กิจกรรม ของ โกนิงส์ดัค

กิจกรรมและเทศกาลที่จัดขึ้นในวัน โกนิงส์ดัค มักถูกจัดโดยคณะกรรมการออเรนจ์ซึ่งเป็นสมาคมระดับท้องถิ่น[28] ที่คอยจัดหาทุนสนับสนุนและเงินบริจาคสำหรับจัดกิจกรรม อย่างไรก็ดีในช่วงไม่กี่ปีมานี้คณะกรรมการเผชิญกับความยากลำบากในการสรรหาสมาชิกชาวดัตช์รุ่นใหม่เข้ามาสานภารกิจต่อ[29]

ตลาดนัดขายของเก่า

ไฟรมากต์ ในกรุงเฮก วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2548 ไฟรมากต์ ในงานวัน โกนิงงินเนอดัค พ.ศ. 2554 ณ เมืองเดเวนเตอร์

ไฟรมากต์ (แปลตรงตัวว่าตลาดเสรี) คือตลาดนัดขายของเก่าที่จัดขึ้นทั่วประเทศ ที่ซึ่งผู้คนมากมายต่างร่วมกันนำเอาข้าวของที่ใช้แล้วมาวางจำหน่าย โดยวัน โกนิงส์ดัค นี้เองที่รัฐบาลดัตช์อนุญาตให้มีการขายของตามท้องถนนโดยไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้[30] ในปี พ.ศ. 2554 ธนาคารไอเอ็นจีพบว่าผู้อยู่อาศัยชายดัตช์จำนวนหนึ่งในห้าวางแผนที่จะออกร้านขายของในเทศกาล ไฟรมากต์ และคาดการณ์ว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะขายของได้เป็นเงินเฉลี่ยคนละ 100 ยูโร จากยอดขายคาดการณ์รวมทั้งประเทศ 290 ล้านยูโร ทางด้านผู้ซื้อ ธนาคารไอเอ็นจีพบว่าชาวดัตช์มากกว่าครึ่งหนึ่งจะซื้อข้าวของที่ ไฟรมากต์ และคาดการณ์ว่าแต่ละคนจะใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 28 ยูโร ในงานเทศกาลประจำปี พ.ศ. 2554 ดังกล่าว[31] โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าพระราชินีนาถเบียทริกซ์ทรงเลือกซื้อข้าวของจาก ไฟรมากต์ ด้วยเช่นกัน ซึ่งในปี พ.ศ. 2538 พระองค์ทรงเลือกซื้อโคมไฟตั้งพื้นกลับไป[32] ธนาคารไอเอ็นจียังคาดการณ์อีกว่าปริมาณการขายที่ต่ำสุดของเทศกาล ไฟรมากต์ ปี พ.ศ. 2554 จะอยู่ที่จังหวัดลิมบูร์ก ซึ่งเป็นสถานที่ที่พระราชินีนาถเบียทริกซ์เสด็จฯ ไปเยือน[31]

สำหรับ ไฟรมากต์ ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศคือตลาดในเขตยอร์ดานของกรุงอัมสเตอร์ดัม ในขณะที่ตลาดในเขตอาโปลโลลานหน้าโรงแรมฮิลตันซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของกรุงอัมสเตอร์ดัมและมีพื้นที่กว้างกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้เหล่าเด็ก ๆ อายุน้อยยังนิยมขายของเล่นที่ไม่ใช้แล้วและผ้าแพรของตนที่ตลาดในเขตโฟนเดิลปาร์กซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ของกรุงอัมสเตอร์ดัมเช่นกัน ทั้งนี้ผู้คนที่ผ่านไปมามักไม่ได้จริงจังกับการซื้อหาของจากเด็ก ๆ อายุน้อยเหล่านี้มากนัก พวกเขาแค่ต้องการจะให้เงินแก่เด็ก ๆ มากกว่าการซื้อของที่ตนต้องการ เพื่อที่จะสร้างบรรยากาศอันสนุกสนานสำหรับเทศกาลนั่นเอง[33]

ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2539 เทศกาล ไฟรมากต์ จะจัดขึ้นในเย็นของวันก่อนหน้าเรื่อยไปจนถึงวันงาน โกนิงส์ดัค เป็นเวลา 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีประเพณีได้ถูกยกเลิกไปเพื่อให้มีช่วงเวลาหยุดพักสำหรับการเตรียมงานเฉลิมฉลองวัน โกนิงส์ดัค ในช่วงกลางวัน[4] มีเพียงเมืองยูเทรกต์เท่านั้นที่ยังคงไว้ซึ่ง ไฟรมากต์ ในช่วงกลางคืนตามประเพณีแบบดั้งเดิม[19]

งานเทศกาล

งานแสดงดนตรีโดยวงดนตรีดัตช์ ลีฟ ในกรุงเฮก ช่วงการเฉลิมฉลอง โกนิงงินเนอนัคต์ พ.ศ. 2551ผู้คนต่างพากันเฉลิมฉลองด้วยเครื่องแต่งกายสีส้มในกรุงอัมสเตอร์ดัม วัน โกนิงงินเนอดัค พ.ศ. 2550

ปัจจุบันการจัดงานเฉลิมฉลองวัน โกนิงส์ดัค เป็นไปด้วยการเฉลิมฉลองขนานใหญ่อันประกอบไปด้วยกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ งานแสดงดนตรี กิจกรรมพิเศษตามสถานที่สาธารณะโดยเฉพาะในกรุงอัมสเตอร์ดัม งานแสดงดนตรีกลางแจ้งบริเวณมือเซอึมไปลน์ (Museumplein) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 800,000 คน ทั้งนี้งานเทศกาลและกิจกรรมกลางแจ้งต่าง ๆ จำเป็นต้องยุติลงภายในเวลา 20.00 น. เพื่อให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านได้ทันขบวนรถไฟเที่ยวสุดท้าย อย่างไรก็ดีงานแสดงดนตรีกลางแจ้งที่มือเซอึมไปลน์มักจะยุติลงในเวลา 21.00 น.[19] ในวันดักล่าว บริเวณใจกลางเมืองจะถูกปิดการจราจรไม่ให้รถยนต์ผ่าน บริการรถรางสาธารณะจะหยุดให้บริการชั่วคราว และประชาชนผู้สัญจรจะได้รับคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงสถานีรถไฟอัมสเตอร์ดัมแซ็นตราล (Amsterdam Centraal) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟหลักของเมือง ให้หันไปใช้สถานีรถไฟอื่นที่สามารถเดินทางไปยังจุดหมายได้แทน ขบวนรถไฟระหว่างประเทศเองก็ถูกเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปหยุดอยู่แค่สถานีรถไฟในเขตชานเมืองเท่านั้น[34]

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา งานสังสรรค์รื่นเริงและงานแสดงดนตรีถูกจัดขึ้นในเย็นของวันก่อนหน้าวัน โกนิงส์ดัค ซึ่งก่อนปี พ.ศ. 2556 สถานบันเทิงกลางคืนทั่วทั้งเนเธอร์แลนด์จะร่วมกันจัดงานพิเศษที่ชื่อว่า โกนิงงินเนอนัคต์ หรือ ค่ำคืนของพระราชินีนาถ (Koninginnenacht)[35] ผู้คนหนุ่มสาวจำนวนมากจะร่วมเฉลิมฉลองกันตามท้องถนนและจัตุรัสของเมือง (รวมถึงตามคูคลองของกรุงอัมสเตอร์ดัม) ตลอดกันทั้งคืน และหลังจากการเฉลิมฉลองในช่วงกลางคืนสิ้นสุดลง ผู้คนก็จะพากันเข้าร่วมงาน ไฟรมากต์ ในช่วงกลางวันต่อเนื่องกันไป[13]

แม้ว่าการเฉลิมฉลองในวันพระราชาจะจัดขึ้นทั่วทั้งเนเธอร์แลนด์ แต่สถานที่ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือกรุงอัมสเตอร์ดัม ที่ซึ่งชาวเมืองกว่า 750,000 คน ต่างพากันออกมาเฉลิมฉลองร่วมกับผู้มาเยือนที่มากถึง 1 ล้านคน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางการเมืองอัมสเตอร์ดัมจึงออกมาตรการเพื่อจัดการและจำกัดการเดินทางสัญจรของผู้คน เนื่องจากตัวเมืองอัมสเตอร์ดัมไม่สามารถรองรับปริมาณคนจำนวนมากขนาดนี้ได้[36]

ทั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมการเฉลิมฉลองวันโกนิงส์ดัคมักจะย้อมผมของตนเป็นสีส้มและสวมใส่เสื้อผ้าสีส้ม เพื่อเป็นเกียรติแก่ราชวงศ์ออเรนจ์-นัสเซาซึ่งปกครองเนเธอร์แลนด์มาเป็นเวลานาน อีกทั้งเครื่องดื่มสีส้มเองก็ยังเป็นที่นิยมอย่างมากด้วยเช่นกัน[37] การแต่งตัวและประดับประดาไปด้วยสีส้มนี้บางครั้งก็ถูกขนานนามว่า โอรันเยอแค็กเตอ (oranjegekte) หรือ ความบ้าคลั่งสีส้ม[13] นอกจากนี้สมาชิกคณะกรรมการออเรนจ์ท้องถิ่นคนหนึ่งยังให้สัมภาษณ์ในงานวันโกนิงงินเนอดัคปี พ.ศ. 2554 อีกด้วยว่า

สำหรับฉัน วันพระราชินีนาถคือวันที่มิตรภาพและสายสัมพันธ์ของชุมชนจะเกิดขึ้นอีกครั้ง มันไม่ใช่เทศกาลที่ใช้ป่าวประกาศความรักชาติ และไม่ได้เกี่ยวข้องแม้แต่กับความนิยมของราชวงศ์เลย มันคือเทศกาลที่เกี่ยวกับจิตสำนึกของการมีส่วนร่วม ที่ซึ่งวันธรรมดาวันหนึ่งผู้คนทั่วทั้งฮอลแลนด์จะมีสภาพเหมือนกันไปหมด คือเต็มไปด้วยสีส้มและบ้าระห่ำ[6]

ส่วนเด็ก ๆ จะเฉลิมฉลองด้วยเกมต่าง ๆ เช่น กุกฮัปเปิน (koekhappen) ที่ผู้เล่นจะต้องใช้ปากกัดกินเค้กเครื่องเทศที่ห้อยอยู่บนเชือกให้ได้ หรือ สไปเกอร์ปุเปิน (spijker poepen) ที่ผู้เล่นจะต้องผูกเชือกรอบเอวและให้ปลายด้านหนึ่งผูกกับตะปูเอาไว้ จากนั้นใช้การย่อลำตัวพยายามหย่อนตะปูลงขวดแก้วให้ได้[38]

งานมอบรางวัล

โกนิงส์ดัค เป็นวันที่เปิดโอกาสให้พระมหากษัตริย์เนเธอร์แลนด์ได้เชิดชูเกียรติแก่ประชาชนของพระองค์สำหรับคุณงามความดีที่ทำให้แก่ประเทศชาติ ในปี พ.ศ. 2554 พระราชินีนาถเบียทริกซ์ได้เชิดชูเกียรติแก่บุคคลกว่า 3,357 คน ซึ่งส่วนมากได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ออเรนจ์-นัสเซา ชั้นสมาชิก[39]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โกนิงส์ดัค http://amsterdam-magazine.com/2011/04/feature-long... http://edition.cnn.com/2011/WORLD/europe/04/22/net... http://edition.cnn.com/2011/WORLD/europe/04/22/net... http://books.google.com/books?id=OLHNKiSKvBwC&dq=P... http://books.google.com/books?id=oYzNAAAAMAAJ&pg=P... http://news.google.com/newspapers?id=5VApAAAAIBAJ&... http://news.google.com/newspapers?id=8NMoAAAAIBAJ&... http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9D0... http://select.nytimes.com/gst/abstract.html?res=F1... http://www.nytimes.com/1988/05/02/world/3-british-...