สมัยปัจจุบัน ของ โทษประหารชีวิตในประเทศไทย

การยิงเป้าประหารชีวิต

หลักประหารชีวิต

หลักประหาร (หลักไม้กางเขน) ทำจากไม้ตะเคียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481 ใช้สำหรับมัดผู้ต้องโทษประหารกับหลักประหารเพื่อไม่ให้นักโทษดิ้น แต่หลักประหารนี้จะต้องเปลี่ยนเสมอๆ เพราะเวลาคนเราจะถูกยิงมักจะบิดตัว บิดมือ หลบนู่นหลบนี่เสมอ เลยถูกหลักประหารแตกหักไปตามสภาพการใช้งาน

ฉากสำหรับกั้นนักโทษประหาร

ฉากไม้ชนิดตั้งรูปสี่เหลี่ยมมีผ้าขึง การประหารด้วยการยิง จะมีฉากไม้ชนิดตั้งรูปสี่เหลี่ยมมีผ้าขึงบังข้างหลังนักโทษ ที่ถูกประหารชีวิตห่างประมาณ 1 เมตร มีเป้ารูปหัวใจปิดไว้บนฉากตรงจุดกลางระดับหัวใจผู้ถูกประหารเป็นเป้าสำหรับเล็งปืน เมื่อพร้อมแล้ว เจ้าหน้าที่ให้สัญญาณโดยโบกธงสีแดง ผู้ทำหน้าที่เพชฌฆาตลั่นไกปืนทะลุเป้ากระดาษที่จัดระดับตรงกับหัวใจพอดีฉากไม้ที่ตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ ปรากฏหลักฐานว่าทำขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481

ปืนที่ใช้สำหรับประหารชีวิต

พ.ศ. 2477 ได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 ว่าด้วยการประหารชึวิตจากการ "ให้เอาไปตัดศีรษะเสีย" เป็น "ให้เอาไปยิงเสียให้ตาย" ปืนกลมือที่ใช้ประหารชีวิตครั้งแรกเป็นเอ็มเพ 18 หรือ เบิร์กมันน์ เอ็มเพ 18 (อีกชื่อที่คนไทยรู้จัก คือ แบล็กมันน์ 18)​ ใช้ประหารชีวิตครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2478 ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 ได้มีการเปลี่ยนปืนกลมือจากเบิร์กมันน์เป็นเฮคแลร์อุนด์คอค เอ็มเพ5 หรือ ปืนกลมือเอ็มพี5 เอสดี3 สำหรับปืนกลมือเบิร์กมันน์นี้ใช้ประหารชีวิตผู้ต้องขังมาแล้วจำนวน 213 คน

กระสอบทราย(มูลดิน)

ในการประหารชีวิตด้วยปืน จะมีอุปกรณ์สำหรับป้องกันกระสุนปืนที่อาจจะเกิดจากการยิงพลาด จึงมีกระสอบทรายวางไว้หลังหลักประหารเพื่อป้องกันกระสุน ในอดีตที่ยังไม่มีกระสอบทรายก็ได้ใช้มูลดินเป็นเครื่องป้องกัน

จำนวนผู้ที่รับโทษยิงเป้า

นับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการตัดคอมาเป็นการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2478 จนถึง พ.ศ. 2546 มีนักโทษถูกประหารชีวิต 319 คน เป็นนักโทษชาย 316 คน นักโทษหญิง 3 คน

ขั้นตอน และ ระเบียบปฏิบัติ

วิธีการประหารชีวิตจะเริ่มขึ้นโดยเจ้าหน้าที่อ่านคำสั่งศาลและฎีกาทูลเกล้าซึ่งพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานฯ คืนมาให้ผู้ต้องโทษฟังและลงชื่อรับทราบ ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนประวัติให้ถูกต้องและอนุญาตให้ผู้ต้องโทษจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สิน หรือกิจการจำเป็นอื่นใดเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วจึงให้ผู้ต้องโทษฟังเทศน์จากพระภิกษุสงฆ์หรือนักพรตในนิกายศาสนาที่ผู้ต้องโทษเลื่อมใสแล้วให้รับประทานอาหารเป็นมื้อสุดท้าย จากนั้นนำผู้ต้องโทษเข้าสู่หลักประหารซึ่งเป็นลักษณะเป็นไม้กางเขนมีความสูงขนาดไหล่ โดยผู้ต้องโทษจะถูกมัดด้วยด้ายดิบ ให้ยืนหันหน้าเข้าหลักประหารซึ่งมีไม้นั่งคร่อม ป้องกันมิให้ผู้ต้องโทษยืนตัวงอหรือเข่าอ่อน ข้อมือทั้งสองผูกมัดติดกับหลักประหารในลักษณะประนมมือ กำดอกไม้ธูปเทียนไว้ เจ้าหน้าที่นำฉากประหารซึ่งมีเป้าวงกลมติดอยู่กับฉาก ตั้งเล็งให้เป้าอยู่ตรงจุดกลางหัวใจของผู้ต้องโทษ ห่างจากด้านหลังผู้ต้องโทษประมาณ 1 ฟุต เพื่อกำบังมิให้เจ้าหน้าที่ผู้ลั่นไกปืนเห็นตัวผู้ต้องโทษ แท่นปืนประหารตั้งอยู่ห่างจากฉากประหารประมาณ 4 เมตร ก่อนการประหารจะมีการบรรจุกระสุนขนาด 9 มิลลิเมตร 15 นัด เมื่อพร้อมแล้วเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณ โดยโบกธงสีแดง ผู้ทำหน้าที่ลั่นไกปืน กระสุนชุดแรกจะยิง 8 - 9 นัด ซึ่งตามปกติผู้ถูกประหารจะเสียชีวิตทันที แต่หากไม่เสียชีวิตเพชฌฆาตจะลั่นกระสุนอีกชุด เพื่อให้ผู้ถูกประหารทรมานน้อยที่สุด คณะกรรมการประหารชีวิตร่วมกันตรวจสอบจนแน่ใจว่านักโทษถึงแก่ความตายอย่างแท้จริง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะจัดพิมพ์ลายนิ้วนักโทษประหารเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อยืนยันว่าไม่ประหารชีวิตผิดตัว

การประหารชีวิตด้วยการฉีดยา

ดูบทความหลักที่: การฉีดยาตาย

ขั้นตอนการประหารชีวิตโดยการฉีดยานี้ จะมีขั้นตอนในการประหารชีวิตเช่นเดียวกับการประหารชีวิตโดยวิธีอื่นๆ กล่าวคือ ในสหรัฐจะมีการเตรียมจิตใจของผู้ถูกประหารก่อนการประหาร เช่น ก่อนการประหาร 4 วัน นักโทษประหารจะถูกนำตัวจากแดนนักโทษประหารไปสู่ห้องขังพิเศษสำหรับนักโทษประหารโดยเฉพาะ ซึ่งจะถูกเฝ้าดูจากเจ้าหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง จดหมายทุกฉบับจะถูกถ่ายสำเนาให้ ส่วนฉบับจริงจะเก็บไว้เนื่องจากกลัวว่าจะมียาพิษยาเสพติดหรือยาอื่นๆ เคลือบมา การโทรศัพท์ต้องได้รับอนุญาตจากผู้บัญชา-การเรือนจำก่อน ในช่วงนี้อาจมีญาติมาเยี่ยมได้

ก่อนการประหาร 2 วัน ผู้บัญชาการจะตรวจตราเพื่อเตรียมอุปกรณ์ในการประหารให้พร้อม รวมทั้งเตรียมการเกี่ยวกับใบมรณะบัตรและการเคลื่อนย้ายศพ และก่อนการประหารหนึ่งวัน เจ้าหน้าที่ประหารจะเตรียมอุปกรณ์เข็มฉีดยาและยา และอุปกรณ์สำรองให้พร้อม มีการจัดเตรียมพื้นที่หรือห้องสำหรับผู้สื่อข่าวที่เข้าไปทำข่าวในเรือนจำ รวมทั้งพยานที่จะเข้าไปสังเกตการณ์ในการประหาร เมื่อถึงเวลา 18.00 น. เจ้าหน้าที่จะจัดอาหารมื้อสุดท้ายไปให้นักโทษประหารรับประทาน เวลา 22.00 น. ผู้สื่อข่าว และพยานจึงได้รับอนุญาตให้เข้าเรือนจำและได้รับการชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ถึงขั้นตอนการประหาร เวลา 23.30 น. จึงได้เริ่มดำเนินการเพื่อเตรียมการประหารซึ่งจะเริ่มเวลาเที่ยงคืนตรง เมื่อใกล้ถึงเวลาประหาร เจ้าหน้าที่จะนำตัวนักโทษประหารจากห้องขังไปที่ห้องประหาร แต่แทนที่จะนำนักโทษประหารไปยืนตรึงกับหลักประหารก็เปลี่ยนเป็นการให้นอนบนเตียงประหาร ตรึง และผูกด้วยสายหนัง ทั้งขา ลำตัว และแขนทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอยู่ในท่ากางออกทำให้ไม่สามารถดิ้นได้

เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทีได้รับการฝึกอบรมมาอย่างดีจะมาติดเครื่องวัดการเต้นของหัวใจเข้ากับตัวนักโทษเพื่อตรวจสอบการตายหลังการฉีดยา โดยให้กรรมการภายนอกได้เห็นการเต้นของหัวใจ จากนั้นจึงแทงเข็มเข้าเส้นเลือดใหญ่หรือที่หลังมือทั้ง 2 ข้าง ข้างหนึ่งเป็นเข็มที่ใช้จริงอีกข้างหนึ่งเป็นเข็มสำรองในกรณีที่เข็มแรกมีปัญหา หรือบางกรณีจะแทงเข็มที่แขนเข็มเดียว จากนั้นนำท่อมาต่อเข้าเข็มโยงไปยังเครื่องฉีดยาเมื่อได้เวลา เจ้าหน้าที่เรือนจำก็จะให้สัญญาณในการดำเนินการประหารได้ เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่เพชฌฆาต 2 คน ซึ่งอยู่ในห้องฉีดยาจะมี 2 ปุ่ม กดคนละปุ่ม แต่จะมีปุ่มเดียวที่ปล่อยยาเข้าร่างดังนั้น เจ้าหน้าที่ทั้ง2จึงไม่มีโอกาสทราบได้ว่าใครเป็นผู้กดปุ่มปล่อยยาเข้าเส้น แต่สำหรับประเทศที่ไม่ใช้เครื่องฉีดยาอัตโนมัติจะใช้คนฉีดยาด้วยมือ ซึ่งจะมีคนเดียว ฉีดเข้าแขนซ้ายหรือขวา การฉีดไม่ได้ไปยืนฉีดที่แขน แต่ต่อสายยางออกมาและผู้ฉีดจะอยู่หลังม่าน

ยาที่ใช้ในการประหารชีวิต

ยาที่ใช้ฉีดจะมี Sodium Pentothal ในสารละลาย 20-25 มิลลิลิตร, Pancuronium bromide 50 มิลลิลิตร และ Potassium chloride 50 มิลลิลิตร ยาดังกล่าว นี้เป็นผลมาจากการวิจัยของ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ว่าจะให้ผลอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ยาที่ใช้ฉีดไม่ใช่ยาพิษ แต่เป็นยาทั่วไป ซึ่งถ้าให้เกินขนาดก็จะมีผลทำให้ตายได้โดยจะต้องมีประมาณที่มากพอสมควรต้องค่อยๆ ปล่อยเข้าไปในเส้นเลือด และใช้ถึง 3 ชนิด ดังนั้นที่กลัวกันว่าจะนำยานี้ใส่เข็มแล้วไปจิ้มคนทั่วไปนั้น จะไม่เป็นอันตรายใดๆ และหากจะทำให้ผู้อื่น ถึงแก่ความตายก็ใช้ยาพิษอื่นๆ จะไม่ยุ่งยากเท่าวิธีดังกล่าวนี้

ขั้นตอน และ ระเบียบปฏิบัติ

การฉีดยา เข็มแรกจะปล่อยยา Sodium thiopental เข้าไปให้หลับก่อน จากนั้นจึงปล่อยเข็มที่ 2 Pancuronium bromide และ เข็มที่ 3 Potassium chloride ตามลำดับ เพื่อให้หัวใจหยุดสูบฉีดโลหิตภายในไม่ถึงนาที เมื่อนักโทษแสดงอาการแน่นิ่งไป ผู้บัญชาการเรือนจำจะขอให้นายแพทย์ของเรือนจำเข้าตรวจยืนยันการตายของผู้ต้องขังและประกาศเวลาตายต่อหน้าพยานรวมใช้เวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนนี้ทั้งสิ้นประมาณ 20-30 นาทีผู้แทนจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร จะพิมพ์ลายนิ้วมืออีกครั้ง และเคลื่อนย้ายศพของนักโทษไปห้องเก็บศพต่อไป โดยเก็บไว้ตรวจสอบอีก 1 วัน ตลอดเวลาจะมีการถ่ายรูปและวิดีโอตามขั้นตอนต่างๆ ไว้

จำนวนผู้ที่รับโทษฉีดยาตาย

นับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการยิงเป้ามาเป็นการฉีดยาในปี พ.ศ. 2546 มีนักโทษถูกประหารชีวิต 7 คน เป็นนักโทษชายทั้งหมด

การนำมาใช้ในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทยหากมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการประหารมาเป็นการฉีดยานั้น ขั้นตอนการประหารจะแตกต่างจากในสหรัฐเพราะการประหารชีวิตของไทยจะกระทำโดยทันทีที่ได้รับคำสั่ง โดยปกติจะเป็นเวลาเย็น นักโทษประหารจะไม่รู้ตัวล่วงหน้า เมื่อเจ้าหน้าที่เดินเข้าไปในแดนประหารและนำตัวผู้ใดออกมา เมื่อนั้นจึงจะรู้ตัว และเมื่อผ่านพิธีการด้านการตรวจสอบบุคคล พิธีกรรมทางศาสนาและอื่นๆแล้ว จะถูกนำตัวเข้าสู่แดนประหารซึ่งในช่วงนี้แทนที่จะเป็นการนำไปผูกกับหลักประหาร ก็เปลี่ยนเป็นการนำไปสู่เตียงประหารนั่นเอง

ทั้งนี้ การเปลี่ยนจากการประหารชีวิตโดยการยิงเป้ามาเป็นการฉีดยานั้น อาจทำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมากนัก เพราะสามารถใช้ห้องประหารในเรือนจำกลางบางขวางเช่นเดิมหาฉากกั้น จัดหาเตียงและสายหนังรัด และจัดอุปกรณ์เข็มและเครื่องฉีดยาเพิ่มเติม ค่าใช้จ่ายในการประหารแต่ละครั้งโดยเฉพาะค่ายาจะถูกกว่าค่าลูกกระสุนปืน ที่ใช้ในการยิงเป้า