ในงานวิจัย ของ โครโมพลาสต์

โครโมพลาสต์ไม่ได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวางและไม่เป็นจุดสนใจหลักของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ โครโมพลาสต์มักมีส่วนเกี่ยวข้องในงานวิจัยเกี่ยวกับมะเขือเทศ (Solanum lycopersicum) ไลโคปีนทำให้ผลมะเขือเทศสุกมีสีแดง ในขณะที่สีเหลืองของดอกมะเขือเทศเกิดจากสารแซนโทฟิลล์ ไวโอลาแซนทินและนีโอแซนทิน[6]

การสังเคราะห์ทางชีวภาพของแคโรทีนอยด์เกิดขึ้นทั้งในโครโมพลาสต์และคลอโรพลาสต์ ในโครโมพลาสต์ของดอกมะเขือเทศพบว่าการสังเคราะห์แคโรทีนอยด์ถูกควบคุมโดยยีน Psyl, Pds, Lcy-b และ Cyc-b ยีนเหล่านี้มีหน้าที่มีส่วนสำคัญในการสะสมแคโรทีนอยด์ในอวัยวะและโครงสร้างอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น ยีน Lcy-e จะมีการแสดงออกอย่างมากในใบไม้ ส่งผลให้เกิดการสร้างลูทีน[6]

ดอกมะเขือเทศสีขาวเกิดจากอัลลีลด้อย ต้นที่มีลักษณะนี้มักไม่เป็นที่ต้องการเนื่องจากมีอัตราการผสมเกสรต่ำกว่า ในการศึกษาหนึ่งพบว่าดอกไม้สีขาวยังคงมีโครโมพลาสต์อยู่ การขาดรงควัตถุสีเหลืองในกลีบดอกและอับเรณูเกิดจากการกลายพันธุ์ของยีน CrtR-b2 ซึ่งขัดขวางวิถีการสังเคราะห์ทางชีวภาพของแคโรทีนอยด์[6]

กระบวนการสร้างโครโมพลาสต์ยังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างสมบูรณ์ในระดับโมเลกุล อย่างไรก็ตาม การค้นพบจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนได้แสดงให้เห็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงจากคลอโรพลาสต์เป็นโครโมพลาสต์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงของระบบเอนโดเมมเบรนกับการสลายตัวของ intergranal thylakoids และกรานา ระบบเมมเบรนใหม่ก่อตัวขึ้นในคอมเพล็กซ์เมมเบรนที่มีการจัดระเบียบเรียกว่า ไทลาคอยด์เพล็กซัส เมมเบรนใหม่ก่อตัวขึ้นใหม่เป็นแหล่งสร้างผลึกแคโรทีนอยด์ เมมเบรนเหล่านี้ไม่ได้มาจากไทลาคอยด์ แต่มาจากเวสิเคิลที่สร้างจากเยื่อหุ้มชั้นในของพลาสติด การเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีที่ชัดเจนที่สุดคือเซลล์ลดการแสดงออกของยีนสำหรับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ซึ่งส่งผลให้สูญเสียคลอโรฟิลล์และหยุดการสังเคราะห์ด้วยแสง[3]

ในส้ม การสังเคราะห์แคโรทีนอยด์และการหายไปของคลอโรฟิลล์ทำให้สีของผลเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลือง มักมีการใส่สีส้มเทียมซึ่งมีสีผิดไปจากสีส้มแกมเหลืองตามธรรมชาติที่ผลิตโดยโครโมพลาสต์[7]

ส้มวาเลนเซีย Citris sinensis L เป็นส้มที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในรัฐฟลอริดา ในฤดูหนาว ส้มวาเลนเซียจะมีเปลือกสีส้มในระดับสูงสุด และกลับเป็นสีเขียวในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่เดิมเชื่อว่าโครโมพลาสต์เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการพัฒนาของพลาสติด แต่ในปีค.ศ. 1966 มีการพิสูจน์ว่าโครโมพลาสต์สามารถเปลี่ยนกลับเป็นคลอโรพลาสต์ได้ ซึ่งทำให้ส้มวาเลนเซียดังกล่าวเปลี่ยนกลับเป็นสีเขียว[7]

ใกล้เคียง