การจำแนกโคลง ของ โคลง

โคลงในวรรณกรรมไทย แบ่งได้ดังนี้ คือ

  1. โคลงสอง
    1. โคลงสองสุภาพ
    2. โคลงสองดั้น
  2. โคลงสาม
    1. โคลงสามสุภาพ
    2. โคลงสามดั้น
  3. โคลงสี่
    1. โคลงสี่สุภาพ
    2. โคลงสี่ดั้น
  4. โคลงห้า


หมายเหตุ:- โคลงห้านั้น พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนชีวะ) [8] สิทธา พินิจภูวดล[9] และประทีป วาทิกทินกร[10] จัดให้เป็นโคลงโบราณ แต่กำชัย ทองหล่อ[11] จัดให้เป็นโคลงสุภาพ ขณะที่ สุภาพร มากแจ้ง[7] แยกออกมาต่างหาก ซึ่งน่าจะเหมาะสมกว่า เพราะมีวรรณกรรมเรื่องเดียวที่แต่งด้วยโคลงห้า ในยุคยังไม่สามารถแยกโคลงดั้นและโคลงสุภาพอย่างชัดเจน

โคลงสอง

โคลงสองสุภาพ

หนึ่งบทมี 14 คำ แบ่งเป็น 3 วรรค 5 - 5 - 4 คำ ตามลำดับ และอาจเพิ่มสร้อยท้ายบทได้อีก 2 คำ บังคับเอก 3 แห่ง โท 3 แห่ง สัมผัสส่งจากท้ายวรรคแรกไปยังท้ายวรรคที่สอง ดังตัวอย่าง

๐ ๐ ๐ เอก โท๐ เอก ๐ ๐ โท
เอก โท ๐ ๐(๐ ๐)


๏ โคลงสองเป็นอย่างนี้แสดงแก่กุลบุตรชี้
เช่นให้เห็นเลบงแบบนา ๚ะ

หากแต่งหลาย ๆ บท นิยมส่งสัมผัสระหว่างบท จากท้ายบทแรกไปยังคำใดคำหนึ่งในวรรคแรกของบทต่อไป ตัวอย่าง

๏ ไก่ขันเขียวผูกช้างมาเทียมทั้งสองข้าง
แนบข้างเกยนาง ๚ะ
๏ ไป่ทันสางสั่งให้พระแต่งจงสรรพไว้
เยียวปู่เจ้าเรามา ๚ะ
๏ เผือจักลาแม่ ณ เกล้าอยู่เยียวเจียนรุ่งเช้า
จักช้าทางไกล ๚ะ
ลิลิตพระลอ

กวีบางท่านก็ไม่นิยมส่งสัมผัสระหว่างบท อย่างเช่น น.ม.ส. ในพระนิพนธ์ สามกรุง เป็นต้น

โคลงสองดั้น

หนึ่งบทมี 12 คำ แบ่งเป็น 3 วรรค วรรคละ 5 - 5 - 2 คำ ตามลำดับ และอาจมีสร้อยท้ายบทได้อีก 2 คำ ส่งสัมผัสแบบเดีวกับโคลงสองสุภาพ บังคับเอก 3 แห่ง โท 3 แห่ง เช่นเดียวกับโคลงสองสุภาพแต่ต่างตำแหน่ง หากแต่งหลายบทมีการส่งสัมผัสเช่นเดียวกับโคลงสองสุภาพ ดังตัวอย่าง

๐ ๐ ๐ เอก โท๐ เอก ๐ โท โท
เอก ๐(๐ ๐)


๏ โคลงสองเรียกอย่างดั้นโดยว่าวรรคท้ายนั้น
เปลี่ยนแปลง ๚ะ
๏ แสดงแบบแยบยลให้กุลบุตรจำไว้ใช้
แต่งตาม ๚ะ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์โคลงสองดั้น โดยบังคับเอก 3 โท 2 (ลดโท) ในลิลิตนารายณ์สิบปาง ดังตัวอย่าง

๐ ๐ ๐ เอก โท๐ ๐ ๐ เอก โท
เอก ๐(๐ ๐)


๏ ทูลคดีแด่ไท้อีกขอพระจุ่งได้
ดับเข็ญ ๚ะ
๏ พระเป็นเจ้าจึ่งได้ตรัสตอบว่าท่านไซร้
ทุกข์เหลือ ๚ะ
๏ อยากเอื้อมและช่วยแท้แต่เรานี้สุดแก้
พระพรหม ๚ะ
๏ อับบรมราชผู้เป็นหริสิรู้
อุบาย ๚ะ
๏ จงผันผายและเฝ้าวอนพระวิษณุเจ้า
หริพลันเถิดนา ๚ะ

การใช้โคลงสองในวรรณกรรม

ไม่มีวรรณคดีไทยเรื่องใดที่ใช้โคลงสองแต่งทั้งเรื่อง โดยทั่วไปมักแต่งสลับกับร่ายและโคลงชนิดอื่น ๆ ในลักษณะลิลิต อย่างหนึ่ง และอีกอย่างหนึ่งใช้ลงท้ายร่าย โดยโคลงสองสุภาพลงท้ายร่ายสุภาพ และโคลงสองดั้นลงท้ายร่ายดั้น

โคลงสาม

โคลงสามสุภาพ

บทหนึ่งมี 19 คำ แบ่งเป็น 4 วรรค วรรคละ 5 - 5 - 5 - 4 คำตามลำดับ และอาจมีสร้อยท้ายบทได้อีก 2 คำ เช่นเดียวกับโคลงสองสุภาพ บังคับเอก 3 แห่ง โท 3 แห่ง ส่งสัมผัสเพิ่มจากโคลงสองอีกหนึ่งแห่งจากท้ายวรรคแรกไปยังวรรคที่สอง ดังตัวอย่าง

๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ ๐ ๐ เอก โท
๐ เอก ๐ ๐ โทเอก โท ๐ ๐ (๐ ๐)


๏ ล่วงลุด่านเจดีย์สามองค์มีแห่งหั้น
แดนต่อแดนกันนั้นเพื่อรู้ราวทาง ๚ะ
๏ ขับพลวางเข้าแหล่งแห่งอยุธเยศหล้า
แลธุลีฟุ้งฟ้ามืดคลุ้มมัวมล ยิ่งนา ๚ะ
ลิลิตตะเลงพ่าย

โคลงสามดั้น

บทหนึ่งมี 17 คำ แบ่งเป็น 4 วรรค วรรคละ 5 - 5 - 5 - 2 คำตามลำดับ บังคับเอก 3 แห่ง โท 3 แห่ง สัมผัสเหมือนโคลงสามสุภาพ ดังตัวอย่าง

๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ ๐ ๐ เอก โท
๐ เอก ๐ โท โทเอก ๐ (๐ ๐)


๏ พุทธศกสองพันปีเศษมีแปดสิบเข้า
เหตุรุ่มรุมร้อนเร้าย่ำยี ๚ะ
๏ มีเมืองทิศตกไถงคือม่านภัยมุ่งร้าย
เตลงคั่นบต้านได้เด็ดลง ๚ะ
ผืนแผ่นไผทนี้ล้ำ แหล่งคุณ

เช่นเดียวกับโคลงสองดั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์โคลงสามดั้น โดยบังคับเอก 3 โท 2 ตำแหน่งเดียวกับโคลงสองดั้น ตัวอย่างจากลิลิตนารายณ์สิบปาง

๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ ๐ ๐ เอก โท
๐ ๐ ๐ เอก โทเอก ๐ (๐ ๐)


๏ มุ่งตรงสู่สรยุบรรลุถึงฝั่งใต้
เดินเลียบฝั่งนั่นไซร้ไป่นาน ๚ะ
๏ ประมาณได้โยชน์หนึ่งจึงพระดาบสเถ้า
สั่งสองโอรสเจ้าหยุดพลัน ๚ะ

การใช้โคลงสามในวรรณกรรม

กวีไม่นิยมใช้โคลงสามแต่งวรรณกรรมตลอดเรื่อง นิยมแต่งสลับกับร่ายและโคลงชนิดอื่น ๆ รวมทั้งนิยมแต่งน้อยกว่าโคลงสองมาก อนึ่ง โคลงสามดั้นเริ่มปรากฏในวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์นี้เอง มีหลักฐานอยู่ในมหาชาติคำหลวง กัณฑ์ทานกัณฑ์ ซึ่งแต่งโดย พระรัตนมุนี วัดราชสิทธาราม ในสมัยรัชกาลที่ 2

โคลงสี่

โคลงสี่ เป็นโคลงที่กวีนิยมแต่งมากที่สุดในกระบวนโคลง สามารถจำแนกโคลงสี่ออกได้หลายประเภท ดังนี้

โคลงสี่ในจินดามณี

ในจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี กล่าวถึงวิธีการแต่งโคลงสี่ไว้หลายชนิดด้วยกัน คือ โคลงสี่สุภาพ โคลงตรีเพชรทัณฑี โคลงจัตวาทัณฑี โคลงขับไม้ โคลงในกาพย์ห่อโคลง โคลงดั้น ฯลฯ

โคลงสี่สุภาพ
๐ ๐ ๐ เอก โท๐ x (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ xเอก โท
๐ ๐ เอก ๐ x๐ เอก (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ โทเอก โท ๐ ๐

หนึ่งบทมี 30 คำ แบ่งเป็น 4 บาท 3 บาทแรก บาทละ 7 คำ บาทที่สี่ 9 คำ แต่ละบาทแบ่งเป็น 2 วรรค วรรคแรก 5 คำ วรรคหลัง 2 คำ เว้นบาทสุดท้าย 4 คำ มีสร้อยได้ 2 แห่ง โคลงบังคับเอก 7 โท 4 ตามตำแหน่ง สัมผัสคำที่ 7 บาทแรกกับคำที่ 5 ของบาทที่สองและบาทที่สาม กับสัมผัสคำที่ 7 บาทที่สองกับคำที่ 5 บาทที่สี่ เอกโทในบาทแรกอาจสลับที่กันได้ และอนุโลมให้ใช้คำตายแทนเอกได้ ดังตัวอย่าง

๏ เสียงลือเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใครทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับไหลลืมตื่น ฤๅพี่
สองพี่คิดเองอ้าอย่าได้ถามเผือ ๚ะ
ลิลิตพระลอ
โคลงตรีเพชรทัณฑี
๐ ๐ ๐ เอก โท๐ x (๐ ๐)
๐ เอก x ๐ ๐เอก โท
๐ ๐ เอก ๐ x๐ เอก (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ โทเอก โท ๐ ๐

โคลงตรีเพชรทัณฑีนี้แสดงไว้แต่ตัวอย่าง แต่อาจสังเกตไว้ว่าเหมือนโคลงสี่สุภาพ แต่เลื่อนสัมผัสในบาทที่สอง จากเดิมคำที่ 5 ไปเป็นคำที่ 3 แทน ดังตัวอย่าง

๏ ปางนั้นสองราชไท้ดาบศ
สาพิมตไปมากล่าวแก้ว
ประทานราชเอารสสองราช
เวนแต่ชูชกแล้วจึ่งไท้ชมทาน ๚ะ
(มหาชาติคำหลวง:สักกบรรพ)

ในจินดามณี ฉบับหลวงวงศาธิราชสนิท เรียกโคลงแบบนี้ว่า โคลงตรีพิธพรรณ

โคลงจัตวาทัณฑี
๐ ๐ ๐ เอก โท๐ x (๐ ๐)
๐ เอก ๐ x ๐เอก โท
๐ ๐ เอก ๐ x๐ เอก (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ โทเอก โท ๐ ๐

โคลงจัตวาทัณฑี ก็คือโคลงสี่สุภาพที่เลื่อนคำรับสัมผัสในบาที่สองจากคำที่ 5 มาเป็นคำที่ 4 นั่นเองตามตัวอย่าง

๏ โคลงหนึ่งนามแจ้งจัต-วาทัณ ฑีฤๅ
บังคับรับกันแสดงอย่างพร้อง
ขบวรแบบแยบยลผันแผกชนิด อื่นเอย
ที่สี่บทสองคล้องท่อนท้ายบทปถม ๚ะ
โคลงขับไม้
๐ ๐ ๐ ๐ โท๐ x (๐ ๐)
๐ ๐ ๐ ๐ xโท
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ ๐ (๐ ๐)
๐ ๐ ๐ ๐ โท๐ โท ๐ ๐

โคลงขับไม้ เป็นโคลงสี่สุภาพที่ไม่บังคับเอก บังคับแต่โทสี่แห่ง บาทแรกโทจะอยู่คำที่ 4 หรือ 5 ก็ได้ ให้แต่งครั้งละ 2 บท มีสัมผัสระหว่างบทด้วย ตัวอย่าง

๏ พระเกียรติรุ่งฟุ้งเฟื่องฦๅชา
ทั่วท่วนทุกทิศานอบน้อม
ทรงนามไท้เอกาทศรถ
กระษัตรมาขึ้นพร้อมบ่เว้นสักคน ๚ะ
๏ เดชพระบารมีล้นนันต์
จักนับด้วยกัปกัลป์ฤๅได้
สมภารภูลแต่บรรพ์นาเนก
ยิ่งบำเพ็งเพิ่มไว้กราบเกล้าโมทนา ๚ะ
โคลงกระทู้

โคลงกระทู้ เป็นลักษณะพิเศษของการแต่งโคลง โดยบังคับคำขึ้นต้นแต่ละบาทของโคลงส่วนมากมักใช้แต่งกับโคลงสี่ ซึ่งกำชัย [11] ระบุว่า โคลงกระทู้คือโคลงสี่สุภาพนั่นเอง

บาทละหนึ่งคำ เรียกว่า กระทู้เดี่ยวบาทละสองคำ เรียกว่า กระทู้คู่บาทละสามคำ เรียกว่า กระทู้สามบาทละสี่คำ เรียกว่า กระทู้สี่

ลักษณะการใช้กระทู้อาจใช้คำเดียวกันทุกบาท หรือคำต่างชุดกันก็ได้ ถ้าเป็นคำเดียวกันเรียกว่า กระทู้ยืน คำที่นำมาเป็นกระทู้อาจจะมีความหมายหรือไม่ก็ได้ เช่น ทะ-ลุ่ม-ปุ่ม-ปู อาจเป็นคำคล้องจองก็ได้ เช่น หัวล้านได้หวี ตาบอดได้แว่น หรืออาจมีข้อความอื่นใดตามความประสงค์ของผู้ประพันธ์

ตัวอย่างโคลงกระทู้ ทะ-ลุ่ม-ปุ่ม-ปู

ทะ แกล้วซากเกลื่อนฟื้นอยุธยา
ลุ่ม แห่งเลือดน้ำตาท่วมหล้า
ปุ่ม อิฐฝุ่นทรายสา-มารถกล่าว
ปู แผ่สัจจะกล้าป่าวฟ้าดินฟัง ๚ะ
กระทู้พม่า

โคลงกระทู้กวีมักใช้แต่งท้ายเรื่อง เพื่อบอกจุดมุ่งหมายในการแต่งหรือชื่อผู้แต่ง นอกนั้นแต่งแทรกไว้ในวรรณกรรมเพื่อเพิ่มความไพเราะ แสดงความสามารถของผู้แต่ง นอกจากนี้กวีอาจจะดัดแปลงโคลงกระทู้ให้พิศดารตามความประสงค์ก็ได้ เช่น กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงแต่งกาพย์สุรางค์คนางค์ 28 จำนวน 5 บท แล้วนำคำในกาพย์แต่ละวรรคแยกเป็นกระทู้เดี่ยวในโคลงกระทู้ 35 บท หรือนายชิต บุรทัต แต่งวิชชุมาลาฉันท์ 4 บท แล้วนำคำในแต่ละวรรคไปแยกเป็นกระทู้เดี่ยวเป็นโคลง 32 บท เป็นต้น

โคลงสี่ดั้น

ในจินดามณีฉบับพระโหราธิบดี เรียกว่า "ฉันทจรรโลงกลอนดั้น" และมิได้อธิบายอะไร เพียงแต่ยกตัวอย่างโคลงไว้เท่านั้น ต่อมาในจินดามณีฉบับหลวงวงศาธิราชสนิทจึงปรากฏแผนผังสมบูรณ์ และจำแนกโคลงดั้นออกเป็น 2 ชนิด คือ โคลงดั้นวิวิธมาลี และโคลงดั้นบาทกุญชร ตามลักษณะการส่งสัมผัสระหว่างบท ดังตัวอย่าง

๐ ๐ ๐ เอก โท๐ x (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ ๐เอก โท
๐ ๐ เอก ๐ xเอก (๐ ๐)
๐ เอก ๐ โท โทเอก y
๐ ๐ ๐ เอก โท๐ x (๐ ๐)
๐ เอก ๐ ๐ yเอก โท
๐ ๐ เอก ๐ x๐ เอก (๐ ๐)
๐ เอก ๐ โท โทเอก ๐
โคลงดั้นวิวิธมาลี หนึ่งบทมี 28 คำ 4 บาท บาทละ 7 คำ แบ่งเป็นบาทละ 2 วรรค วรรคแรก 5 คำ วรรคหลัง 2 คำ เอก 7 โท 4 เหมือนโคลงสี่สุภาพ ต่างกันที่ตำแหน่งเอกโทในบาทสุดท้าย คำที่ 4 -5 เป็นโทคู่ ส่งสัมผัสระหว่างบทแห่งเดียว คือ คำสุดท้ายบทแรกไปยังคำที่ 5 ในบาทที่สองของบทต่อไป ดังตัวอย่าง
๏ เชลงกลโคลงอย่างดั้นบรรยาย
เสนอชื่อวิวิธมาลีเล่ห์นี้
ปวงปราชญ์ทั่วทวยหลายนิพนธ์เล่น เทอญพ่อ
ยลเยี่ยงฉบับพู้นชี้เช่นแถลง ๚ะ
๏ เป็นอาภรณ์แก้วก่องกายกระวี ชาติเอย
อาตมโอ่โอภาสแสงสว่างหล้า
เถกิลเกียรติเกริ่นธรณีทุกแหล่ง หล้านา
ฦๅทั่วดินฟ้าฟุ้งเฟื่องคุณ ๚ะ


โคลงดั้นบาทกุญชร บังคับเหมือนวิวิธมาลี แต่ส่งสัมผัสระหว่างบท 2 แห่ง จากคำสุดท้ายบาทที่ 3 บทแรกไปยังคำที่ 4 หรือ 5 (คำเอก) ของบทต่อไป กับคำสุดท้ายบาทที่ 4 บทแรกไปคำที่ 5 บาทที่สองของบทต่อไป ดังตัวอย่าง
๏ อีกโคลงดั้นหนึ่งพึงยล
บอกเช่นบาทกุญชรชื่ออ้าง
วิธีที่เลบงกลแปลกก่อน
ยากกว่าบรรพ์แสร้งสร้างอื่นแปลง ๚ะ
๏ สองรวดกลอนห่อนพลั้งผิดพจน์
เฉกสี่เชิงสารแสดงย่างผ้าย
สัมผัสทั่วทุกบทฤๅเคลื่อน คลายเอย
บงดั่งบาทข้างย้ายต่อตาม ๚ะ

โคลงสี่ในตำรากาพย์

เนื่องจากโคลงจากตำรากาพย์ไม่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเรื่องใดเลย มีอยู่แต่ในตำราแต่งคำประพันธ์เท่านั้น ปราชญ์รุ่นก่อนมักเรียกโคลงเหล่านี้ว่า โคลงโบราณ

กาพย์สารวิลาสินี

ในคัมภีร์กาพย์สารวิลาสินีมีโคลงอยู่ 8 ชนิด ได้แก่ วิชชุมาลี มหาวิชชุมาลี จิตรลดา มหาจิตรลดา สินธุมาลี มหาสินธุมาลี นันททายี และมหานันททายี มีลักษณะเด่นคือ ไม่บังคับเอกโท บังคับแต่จำนวนคำ และสัมผัส

โคลง 8 ชนิดที่ดัดแปลงมาจากกาพย์สารวิลาสินีดังกล่าวยังอาจแบ่งได้อีกเป็นสองกลุ่ม[6] ดังต่อไปนี้

กลุ่มที่หนึ่ง เป็นโคลงที่มียี่สิบแปดคำ (หนึ่งบทมีสี่บาท หนึ่งบาทมีสองวรรค วรรคหน้ามีห้าคำ วรรคหลังมีสองคำ รวมเป็นยี่สิบแปดคำ) ได้แก่ 1) โคลงวิชชุมาลี 2) โคลงจิตรลดา 3) โคลงสินธุมาลี และ 4) โคลงนันททายี โคลงกลุ่มนี้สังเกตได้จากการที่มีวรรคสุดท้ายของบทเพียงสองคำ

กลุ่มที่สอง เป็นโคลงที่มีสามสิบคำ (หนึ่งบทมีสี่บาท หนึ่งบาทมีสองวรรค วรรคหน้ามีห้าคำ วรรคหลังมีสองคำ ยกเว้นวรรคสุดท้ายของบทมีสี่คำ รวมเป็นสามสิบคำ) ได้แก่ 1) โคลงมหาวิชชุมาลี 2) โคลงมหาจิตรลดา 3) โคลงมหาสินธุมาลี และ 4) โคลงมหานันททายี โคลงกลุ่มนี้สังเกตได้จากการที่มีวรรคสุดท้ายของบทเพียงสี่คำ และมีคำ “มหา” นำหน้าชื่อ

โคลงวิชชุมาลี และโคลงมหาวิชชุมาลี
วิชชุมาลี แปลว่า มีระเบียบคำกล่าวประหนึ่งว่าสายฟ้าแลบมหาวิชชุมาลี แปลว่า มีระเบียบคำกล่าวประหนึ่งว่าสายฟ้าแลบใหญ่
ตัวอย่างโคลงวิชชุมาลี
๏ ข้าพระพุทธเกล้ามุนินทร์
ลายลักษณ์พระบาทหัตถ์วิจิตร
ชนนิกรไหว้อาจิณคืนค่ำ
ตั้งกระหม่อมข้านิตย์เท่ามรณ์ ๚ะ

ตัวอย่างโคลงมหาวิชชุมาลี
๏ ข้าพระพุทธเกล้ามุนินทร์
ลายลักษณ์พระบาทหัตถ์วิจิตร
ชนนิกรไหว้อาจิณคืนค่ำ
ตั้งกระหม่อมข้านิตย์ต่อเท่าเมื่อมรณ์ ๚ะ


โคลงจิตรลดา และโคลงมหาจิตรลดา
จิตรลดา แปลว่า มีระเบียบคำเกี่ยวพันกันประหนึ่งว่าเครือเถาอันงามมหาจิตรลดา แปลว่า มีระเบียบคำเกี่ยวพันกันประหนึ่งว่าเครือเถาอันงามยิ่ง
ตัวอย่างโคลงจิตรลดา
๏ พระจันทร์เพ็งภาคแผ้วสรัทกาล
ชช่วงโชติพรายงามรุ่งฟ้า
ให้คนชื่นบานนิตย์ทุกหมู่
รัศมีเรืองกล้าแหล่งเวหา ๚ะ

ตัวอย่างโคลงมหาจิตรลดา
๏ พระจันทร์เพ็งภาคแผ้วสรัทกาล
ชช่วงโชติพรายงามรุ่งฟ้า
ให้คนชื่นบานนิตย์ทุกหมู่
รัศมีเรืองกล้าแหล่งแห่งห้วงเวหา ๚ะ


โคลงสินธุมาลี และโคลงมหาสินธุมาลี
สินธุมาลี แปลว่า มีระเบียบคำกล่าวประหนึ่งว่าระเบียบคลื่นในแม่น้ำมหาสินธุมาลี แปลว่า มีระเบียบคำกล่าวประหนึ่งว่าระเบียบคลื่นในแม่น้ำใหญ่
ตัวอย่างโคลงสินธุมาลี
๏ ข้าแต่พระพุทธเจ้าใจปราชญ์
รัศมีองค์โอภาสรุ่งฟ้า
พระสุรเสียงเพราะฉลาดโลมโลก
สัตบุรุษทั่วหล้าชมนิตย์ ๚ะ

ตัวอย่างโคลงมหาสินธุมาลี
๏ ข้าแต่พระพุทธเจ้าใจปราชญ์
รัศมีองค์โอภาสรุ่งฟ้า
พระสุรเสียงเพราะฉลาดโลมโลก
สัตบุรุษทั่วหล้าชมนิตย์ชื่นธรรม ๚ะ

โคลงนันททายี และโคลงมหานันททายี
นันททายี แปลว่า มีระเบียบคำกล่าวเป็นที่ให้ซึ่งความเพลิดเพลินแก่บุคคลผู้ฟังมหานันททายี แปลว่า มีระเบียบคำกล่าวเป็นที่ให้ซึ่งความเพลิดเพลินแก่บุคคลผู้ฟังยิ่ง
ตัวอย่างโคลงนันททายี
๏ พระสุริยทรงเดชเสด็จฉาย
หาวหนพรายพรายเรืองรุ่งเร้า
ปทุมิกรผายกลีบรสคลี่
เฉกพระพุทธเจ้าตรัสเตือนโลก ๚ะ

ตัวอย่างโคลงมหานันททายี
๏ พระสุริยทรงเดชเสด็จฉาย
หาวหนพรายพรายเรืองรุ่งเร้า
ปทุมิกรผายกลีบรสคลี่
เฉกพระพุทธเจ้าตรัสเตือนโลกเห็นธรรม ๚ะ


กาพย์คันถะ

ในคัมภีร์กาพย์คันถะ มีโคลงสี่อยู่ 2 ชนิด คือ ทีฆปักข์ และรัสสปักข์ มีลักษณะเด่นเช่นเดียวกับโคลงในกาพย์สารวิลาสีนี คือ ไม่บังคับเอกโท กำหนดแต่จำนวนคำและสัมผัส

โคลงทีฆปักข์
ทีฆปักข์ แปลว่า มีฝักฝ่ายยาว เพราะคำรับสัมผัสผ่อนยาวออกไปทุกบาท ตั้งแต่คำที่ 5 - 4 - 3 ตามลำดับ
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ x
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ y
๐ ๐ ๐ x ๐๐ ๐
๐ ๐ y ๐ ๐๐ ๐


๏ หญิงดำขำเกลี้ยงยิ่งมีสี
ธรรมอื่นเทียมขันตีไป่ได้
คำชาวบุรีไพเราะพ่อ
สัตว์สบใกล้สีหลี้หลบแสยง ๚ะ


โคลงรัสสปักข์
รัสสปักข์ แปลว่า มีฝักฝ่ายสั้น เพราะคำรับสัมผัสคงที่คำรับคำที่ 5 ทุกบาท
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ x
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ ๐ ๐ ๐


๏ ชนใดหลงเล่ห์เกื้อกลกาม
ลุเล่ห์กิเลสรามรื่นเร้า
ชนนั้นจะพ้นความทุกข์ฤๅ
กระวีพึงเว้นข้ามแห่งห้วงกามา ๚ะ


เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้โคลงชนิดต่าง ๆ ในคัมภีร์กาพย์จะบอกว่ามิได้บังคับเอกโท แต่ตัวอย่างที่ให้ไว้ส่วนใหญ่มักมีเอกโท ตามตำแหน่งที่เด่นของโคลงสี่เสมอ

โคลงสี่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดัดแปลงสัมผัสของโคลงในตำรากาพย์สารวิลาสีนีทั้ง 4 ชนิด แล้วทรงเรียกว่า โคลงโบราณแผลง ดังตัวอย่าง

โคลงวิชชุมาลีแผลง
เปลี่ยนการรับสัมผัสจากคำที่ 5 บาทที่สี่เป็นคำที่ 4 บาทที่สี่แทน
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ x
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ y
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ ๐
๐ ๐ ๐ y ๐๐ ๐


๏ ข้าแต่พระพุทธเกล้ามุนินทร์
ลายลักษณะบาทหัตถ์วิจิตร
ชนนิกรไหว้อาจิณคืนค่ำ
ตั้งกระหม่อมนิตย์ข้าดุษฎี ๚ะ


โคลงจิตรลดาแผลง
เปลี่ยนการรับสัมผัสในบาทที่สี่ จากคำที่ 4 มาเป็นคำที่ 5
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ x
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ y
๐ ๐ ๐ x ๐๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ y๐ ๐


๏ พระจันทรเพ็ญแผ้วสรัทกาล
ชะช่วงโชติพรายงามรุ่งฟ้า
ให้คนชื่นบานนิตย์ทุกหมู่
รัศมีเรืองโรจน์กล้าเวหา ๚ะ


โคลงสินธุมาลีแผลง
เปลี่ยนคำสัมผัสในบาทที่สี่ จากเดิมคำที่ 5 มาเป็นคำที่ 4
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ x
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ y
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ ๐
๐ ๐ ๐ y ๐๐ ๐


๏ ข้าแต่พระพุทธเจ้าใจปราชญ์
รัศมีองค์โอภาสรุ่งฟ้า
พระสุรเสียงเพราะฉลาดโลมโลก
สัตบุรุษส้าเสกชมนิตย์ ๚ะ


โคลงนันททายีแผลง
เปลี่ยนคำสัมผัสในบาทที่สี่ จากเดิมคำที่ 5 มาเป็นคำที่ 4
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ x
๐ ๐ ๐ x ๐๐ y
๐ ๐ ๐ x ๐๐ ๐
๐ ๐ ๐ y ๐๐ ๐


๏ พระสุริยะทรงเดชเสด็จฉาย
หาวหนพรายพรายเรืองรุ่งเร้า
ปทุมิกรผายกลีบรสคลี่
เฉกพระเป็นเจ้าตรัสเตือนโลก ๚ะ


นอกจากนี้ ด้วยการเปลี่ยนแปลงการส่งสัมผัส พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประดิษฐ์โคลงเลียนแบบโคลงในตำรากาพย์ คือไม่บังคับเอกโท อีก 4 แบบ ใช้ในพระราชนิพนธ์กถานมัสการพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และพระรัตนตรัย คือ โคลงวชิระมาลี โคลงมุกตะมาลี โคลงรัตนะมาลี และโคลงจิตระมาลี ดังตัวอย่าง

โคลงวชิระมาลี
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ x
๐ ๐ ๐ x ๐๐ y
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ y๐ ๐


๏ องค์พระพุทธเจ้าโคบาล
สอนธรรมสมานจิตสัตบุรุษ
นำแน่วสู่นิรพาณพ้นทุกข์
พระนราสภสุทธิ์ศาสดา ๚ะ
โคลงมุกตะมาลี
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ x
๐ ๐ ๐ x ๐๐ y
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ ๐
๐ ๐ ๐ y ๐๐ ๐


๏ ธรรมชาติดิเรกรุ้งชวลิต
น้อมนำดวงจิตรจรสู่ชอบ
สละไตรทุจริตเห็นโทษ
ธรรมะดั่งกอบแก้วโกยทอง ๚ะ


โคลงรัตนะมาลี
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ x
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ y
๐ ๐ ๐ x ๐๐ ๐
๐ ๐ ๐ ๐ y๐ ๐


๏ อีกผองสาวกเจ้าทรงจำ
กำหนดบทพระธรรมสอนโลก
สงฆ์ประดุจนำทางรอดบาป
เหมือนช่วยให้ส่างโศกสุดภัย ๚ะ


โคลงจิตระมาลี
๐ ๐ ๐ ๐ ๐๐ x
๐ ๐ ๐ ๐ x๐ y
๐ ๐ ๐ x ๐๐ ๐
๐ ๐ ๐ y ๐๐ ๐


๏ ไตรรัตน์ชงัดยิ่งเทวัญ
ใครพึ่งพึงสู่สวรรค์แม่นแท้
ไตรรัตน์ย่อมกันภัยอุบาทว์
ใครพึ่งถึงแม้ทุกข์เสื่อมสูญ ๚ะ


ความแตกต่างของโคลงสี่ในวรรณกรรมกับโคลงสี่ในตำราคำประพันธ์

โคลงสี่ปรากฏในวรรณกรรมตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยในสมัยอยุธยาตอนต้น เป็นโคลงสี่สุภาพ 3 เรื่องคือ ลิลิตพระลอ โคลงนิราศหริภุญชัย โคลงมังทราตีเชียงใหม่ โคลงดั้นมี 1 เรื่องคือ ลิลิตยวนพ่าย

สมัยอยุธยาตอนกลางโคลงสี่เป็นที่นิยมที่สุด มีวรรณกรรมแต่งด้วยโคลงสี่ถึง 9 เรื่อง ได้แก่ โคลงเรื่องพาลีสอนน้อง โคลงทศรถสอนพระราม โคลงราชสวัสดิ์ กำศรวลโคลงดั้น โคลงเฉลิมพระเกียรติพระนารายณ์มหาราช โคลงนิราศนครสวรรค์ กาพย์ห่อโคลงและโคลงอักษรสามของพระศรีมโหสถ และโคลงทวาทศมาส ในจำนวนนี้เป็นโคลงสี่สุภาพ 7 เรื่อง โคลงสี่ดั้น 2 เรื่อง

สมัยธนบุรีมี 2 เรื่องคือ โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี และลิลิตเพชรมงกุฎ

สมัยรัตนโกสินทร์ กวีนิยมแต่งคำประพันธ์ประเภทกลอน วรรณกรรมที่แต่งด้วยโคลงเด่น ๆ ได้แก่ โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โคลงนิราศตามเสด็จลำน้ำน้อย ลิลิตตะเลงพ่าย โคลงดั้นปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ โคลงนิราศนรินทร์ ลิลิตนารายณ์สิบปาง และสามกรุง เป็นต้น

โคลงสี่ที่กวีนิยมใช้ในวรรณกรรมคือโคลงสี่สุภาพและโคลงดั้นที่ปรากฏอยู่ในจินดามณี ส่วนโคลงสี่ในตำรากาพย์ไม่พบว่ากวีใช้แต่งวรรณกรรม นอกจากงานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเท่านั้น

วรรณกรรมในแต่ละสมัย กวีใช้โคลงที่มีลักษณะบังคับแตกต่างจากตำราฉันทลักษณ์สรุปได้ 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ

1.การบังคับเอก-โท

มีการใช้ลักษณะ เอก 7 โท 5 และใช้โทคู่ในโคลงสี่สุภาพ เช่น ลิลิตพระลอ มหาชาติคำหลวง โคลงมังทรารบเชียงใหม่ และโคลงนิราศหริภุญชัย

32 ๏ ความคิดผิดรีตได้ความอาย พี่เอย
หญิงสื่อชักชวนชายสู่หย้าว
เจ็บเผือว่าแหนงตายดีกว่า ไสร้นา
เผือหากรักท้าวท้าวไม่รู้จักเผือ ๚ะ
33 ๏ ไป่ห่อนเหลือคิดข้าคิดผิด แม่นา
คิดสิ่งเป็นกลชิดชอบแท้
มดหมอแห่งใดสิทธิ์จักสู่ ธแม่
ให้ลอบลองท้าวแล้อยู่ได้ฉันใด ๚ะ
ลิลิตพระลอ

มีการใช้เอก 7 โท 3 และไม่ใช้โทคู่ในโคลงสี่ดั้น เช่น ลิลิตยวนพ่าย โคลงทวาทศมาส กำสรวลโคลงดั้น และโคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

7 ๏ พระมล้างท้าวทั่วธรณี
อันอาจเอากลเอาฬ่อเลี้ยง
พระมาก่อภูมีศวรราช
อันอยู่โดยยุคติเพี้ยงพ่างอารย ๚ะ
8 ๏ พระมาแมนสาธุส้องถวายพร เพิ่มแฮ
มาสำแดงชัยชาญเชี่ยวแกล้ว
พระมารบาลบรทุกทวีป ไส้แฮ
มาสำแดงฤทธิแผ้วแผ่นดิน ๚ะ
ลิลิตยวนพ่าย

ดังนั้น หากนับจากข้อมูลในวรรณกรรม โคลงสี่ จึงควรมี 4 รูปแบบคือ

  1. โคลงสี่สุภาพ เอก 7 โท 4
  2. โคลงสี่สุภาพ เอก 7 โท 5 (โทคู่)
  3. โคลงสี่ดั้น เอก 7 โท 4
  4. โคลงสี่ดั้น เอก 7 โท 3 (โทเดี่ยว)


2.การส่งสัมผัส

สัมผัสระหว่างบาท ในตำราฉันทลักษณ์กำหนดสัมผัสระหว่างบาทของโคลงไว้ 4 แบบคือ แบบโคลงสี่สุภาพ แบบโคลงตรีเพชรทัณฑี(หรือโคลงตรีพิธพรรณ) แบบโคลงจัตวาทัณฑี และแบบโคลงสี่ดั้น

ทั้งนี้การกำหนดตรีพิธพรรณ หรือ จัตวาทัณฑีกำหนดที่คำรับสัมผัสในบาทที่สอง ส่วนบาทอื่น ๆ บังคับรับสัมผัสคำที่ 5 แต่เท่าที่ปรากฏในวรรณกรรม กวีมีอิสระที่จะรับสัมผัสในคำที่ 3, 4 หรือ 5 ของทุกบาทในโคลงดั้น และเรียกตามลักษณะคำรับสัมผัสว่า ตรีพิธพรรณหรือจัตวาทัณฑีด้วย เช่น

ตรีพิธพรรณในบาที่สาม จัตวาทัณฑีในบาทที่ 4

๏ เร่งหมั้นเหลือหมั้นยิ่งเวียงเหล็ก
มีกำแพงแลงเลือนต่อต้าย
หัวเมืองเต็กเสียงกล่าวแก่บ่าว
ทังขวาทังซ้ายถ้วนหมู่หมาย ๚ะ
กำสรวลโคลงดั้น

จัตวาทัณฑี รับสัมผัสคำที่ 4 บาทสามและสี่

๏ ทสพิธธรรมโมชแท้ทศสกนธ
ทศพัสดุแสดงทสเกลศกลั้ว
ทศกายพลทศพลภาคย ก็ดี
ทศอศุภหมั้วห้อมห่อสกนธ์ ๚ะ
ลิลิตยวนพ่าย

สัมผัสระหว่างบท

โดยทั่วไปการส่งสัมผัสระหว่างบทของโคลงสี่ในวรรณกรรมมี 3 แบบ คือ

  1. แบบที่ 1 ส่งจากคำสุดท้ายของบทแรก ไปยังคำใดคำหนึ่งในวรรคแรกของบทต่อไป มักใช้กับโคลงสี่สุภาพ
  2. แบบที่ 2 ส่งจากคำสุดท้ายบทแรกไปยังคำที่ 4 หรือ 5 บาทที่สองในบทต่อไป ใช้กับโคลงสี่ดั้นวิวิธมาลี
  3. แบบที่ 3 ส่งจากคำสุดท้ายบาท 3 ในบทแรกไปยังคำที่ 3, 4 หรือ 5 ในวรรคแรกบทต่อไป กับจากคำสุดท้ายบาท 4 ในบทแรก ไปยังคำที่ 4, 5 ในวรรคแรกบาทสองของบทต่อไป ใช้กับโคลงสี่ดั้นบาทกุญชร

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีวรรณกรรมบางเรื่องส่งสัมผัสระหว่างบทออกไป เช่น ในมหาชาติคำหลวง กัณฑ์มหาพน มีโคลงสี่สุภาพและโคลงตรีพิธพรรณส่งสัมผัสระหว่างบทแบบโคลงบาทกุญชร ในจิดามณี มีโคลงขับไม้ส่งสัมผัสระหว่างบทแบบโคลงวิวิธมาลี ในลิลิตนารายณ์สิบปาง และพระนลคำหลวง มีโคลงสี่ดั้น และโคลงในตำรากาพย์ ส่งสัมผัสระหว่างบทแบบโคลงสี่สุภาพ

3.การใช้คำสร้อย

ตามตำราฉันทลักษณ์กำหนดไว้ว่า โคลงสี่มีสร้อยได้สองแห่งคือท้ายวรรคแรก และท้ายวรรคที่สาม แต่ในวรรณกรรมกวีทุกสมัยตั้งแต่อยุธยาจนกระทั่งถึงรัชการที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่งโคลงสี่โดยมีสร้อย 3 แห่ง คือ มีสร้อยในบาที่ 4 ด้วย ทั้งโคลงดั้น และโคลงสี่สุภาพ ตัวอย่าง

๏ โฉมแม่จักฝากฟ้าเกรงอินทร หยอกนา
อินทรท่านเทอกโฉมเอาสู่ฟ้า
โฉมแม่จักฝากดินดินท่าน แล้วแฮ
ดินฤขัดเจ้าหล้าสู่สมสองสม ๚ะ
๏ โฉมแม่ฝากน่านน้ำอรรณพ แลฤๅ
เยียวนาคเชยชมอกพี่ไหม้
โฉมแม่รำพึงจบจอมสวาสดิ์ กูเอย
โฉมแม่ใครสงวนได้เท่าเจ้าสงวนเอง ๚ะ
กำสรวลโคลงดั้น


๏ ตีอกโอ้ลูกแก้วกลอยใจ แม่เฮย
เจ้าแม่มาเป็นใดดั่งนี้
สมบัติแต่มีในภาพแผ่น เรานา
อเนกบรู้กี้โกฏิไว้จักยา พ่อนา ๚ะ
ลิลิตพระลอ


๏ จรุงพจน์จรดถ้อยห่างทางกวี
ยังทิวาราตรีไม่น้อย
เทพใดหฤทัยมีมาโนชญ์
เชิญช่วยอวยให้ข้อยคล่องถ้อยคำแถลง เถิดรา ๚ะ
สามกรุง

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า โคลงสี่วรรณคดีมีการใช้สร้อยทั้ง 3 แห่ง คือ บาทแรก บาทที่สาม และบาทที่สี่

โคลงห้า

โคลงห้า เป็นคำประพันธ์ที่ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมเพียงเรื่องเดียว คือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ ซึ่งเป็นวรรณกรรมร้อยกรองยุคแรกของไทย และไม่ปรากฏว่าต่อมามีกวีใช้โคลงห้าแต่งวรรณกรรมเรื่องใดอีกเลย

ในจินดามณี ฉบับพระโหราธิบดี กล่าวถึงโคลงห้าไว้เพียงยกตัวอย่างคำประพันธ์ชื่อ มณฑกคติโคลงห้า โดยไม่มีคำอธิบาย แต่ยกตัวอย่างที่สองว่าเป็น อย่างโคลงแช่งน้ำพระพัฒน์ ซึ่งก็คือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ นั่นเอง มีผู้พยายามอธิบายฉันทลักษณ์ของโคลงห้าอยู่หลายคนได้แก่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หม่อมเจ้าจันทร์จิรายุวัฒน์ รัชนี (พ.ณ ประมวญมารค) พระยาอุปกิตศิลปสาร และจิตร ภูมิศักดิ์

คำอธิบายของ จิตร ภูมิศักดิ์ ค่อนข้างจะมีน้ำหนักมากกว่าข้อสันนิษฐานของคนอื่น โดยมีข้อสนับสนุนจากลักษณะโคลงลาวที่ปรากฏในวรรณคดีล้านช้างเรื่อง ท้าวฮุ่งท้าวเจือง โดยจิตร อธิบายว่า โคลงห้าเป็นโคลงดั้นชนิดหนึ่ง มีบาทละ 5 คำ นิยมแต่งในอาณาจักรลาวล้านช้างยุคโบราณ ส่งสัมผัสแบบโคลงบาทกุญชร และอาจเพิ่มคำต้นบาท รวมทั้งมีสร้อยได้ทุกบาท ทั้งยังสามารถตัดใช้เพียงบทละ 2 - 3 บาท ได้เช่นเดียวกับโคลงลาวด้วย อีกทั้งเมื่อจัดวางรูปแบบฉันทลักษณ์ตามที่จิตรเสนอ มีความเป็นไปได้ค่อยข้างมาก

ตัวอย่างโคลงห้า จากลิลิตโองการแช่งน้ำ (จัดตามรูปแบบที่จิตรแนะนำ)

๏ นานาอเนกน้าวเดิมกัลป์
จักร่ำจักราพาฬเมื่อไหม้
กล่าวถึงตระวันเจ็ดอันพลุ่ง
น้ำแล้งไข้ขอดหาย ๚ะ
๏ เจ็ดปลามันพุ่งหล้าเป็นไฟ
วาบจตุราบายแผ่นคว่ำ
ชักไตรตรึงส์เป็นเผ้า
แลบ่ล้ำสีลอง ๚ะ
๏ สมรรถญาณควรเพราะเกล้าครองพรหม
ฝูงเทพนองบนปานเบียดแป้ง
สรลมเต็มพระสุธาวาส
ฟ้าแจ้งจอดนิโรโธ ๚ะ
๏ กล่าวถึงน้ำฟ้าฟาดฟองหาว
ดับเดโชฉ่ำหล้า
ปลาดินดาวเดือนแอ่น
ลมกล้าป่วนไปมา ๚ะ