ประวัติ ของ โจว_ต้ากวาน

โจว ต้ากวาน เป็นชาวหย่งเจีย (永嘉縣) ซึ่งสมัยนั้นเรียก "เวินโจว" (温州) เอกสารบางฉบับเรียกเขาว่า "โจว จิ้งกวาน" (周建觀) หรือ "โจว ต๋าเข่อ" (周達可) ในบั้นปลายชีวิตเขาใช้นามปากกว่า "เฉ่าถิงอี้หมิน" (草庭逸民; "นักพรตศาลามุงฟาง")[6]

ใน ค.ศ. 1296 จักรพรรดิยฺเหวียนเฉิงจงส่งคณะทูตไปต่างประเทศ ซึ่งมีโจว ต้ากวาน เป็นทูตอยู่ด้วย แต่เอกสารหลวงมิได้บันทึกการส่งทูตครั้งนี้ไว้ อย่างไรก็ดี ปรากฏว่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1296 โจว ต้ากวาน ออกเดินทางโดยเรือจากชายฝั่งทะเลในหมิงโจว (明州) ซึ่งปัจจุบัน คือ หนิงปั๋ว (宁波) ผ่านท่าและด่านต่าง ๆ คือ ฝูโจว (福州), กว่างโจว (广州), เฉฺวียนโจว (泉州), ไห่หนาน (海南), และทะเลชีโจว (七洲; "ทะเลเจ็ดเกาะ) เข้าเวียดนามไปทางเจียวจื่อ (交趾) แวะพัก ณ ที่ซึ่งปัจจุบัน คือ กวีเญิน (Quy Nhơn) แล้วเดินทางต่อไปยังบ่าเซีย (Bà Rịa) ผ่านหมู่เกาะกนด๋าว (Côn Đảo) ก่อนขึ้นเหนือไปยังแม่โขง เข้าสู่โตนเลสาบ (ទន្លេសាប ทนฺเลสาบ) ในแดนเขมร ไปออกกำพงฉนาง (កំពង់ឆ្នាំង กํพง̍ฉฺนำง) แล้วล่องเรือเล็กในโตนเลสาปอีกหลายวันไปจนถึงเมืองพระนครในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1296 นั้น

เขาและคณะได้รับอนุญาตให้เข้านอกออกในพระราชวัง แต่ไม่รวมถึงฝ่ายใน เขาบันทึกพรรณนาปราสาทราชมนเทียร วัดวาอาราม ตึกรามบ้านช่อง ต่าง ๆ ไว้ทั้งในเมืองนอกเมือง เขายังได้ชมพิธีกรรมและขบวนแห่ต่าง ๆ รวมถึงชีวิตประจำวันของผู้คน ทั้งได้เที่ยวท่องไปตลอดเมืองและชนบท ในช่วงที่เขาอยู่ ณ เมืองพระนครนี้ เขาพักอยู่ ณ เรือนแห่งหนึ่งใกล้กับประตูทางทิศเหนือของเมือง[7]

เขาอยู่ในจักรวรรดิเขมรราว 11 เดือน แล้วเดินทางออกไปในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1297 และภายในเวลา 15 ปีหลังจากนั้น เขาเขียน เจินล่าเฟิงถูจี้ ขึ้น แต่เขียนเสร็จเมื่อไรแน่ไม่ปรากฏ ต้นฉบับที่เหลือรอดมาจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่า เป็นเพียงหนึ่งในสามของเนื้อหาทั้งหมด ส่วนที่เหลือน่าจะสาบสูญสิ้น[8]

ชีวิตของเขาหลังจากการเดินทางครั้งนั้นก็ไม่เป็นที่รับทราบมากมายนัก แต่เชื่อกันว่า เขามีชีวิตอยู่จนถึงคริสต์ทศวรรษ 1350[8]