โพธิสัตวศีล

โพธิสัตว์ศีล คือศีลที่ปรากฏเฉพาะในพุทธศาสนานิกายมหายาน มีจุดมุ่งหมายให้ผู้สมาทานศีลนี้ มีความสำรวมทั้งกาย วาจา ใจเพื่อการก้าวสู่สถานะพระโพธิสัตว์รื้อขนสรรพสัตว์สู่พระนิพพาน โดยปกติแล้วฝ่ายบรรพชิตฝ่ายเถรวาทจะถือพระปาติโมกข์หรือศีล 227 ข้อ หรือที่ฝ่ายมหายานเรียกในภาษสันสกฤตว่า ปราติโมกษ์ โดยบรรพชิตฝ่ายมหายานก็ถือศีลชุดนี้เช่นกัน โดยอาศัยพระวินัยปิฎกจากพระไตรปิฎกของนิกายธรรมคุปต์ ซึ่งมีเนื้อหาตรงกับพระวินัยและ/หรือพระปาติโมกข์ของฝ่ายเถรวาท โดยบรรจุรวมอยู่ในพระไตรปิฎกภาษาจีน อย่างไรก็ตาม นอกจากปาติโมกข์ หรือปราติโมกษ์ แล้ว บรรพชิตฝ่ายมหายานยังถือโพธิสัตว์ศีลอีกด้วย เพื่อขัดเกลาตนเองและศีลให้บริสุทธิ์สมกับการดำเนินตามครรลองโพธิสัตว์มรรคยิ่งขึ้น อันเป็นหลักปฏิบัติสำคัญของพุทธศาสนิกชนนิกายมหายานเสถียร โพธินันทะ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา และผู้แปลพระวินัยในพุทธศาสนามหายาน กล่าวถึงโพธิสัตว์ศีลไว้ในหนังสือ "ประมวญกำหนดสิกขาบทในอุตตรนิกาย" ไว้ว่า "อนึ่ง ถ้าจะพิจารณาตามกำเนิดของลัทธิมหายาน จักประจักษ์ว่า เป็นด้วยวัตถุประสงค์ส่งเสริมจริยาแห่งพระบรมโพธิสัตว์เป็นสำคัญ โดยสอนให้บุคคลตั้งปณิธาน มุ่งพระพุทธภูมิ เพื่อมีโอกาสในการโปรดสรรพสัตว์ได้กว้างขวาง ฉะนั้น ลัทธิมหายานจึงมีสิกขาบทพิเศษอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งไม่มีในลัทธิฝ่ายสาวกยานนั่นคือ “โพธิสัตว์สิกขาบท” หรือ “โพธิสัตว์ศีล” ซึ่งศีลประเภทนี้ เป็นสาธรณทั่วไป แก่บรรพชิต และฆราวาสชน มิได้จำกัดเพศ ใคร ก็ตามที่มีโพธิจิตต์ตั้งความปรารถนา จักลุพุทธภูมิไซร้ ก็ย่อมบำเพ็ญตามสิกขาบทนี้ และโพธิจริยาอื่นๆ มีทศบารมี เป็นต้น"โพธิสัตว์ศีล ของฝ่ายมหายานปรากฏในในพรหมชาลสูตร (มหายาน) ซึ่งระบุถึงศีลสำหรับพระโพธิสัตว์ อันเป็นมูลฐานของการเป็นพระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ และพุทธะธาตุ หรือความเป็นพุทธะในตัวของสรรพสัตว์ แบ่งออกเป็นมหาโพธิสัตว์ศีล 10 (ครุกาบัติ) และจุลโพธิสัตว์ศีล 48 (ลหุกาบัติ) รวมเป็นโพธิสัตว์ศีล 58 ทั้งนี้ หากละเมิดครุกาบัติถือเป็นปาราชิก อย่างไรก็ตาม อาบัติโทษสถานหนัก 10 ข้อ แยกไว้เป็น 3 ประเภท เจตนา บังเอิญ หรือ สุดวิสัย คือ ผู้ต้องชั้นอุดมอาบัติขาดจากการเป็นโพธิสัตว์ ต้องในกรณีย์หลัง ให้อยู่กรรมมานัตต์ทรมานตนจึงจะพ้นอาบัติเป็นผู้บริสุทธิ์