โพธิสัตว์ศีลในดินแดนพุทธมหายาน ของ โพธิสัตวศีล

บรรพชิตในจีน เกาหลี และเวียดนาม ยังรักษาพระวินัย/ปราติโมกษ์ของนิกายธรรมคุปต์อย่างเคร่งครัด ขณะที่ข้อกำหนดศีลในพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายาน จะรับกันในการอุปสมบทเป็นพระภิกษุมหายานโดยสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม เสถียร โพธินันทะกล่าวว่า แม้แต่สามเณร ก็ยังต้องปฏิบัติพระโพธิสัตว์ศีลเช่นเดียวกันกับภิกขุ ขณะที่ฆราวาสหากปรารถนาจะรับศีลโพธิสัตว์ก็สามารถทำได้ โดยต้องรีบศีล 5 เป็นพื้นฐานเสียก่อน โดย เสถียร โพธินันทะ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมใน "ประมวญกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย" ว่า "ฆราวาสนั้นมีความสำคัญเฉพาะข้อ 3 อันเป็นสิกขามังสะวิรัติเท่านั้น เพราะได้รับปฏิบัติในศีล 8 หรือ ศีล 5 อยู่แล้ว"

อย่างไรก็ตาม ที่ญี่ปุ่นได้มีการลดความสำคัญของพระปาติโมกข์ หรือพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ลง จนเหลือแต่การรับโพธิสัตว์ศีลเท่านั้น โดยเริ่มมาตั้งแต่ยุคของพระไซโจ หรือราวพุทธศตวรรษที่ 15 ผู้ก่อตั้งนิกายเทนได ซึ่งได้รับพระราชานุญาตจากพระจักพรรดิในการตั้งสีมาอุปสมบทของนิกายตนเอง โดยรับเพียงโพธิสัตว์ศีลไม่ต้องสมาทานพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ เพื่อชำระนิกายมหายานให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น โดยแต่เดิมผู้ที่จะรับการอุปสมบทในญี่ปุ่น จะต้องทำกันที่สีมาวัดโทไดจิ ในนครนาระ ซึ่งจะมีการอุปสมบทแบบดั้งเดิม คือรับพระวินัย/ปราติโมกษ์ของนิกายธรรมคุปต์พร้อมกับรับโพธิสัตว์ศีล

ต่อมา นอกจากนิกายเทนไดแล้ว นิกายเซน สายโซโตะ นิกายชินงอน และนิกายโจโดชู ยังอุปสมบทโดยรับเพียงโพธิสัตว์ศีลเท่านั้นเช่นกัน กระทั่งถึงยุคเมจิ รัฐบาลได้มีความพยายามลดความสำคัญของศาสนาพุทธ จึงออกกฎหมายเปิดทางให้บรรพชิตสมรสกับสตรี และตั้งครอบครัว โดยอ้างว่าพระวินัยมิได้มีบัญญัติห้ามบรรพชิตในเรื่องนี้ นับเป็นการสิ้นสุดของการถือพระวินัยในญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์