โทรเลขในประเทศไทย ของ โทรเลข

บทความนี้ต้องการการจัดหน้า จัดหมวดหมู่ ใส่ลิงก์ภายใน หรือเก็บกวาดเนื้อหา ให้มีคุณภาพดีขึ้น คุณสามารถปรับปรุงแก้ไขบทความนี้ได้ และนำป้ายออก พิจารณาใช้ป้ายข้อความอื่นเพื่อชี้ชัดข้อบกพร่อง
ใบฝากส่งโทรเลข และตัวอย่างการกรอกใบฝากส่ง

เริ่มแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2412 ทรงอนุมัติให้ชาวอังกฤษจัดตั้งบริษัทก่อสร้างและบำรุงรักษาทางโทรเลขตามคำเสนอขอ แต่การดำเนินงานกลับล้มเหลว

เมื่อ พ.ศ. 2418 สมัยรัชกาลที่ 5 กรมกลาโหมดำเนินการสร้างทางสายโทรเลขสายแรกจากกรุงเทพมหานครไปปากน้ำ (หรือจังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบัน) โดยวางสายเคเบิลโทรเลขใต้น้ำต่อออกไป ถึงกระโจมไฟนอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยารวมระยะทาง 45 กิโลเมตร เพื่อใช้ในการส่งข่าวสารทางราชการเป็นหลัก

ในปี พ.ศ. 2421 กรมกลาโหมได้สร้างทางโทรเลขสายที่ 2 จากกรุงเทพฯ ถึงพระราชวังบางปะอิน และได้ขยายสายออกไปถึงกรุงเก่า (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

ต่อมาปี พ.ศ. 2426 เริ่มสร้างทางใช้ลวดเหล็กอาบสังกะสีเป็นสายแรกของกรุงเทพฯ ผ่านปราจีนบุรี กบินทร์บุรี อรัญประเทศ ศรีโสภณ และคลองกำปงปลัก ในจังหวัดพระตะบอง (สมัยนั้นยังเป็นของสยาม) ได้เชื่อมต่อกับสายโทรเลขอินโดจีน ไซง่อนซึ่งเป็นสายแรกที่ติดต่อกับต่างประเทศ และในวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้บริการโทรเลข

เมื่อมาถึง พ.ศ. 2440 กรมโทรเลขได้สร้างทางสายกรุงเทพฯ แม่สอด จังหวัดตาก เพื่อไปต่อกับสายโทรเลขของอังกฤษไปเมืองมะละแหม่ง และย่างกุ้ง และได้สร้างทางโทรเลขจากกรุงเทพฯ เพชรบุรี ชุมพร ทุ่งสง หาดใหญ่ และสงขลา และในปี พ.ศ. 2441 ได้สร้างสายย่อจากสงขลาไปไทรบุรี (สมัยนั้นยังเป็นของสยาม และปัจจุบันคือรัฐเกอดะฮ์ ประเทศมาเลเซีย) และกัวลามุดา เพื่อเชื่อมต่อกับสายโทรเลขของอังกฤษไปปีนังและสิงคโปร์

ในปี พ.ศ. 2496 นายสมาน บุณยรัตพันธุ์ นายช่างโทรเลขได้สร้างเครื่องโทรพิมพ์ภาษาไทยได้สำเร็จ โดยคิดระบบกลไก หรือ Spacing Control Mechanism ต่อมาได้ประดิษฐ์เพิ่มเติมโดยให้เครื่องทำงานได้ทั้งสองภาษา (ไทยและอังกฤษ) ให้ชื่อว่า เครื่องโทรพิมพ์ไทยแบบ S.P. โดยกรมไปรษณีย์โทรเลขรับรองเมื่อปี พ.ศ. 2498

เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 กรมไปรษณีย์โทรเลขสั่งสร้างเครื่องโทรพิมพ์ไทยจากประเทศญี่ปุ่น เข้ามาใช้งานเป็นรุ่นแรกระหว่างกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ กรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์-เชียงใหม่ หลังจากนั้นได้ใช้เครื่องโทรพิมพ์ออกไปทั่วประเทศ

ปี พ.ศ. 2503 ได้มีการปรับปรุงบริการให้ทันสมัยโดยจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ เช่น เครื่องส่งและเครื่องรับวิทยุความถี่สูง เครื่องโทรพิมพ์ที่ใช้งานโทรเลขแบบต่างๆ เปิดการใช้งานรับส่งโทรเลขติดต่อกับต่างประเทศด้วยวงจร HF1 ARQ โดยประเทศแรกที่ติดต่อด้วยวงจรนี้คือประเทศญี่ปุ่น

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 กรมไปรษณีย์โทรเลขได้จัดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมขึ้นในจังหวัดและอำเภอต่าง ๆ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 50 สถานี

จนกระทั่งพ.ศ. 2520 กรมไปรษณีย์โทรเลขได้โอนส่วนปฏิบัติการให้บริการโทรคมนาคมของประเทศรวมถึงบริการโทรเลขไปอยู่ในความรับผิดชอบของการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจตั้งขึ้นใหม่ สังกัดกระทรวงคมนาคม

ต่อมาปี พ.ศ. 2542 รัฐบาลมีนโยบายที่ต้องการแปรสภาพรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้เทียบเท่าภาคเอกชน ซึ่ง กสท.เป็นหนึ่งในรัฐวิสาหกิจที่ต้องดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 คณะรัฐมนตรีมีมติให้แปรสภาพ กสท. ตามแผนแม่บทพัฒนากิจการโทรคมนาคม และพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 แยกกิจการเป็น 2 บริษัท คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2546 โดยบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ยังคงรับผิดชอบการให้บริการโทรเลขด้วย[1] และยกเลิกบริการโทรเลข ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2551 เวลา 20.00 น.