ประวัติ ของ โทรคมนาคมแห่งชาติ

ดูบทความหลักที่: ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม

ก่อนการควบรวมกิจการ

แนวคิดในการควบรวมทีโอที และ กสท โทรคมนาคม เข้าด้วยกัน เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ในสมัยที่ สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ปัจจุบันคือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยเห็นควรให้ทั้ง 2 หน่วยงานควบรวมกันเพื่อความอยู่รอด แต่ถูกคัดค้านอย่างหนักจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 หน่วยงาน ต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ทั้ง 2 หน่วยงานจัดตั้งบริษัทลูก เพื่อแยกธุรกิจบางส่วนที่ทั้ง 2 หน่วยงานลงทุนและดำเนินงานซ้ำซ้อนกันออกมาต่างหาก ดังนี้

  • ทีโอที จัดตั้ง บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (National Broadband Network; NBN) เพื่อให้บริการค้าส่งบรอดแบนด์และโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมภายในประเทศเป็นหลัก โดยมีสินทรัพย์ ได้แก่ โครงข่ายหลัก ระบบสื่อสัญญาณ จนถึงโครงข่ายสายตอนนอก และเคเบิลใยแก้วนำแสง
  • กสท โทรคมนาคม จัดตั้ง บริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (Neutral Gateway & Data Center; NGDC) เพื่อให้บริการบรอดแบนด์ระหว่างประเทศเป็นหลัก รวมทั้งศูนย์บริการข้อมูล โดยมีสินทรัพย์ที่อยู่นอกประเทศ ได้แก่ สถานีเคเบิลใยแก้วใต้น้ำทั้งในและระหว่างประเทศ เคเบิลภาคพื้นดินระหว่างประเทศ รวมทั้งโครงข่ายขนส่งข้อมูลทั้งในและระหว่างประเทศ[2]

แต่มติดังกล่าวก็กลับถูกคัดค้านจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจของทั้ง 2 หน่วยงานเช่นกัน เนื่องจากเห็นว่าจะมีผลกระทบหลายด้าน และไม่ได้แก้ปัญหาของรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงานอย่างจริงจัง รวมถึงเป็นการเพิ่มบริษัทสำหรับดำเนินงานโทรคมนาคมของรัฐโดยไม่จำเป็น[3] แต่ต่อมา ทั้งทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม ก็ได้ทยอยโอนย้ายพนักงานไปทำงานที่บริษัทลูก

การควบรวมกิจการ

ในปี พ.ศ. 2561 ได้มีการเสนอให้กลับมาใช้แนวทางเดิมของปี พ.ศ. 2545 โดยการควบรวมรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 หน่วยงานเข้าด้วยกัน[4] ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานก็เห็นตรงกันกับข้อเสนอดังกล่าว แต่ก็ยังมีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับวิธีการควบรวมและระยะเวลา จนกระทั่งวันที่ 12 กันยายน คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจได้มีมติให้ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ควบรวมกิจการกันแล้วตั้งเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และทั้ง 2 หน่วยงาน จัดทำรายละเอียดในการควบรวมกิจการให้ครบถ้วนเพื่อเสนอให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป พร้อมทั้งให้ยุบบริษัทลูกทั้ง NBN และ NGDC และให้พนักงานของทั้ง 2 บริษัทกลับเข้าทำงานที่ต้นสังกัดเดิม[5]

ในวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเห็นชอบในหลักการควบรวมกิจการของทีโอที และ กสท โทรคมนาคม และให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีโดยเร็วต่อไป[6] และในที่สุด วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้ ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ควบรวมกิจการเป็นบริษัทเดียวในชื่อ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) (National Telecom; NT) และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมด และให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ซึ่งถือเป็นการยุบบริษัทลูกทั้ง NBN และ NGDC อย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำกับดูแลดำเนินการควบรวมกิจการของทีโอทีและ กสท โทรคมนาคม ให้เป็นไปตามเป้าหมายและกรอบระยะเวลาที่กำหนด คือภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ ครม. มีมติ คือวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[7] แต่ต่อมาก็มีแนวโน้มที่จะขอเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ขยายเวลาควบรวมออกไปอีก 6 เดือน คือเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้กระบวนการเอกสารบางอย่างที่จำเป็นต้องจัดส่งไปยังต่างประเทศ เช่น การแจ้งหนังสือถึงเจ้าหนี้เป็นลายลักษณ์อักษร เกิดการติดขัด เป็นต้น[8]