ศิลปวัฒนธรรมสมัยโครยอ ของ โครยอ

ในยุคอาณาจักรโครยอ เมืองหลวงคือ แคช็อง เป็นเมืองที่ทำการติดต่อทำการค้าขายกับนานาชาติทั้งจีน, ญี่ปุ่น ตลอดจนถึงภูมิภาคอาหรับ และแอฟริกา มีศาสนาพุทธแบบมหายานเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ผสมด้วยลัทธิความเชื่ออื่น ๆ เช่น ขงจื๊อ, เต๋า ตลอดจนประเพณีและความเชื่อพื้นบ้าน ถือเป็นอาณาจักรที่เปิดเสรี มีสิทธิความเท่าเทียมทางเพศค่อนข้างมาก ผู้หญิงสามารถเป็นผู้นำครอบครัวได้ มีการอาบน้ำรวมหมู่กันในที่สาธารณะ รวมถึงมีพิธีสมรสกันในหมู่เครือญาติกันด้วยแม้แต่ในเชื้อพระราชวงศ์[1]

พุทธศาสนา

พระภิกษุชินุล (Jinul) ผู้ก่อตั้งสำนักโชกเยของนิกายซ็อน ซึ่งเป็นพุทธศาสนาสำนักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน

ในยุคโครยอพุทธศาสนานิกายมหายานของเกาหลีเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด มีความต่อเนื่องมาจากพุทธศาสนาของยุคชิลลารวม พระเจ้าแทโจทรงเชื่อว่าราชวงศ์โครยอสามารถประดิษฐานได้เป็นผลจากการยึดมั่นในพุทธศาสนา ราชสำนักโครยอจึงสนับสนุนและอุปถัมป์พุทธศาสนา

ในยุคโครยอพุทธศาสนานิกายซ็อน (선, 禪) หรือนิกายฌานตรงกับนิกายเซ็นซึ่งเน้นเรื่องการปฏิบัติการฝึกจิตเรืองอำนาจขึ้นมาในยุคโครยอ พุทธศาสนานิกายซ็อนเข้ามาในเกาหลีตั้งแต่สมัยอาณาจักรชิลลารวม นำไปสู่การจัดตั้งระบบของวัดในนิกายซ็อนเก้าแห่งในเกาหลีเรียกว่า คูซัน (九山) หรือนวบรรพต อย่างไรก็ตามนิกายซ็อนต้องเผชิญกับการแข่งขันและการต่อต้านจากนิกายคันถธุระต่างๆที่เรียกรวมกันว่านิกายกโย (教) ซึ่งประดิษฐานอยู่ในเกาหลีมาแต่เดิมเช่นนิกายโยคาจาร นิกายแดนบริสุทธิ์สุขาวดี และนิกายฮวาอ็อม (華嚴) ในช่วงต้นของยุคโครยอมีความพยายามที่จะประนีประนอมระหว่างพุทธศาสนาฝ่ายคันถธุระและฝ่ายวิปัสสนาธุระหรือนิกายซ็อน พระภิกษุคยูนยอ (균여, 均如) ยกนิกายฮวาอ็อมหรือนิกายหัวเหยียน (จีน: 華嚴; พินอิน: Huáyán) ขึ้นมาเป็นทฤษฎีสำหรับผู้ปฏิบัตินิกายซ็อนได้ศึกษา ซึ่งนิกายฮวาอ็อมเน้นการศึกษาอวตังสกสูตร เป็นการร่วมมือกันระว่างนิกายฮวาอ็อมซึ่งเป็นคันถธุระและนิกายซ็อน ต่อมาพระภิกษุอีช็อน (의천, 義天) เดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อนำนิกายเทียนไถมาสู่โครยอ นำไปสู่การจัดตั้งนิกายช็อนแท (천태, 天台) ซึ่งเป็นนิกายสายวิปัสสนาธุระขึ้นมาแข่งขันกับนิกายซ็อนเดิม ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนิกายช็อนแทและนิกายซ็อนนำไปการจัดระเบียบพุทธศาสนาในโครยอเสียใหม่ เกิดการตั้งระบบ "คันถธุระห้าสำนักและวิปัสสนาธุระสองสำนัก" (Five doctrinal schools and Two meditational schools)

นิกายคันถธุระห้าสำนักประกอบด้วย:

  • นิกายฮวาอ็อม มาจากนิกายหัวเหยียนของจีน เน้นเรื่องการศึกษาอวตังสกสูตร
  • นิกายพ็อปซัง มาจากนิกายฝ่าเซี่ยง (จีน: 法相; พินอิน: Fǎxiàng) ของจีน แปลว่าจิตเท่านั้นที่เป็นจริง มาจากนิกายโยคาจาร (Yogācāra) หรือนิกายวิชญาณวาท
  • นิกายพ็อปซอง (法性) ยึดหลักคำสอนของพระภิกษุวอนฮโยในยุคชิลลารวม
  • นิกายกเยยุล (계율, 戒律) หรือนิกายวินัย เน้นเรื่องการศึกษาพระธรรมวินัย
  • นิกายยอลบัน (涅槃) หรือนิกายนิพพาน เน้นการศึกษามหายานมหาปรินิรวาณสูตร

นิกายวิปัสสนาธุระสองสำนักประกอบด้วย;

  • นิกายซ็อน
  • นิกายช็อนแท

ในช่วงกลางยุคโครยอพุทธศาสนานิกายซ็อนฝ่ายวิปัสสนาธุระรุ่งเรืองควบคู่กับนิกายฮวาอ็อมฝ่ายคันถธุระ พระภิกษุชินุล (지눌, 知訥 ค.ศ. 1158-1210) ซึ่งเป็นพระภิกษุนิกายซ็อนผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดในยุคโครยอ จัดตั้งสำนักโชกเย (조계, 曹溪) ขึ้นในค.ศ. 1190 ที่วัดซงกวังซา (송광사, 松廣寺) บนเขาโชกเย สำนักโชกเยส่งเสริมสังคมโครยอให้เป็น "สังคมแห่งสมาธิและปัญญา" สำนักโชกเยเป็นพุทธศาสนาสำนักที่มีจำนวนของวัดมากที่สุดของประเทศเกาหลีใต้ในปัจจุบัน เนื่องจากพระไตรปิฎกฉบับเดิมของโครยอถูกทำลายไประหว่างการรุกรานของมองโกล ในค.ศ. 1236 พระเจ้าโคจงมีพระราชโองการให้จัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับใหม่เรียกว่าไตรปิฎก โคเรียนะ (Tripitaka Koreana) โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้นำเผด็จการทหารชเวอูและชเวฮัง เก็บรักษาไว้ที่วัดแฮอินซามาจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงปลายยุคโครยอเวลาซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของมองโกลราชวงศ์หยวน บรรดาขุนนางชนชั้นปกครองและนักปราชญ์ของโครยอได้รับอิทธิพลจากลัทธิขงจื้อใหม่ (Neo-Confucianism) ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ซ่ง ทำให้พุทธศาสนาได้รับการสนับสนุนจากราชสำนักโครยอน้อยลงแต่ยังคงรุ่งเรืองและดำรงอยู่ พระภิกษุแทโกโบอู (太古普愚) เดินทางไปยังประเทศจีนเพื่อศึกษานิกายฌานสำนักหลินจี่ (จีน: 臨濟; พินอิน: Línjì) กลับมาเผยแพร่ในโครยอ

ใกล้เคียง

โครยอ โครยอ-ซารัม โครนอส โครเอเชียนเฟิสต์ฟุตบอลลีก โครอต-7บี โครอลไลน์กับโลกพิศวง โครเอเชียนฟุตบอลคัพ โครเอเชียนเฟิสต์ฟุตบอลลีก ฤดูกาล 2015–16 โครเอเชีย โครเอเชียนฟุตบอลซูเปอร์คัพ