โรคดัตช์

ในวิชาเศรษฐศาสตร์ โรคดัตช์ (อังกฤษ: Dutch disease) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นจากการเจริญเติบโตในภาคเศรษฐกิจหนึ่ง (เช่นการค้นพบแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ) แต่ไปทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นๆถดถอย (เช่นภาคการผลิตหรือเกษตรกรรม) สามารถอธิบายด้วยกลไกทางการค้าระหว่างประเทศคือ การที่ภาคเศรษฐกิจใดๆเติบโตขึ้นจะนำมาซึ่งเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติ ส่งผลให้สกุลเงินของประเทศแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ การแข็งค่าของสกุลเงินทำให้ประเทศมีต้นทุนในการส่งออกสูงขึ้นและมีต้นทุนการนำเข้าลดลง ทำให้ประเทศมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกด้อยลงเมื่อกล่าวถึงโรคดัตช์ โดยส่วนมากมักจะสื่อถึงการค้นพบทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ยังสามารถสื่อถึง "การเจริญเติบโตใดๆที่ทำให้เงินตราต่างประเทศไหลเข้าจำนวนมาก รวมถึงความผันผวนด้านราคาพลังงาน ด้านเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ"[1]คำว่าโรคดัตช์ถูกบัญญัติขึ้นในค.ศ. 1977 โดยนิตยสาร The Economist เพื่ออธิบายถึงภาวะถดถอยของภาคการผลิตในประเทศเนเธอร์แลนด์ภายหลังค้นพบแหล่งก๊าซโกรนิงเงินซึ่งเป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่เมื่อค.ศ. 1959[2] ตัวอย่างของโรคดัตช์ที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือประเทศเวเนซุเอลา การเป็นผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ในสมัยประธานาธิบดีอูโก ชาเบซ ทำให้สกุลเงินโบลิวาร์แข็งค่าขึ้นมหาศาล กรุงการากัสกลายเป็นเมืองที่มีค่าครองชีพแพงที่สุดในโลกตามอัตราแลกเปลี่ยน รายได้มหาศาลจากน้ำมันเพียงพอเลี้ยงดูประชากรทั้งประเทศ ทำให้ประเทศละเลยภาคเศรษฐกิจอื่นๆและต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทั้งหมด เมื่อเกิดภาวะราคาน้ำมันถดถอยอย่างรวดเร็วในค.ศ. 2014 ก็ทำให้ประเทศเข้าสู่วิกฤตการทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เวเนซุเอลา