ. เค. โรว์ลิง แต่เสาหลักของวรรณกรรมเด็กอันยิ่งใหญ่กลับขาดหายไป นั่นคือการเดินทางของวีรบุรุษเพื่อยืนหยัดความถูกต้อง" ซอว์เยอร์กล่าวว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่เคยประสบความท้าทายทางศีลธรรม ไม่เคยตกอยู่ใต้ภาวะลำบากระหว่างความถูกผิด ดังนั้นจึง "ไม่เคยมีสถานการณ์ใดที่ความถูกผิดไม่เป็นสีขาวและสีดำ"[101]

คริส ซุลเลนทรอพ ให้ความเห็นคล้ายคลึงกันใน Slate Magazine เมื่อ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 เขาเปรียบพอตเตอร์ว่าเป็น "เด็กผู้เป็นที่ไว้วางใจและชื่นชมที่โรงเรียน อันเป็นผลงานส่วนมากจากของขวัญที่เพื่อนและครอบครัวทุ่มเทให้" เขาสังเกตว่า ในนิยายของโรว์ลิงนั้น ศักยภาพและความสามารถทางเวทมนตร์เป็น "สิ่งที่คุณเกิดมาพร้อมกับมัน ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะไขว่คว้ามาได้" ซุลเลนทรอพเขียนว่า คำคมของดัมเบิลดอร์ที่ว่า "เราต้องเลือกเองที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่กว่าความสามารถของเรา" เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ ในเมื่อโรงเรียนที่ดัมเบิลดอร์บริหารอยู่นั้นให้ความสำคัญกับพรสวรรค์ที่มีมาแต่กำเนิดมากกว่าอะไรทั้งนั้น[102] อย่างไรก็ดี ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2007 คริสโตเฟอร์ ฮิทเชนส์ รีวิว แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต โดยยกย่องโรว์ลิงว่าได้ปรับเปลี่ยน "นิทานเกี่ยวกับโรงเรียนในอังกฤษ" ที่มีมาแต่ไหนแต่ไร ที่เคยมีแต่เรื่องเพ้อฝัน ความร่ำรวย ชนชั้น และความเป็นผู้ดี ให้กลายเป็น "โลกของประชาธิปไตยและความเปลี่ยนแปลงของวัยหนุ่มสาว"[103]

การโต้แย้งต่าง ๆ

หนังสือชุดนี้ตกเป็นประเด็นโต้แย้งทางกฎหมายมากมายหลายคดี มีทั้งการฟ้องร้องจากกลุ่มคริสเตียนอเมริกันว่าการใช้เวทมนตร์คาถาในหนังสือเป็นการเชิดชูศิลปะของพวกพ่อมดแม่มดให้แพร่หลายในหมู่เด็ก ๆ รวมถึงข้อขัดแย้งอีกหลายคดีเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า การที่นวนิยายชุดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากและครอบครองมูลค่าตลาดสูงมาก ทำให้โรว์ลิง สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ของเธอ รวมถึงวอร์เนอร์ บราเธอร์ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ของตน ทั้งนี้รวมถึงการห้ามจำหน่ายสินค้าลอกเลียนแบบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เหล่าเจ้าของเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ใช้ชื่อโดเมนคาบเกี่ยวกับคำว่า "แฮร์รี่ พอตเตอร์" พวกเขายังฟ้องนักเขียนอีกคนหนึ่งคือ แนนซี สโตฟเฟอร์ เพื่อตอบโต้การที่เธอออกมากล่าวอ้างว่า โรว์ลิงลอกเลียนแบบงานเขียนของเธอ[104][105][106] กลุ่มนักอนุรักษนิยมทางศาสนาจำนวนมากอ้างว่า หนังสือชุดนี้เชิดชูศาสตร์ของพ่อมดแม่มด ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก[107] นอกจากนี้ยังมีนักวิจารณ์อีกจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนังสือชุดนี้มีแง่มุมทางการเมืองซ่อนอยู่หลายประการ[108][109]

ใกล้เคียง

แฮร์รี่ พอตเตอร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ แฮร์รี เคน แฮร์รี แมไกวร์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ (ภาพยนตร์ชุด) แฮร์รี่ พอตเตอร์ (ตัวละคร) แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม (ภาพยนตร์) แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (ภาพยนตร์) แฮร์รอดส์ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาค 2

แหล่งที่มา

WikiPedia: แฮร์รี่_พอตเตอร์ http://www.cbc.ca/arts/story/2006/06/26/rowling-po... http://www.alibris.com/search/books/qwork/1198169/... http://www.arthuralevinebooks.com/awards.asp http://www.bbc.com/news/entertainment-arts-3466071... http://www.bloomsbury.com/harrypotter/ http://www.bloomsbury.com/harrypotter/default.aspx... http://www.boston.com/news/globe/editorial_opinion... http://www.boxofficemojo.com/alltime/world/ http://www.businessweek.com/innovate/content/jul20... http://www.businessweek.com/magazine/content/05_22...