ประวัติ ของ โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์

เครือเอเพ็กซ์ (พีรามิด) ก่อตั้งโดย นายพิสิฐ ตันสัจจา นักธุรกิจเจ้าของกิจการโรงภาพยนตร์ ที่ประสบความสำเร็จ จากการริเริ่มเข้าปรับปรุง "ศาลาเฉลิมไทย" โรงละครที่ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนินกลาง ใกล้แยกป้อมมหากาฬ ให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ มีความจุประมาณ 1,500 ที่นั่ง รวมถึงการนำเข้าระบบต่าง ๆ สำหรับโรงภาพยนตร์ เช่น ระบบสามมิติ, ระบบซีเนมาสโคป, ระบบทอคค์-เอโอ, ระบบซีเนรามาเลนส์เดี่ยว, ระบบซีเนรามาสามเลนส์พร้อมกัน และ ระบบ 70 มิลลิเมตร เข้ามาติดตั้งในประเทศไทย

ขณะกำลังก่อสร้างศูนย์การค้าสยามสแควร์ นายกอบชัย ซอโสตถิกุล ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท เซาท์อีสต์เอเชียก่อสร้าง จำกัด (ซีคอน) ที่รับเหมาออกแบบ และก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ภายในสยามสแควร์ ติดต่อมายังนายพิสิฐ เพื่อเสนอให้ลงทุนเปิดกิจการโรงภาพยนตร์ภายในสยามสแควร์ บนพื้นที่ริมถนนพระรามที่ 1 ทั้งนี้ อาคารโรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่ง มีนายพิสิฐ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ส่วนนายกอบชัย เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง

โรงภาพยนตร์สยามซากที่เหลือจากการเผาทำลายของโรงภาพยนตร์สยาม

โรงภาพยนตร์สยาม ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกในย่านนี้ ความจุ 800 ที่นั่ง แต่เดิมจะใช้ชื่อว่าโรงภาพยนตร์ "จุฬา" แต่มีผู้คัดค้าน เนื่องจากไปพ้องกับ พระนามในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ "จุฬาลงกรณ์" ซึ่งเป็นการมิบังควร และยังพ้องกับชื่อของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกด้วย เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2509 โดยเสนอภาพยนตร์เรื่อง รถถังประจัญบาน (Battle of the Bulge)

ส่วนโรงภาพยนตร์ลิโด ความจุ 1,000 ที่นั่ง เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2511 โดยเสนอภาพยนตร์เรื่อง ศึกเซบาสเตียน (Guns For San Sebastian) และโรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งตั้งอยู่ภายในสยามสแควร์ แต่มีระยะห่างจากถนนพระรามที่ 1 เพียงไม่กี่เมตร และได้รับการกล่าวขวัญว่า มีสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิกที่สวยงามโดดเด่น ผสมผสานระหว่างรูปแบบตะวันตกและตะวันออก ความจุ 1,000 ที่นั่ง เปิดฉายเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2512 โดยเสนอภาพยนตร์เรื่อง สองสิงห์ตะลุยศึก (The Undefeated)

โรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่ง เป็นผู้ริเริ่มจัดฉายภาพยนตร์ เพื่อสมทบทุนการกุศล โดยนำรายได้เต็มมูลค่า ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยกราบบังคมทูลเชิญทั้งสองพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร ในรอบปฐมทัศน์ อาทิ ภาพยนตร์เรื่อง Oliver และ Hello Dolly ทั้งนี้ ในอีกวโรกาสหนึ่ง กราบทูลเชิญ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร รอบปฐมทัศน์ของภาพยนตร์เรื่อง Lost Horizon เพื่อนำรายได้เข้าสมทบ "ทุนประชาธิปก"

ในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2513 ผู้บริหารโรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ มีนโยบายให้ผลิตและจัดพิมพ์หนังสือแจกฟรี เรียกว่า สูจิบัตรข่าวภาพยนตร์ เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โรงภาพยนตร์ ตลอดจนภาพยนตร์ที่จัดฉาย ในเครือเอเพ็กซ์ โดยชื่อหนังสือจะเปลี่ยนไปทุกเดือน จากการนำชื่อเรียกย่อของเดือนมาตั้งต้น แล้วจึงตามด้วยคำสร้อยที่เปลี่ยนไป เช่น ฉบับปฐมฤกษ์ มีชื่อว่า "ตุลาบันเทิง" ฉบับอื่น ๆ เช่น มกราสกาลา หรือ ตุลาราตรี เป็นต้น

ภายในโถงทางเข้าโรงภาพยนตร์สกาลา

หนังสือดังกล่าว มีขนาดแท็บลอยด์ ออกเป็นรายเดือน โดยชื่อของศูนย์การค้าย่านนี้ที่ว่า "สยามสแควร์" มีที่มาจาก คอลัมน์ซุบซิบเรื่องราวต่าง ๆ ของบุคคลในวงการบันเทิง และบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงสังคม ในหนังสือเล่มนี้ ซึ่งเขียนโดยพอใจ ชัยเวฬุ ที่มีชื่อว่า สยามสแควร์ มาก่อนแล้วนั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีนักเขียนรับเชิญที่โด่งดังอีกหลายท่าน อาทิ ประมูล อุณหธูป, วิลาศ มณีวัต, สุจิตต์ วงษ์เทศ, ขรรค์ชัย บุนปาน เป็นต้น

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2519 มีการขว้างระเบิดใส่ขบวนของนักศึกษาประชาชนที่เดินขบวนต่อต้านฐานทัพอเมริกาที่บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์สยาม มีผู้เสียชีวิต 4 คน คือ นาย กมล แซ่นิ้ม นาย นิพนธ์ เชษฐากุล นาย แก้ว เหลืองอุดมเลิศ และ นาย ธเนศร์ เขมะอุดม

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2536 โรงภาพยนตร์ลิโด เกิดเหตุเพลิงไหม้ จึงต้องก่อสร้างปรับปรุงใหม่ เป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก (มัลติเพล็กซ์) จำนวนสามโรง และเปิดทำการอีกครั้ง ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2537 ต่อมาราวปี พ.ศ. 2544 โรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่ง ทยอยติดตั้ง ระบบเสียง เซอร์ราวด์ ดอลบี ดิจิตอล เอสอาร์ดี ดีทีเอส เอสดีดีเอส รวมทั้งทยอยติดตั้ง ระบบปรับอากาศโอโซน เพื่อฟอกอากาศให้บริสุทธิ์สดชื่น นอกจากนี้โรงภาพยนตร์ทั้งสามแห่ง ยังเปิดพื้นที่ใต้ถุนโรงภาพยนตร์ โดยแบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ ให้ผู้ประกอบการรายย่อย เช่าเปิดเป็นร้านค้าต่าง ๆ โดยส่วนมากจะจำหน่ายเสื้อผ้า และเครื่องประดับตามแฟชั่น[8]

อนึ่ง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เมื่อกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามและรถหุ้มเกราะ เข้าสลายการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณแยกราชประสงค์ จนกระทั่งแกนนำ นปช.ต้องประกาศยุติการชุมนุม และเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หลังจากนั้นเกิดการจลาจลขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร โดยในเวลาบ่าย มีกลุ่มบุคคลเข้าวางเพลิงอาคารโรงภาพยนตร์สยาม แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าดับเพลิงได้ เนื่องจากมีการใช้อาวุธปืน ยิงผ่านไปมาบริเวณที่เกิดเหตุตลอดเวลา จึงเป็นภาวะที่มีความไม่ปลอดภัย จนกระทั่งอาคารเริ่มทรุดตัวและพังถล่มลงมา ในเวลา 15.45 น.[9] ทั้งนี้ ภาพยนตร์เรื่อง มหาประลัย คนเกราะเหล็ก 2 (Iron Man 2) เป็นเรื่องล่าสุดที่เข้าฉาย ก่อนโรงภาพยนตร์สยาม จะเกิดเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ โดยปัจจุบันที่ดินอันเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนตร์ได้ถูกงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำไปก่อสร้างใหม่เป็น ศูนย์การค้าสยามสแควร์วัน เนื่องจากคาบเกี่ยวกับช่วงที่สัญญาเช่าที่ดินได้สิ้นสุดลงพอดี

โรงภาพยนตร์ลิโด้ปิดตัวลงเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 เนื่องจากในปี 2559 โรงภาพยนตร์ลิโด้หมดสัญญาเช่าพื้นที่กับสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[10] โดยฉายเรื่องสุดท้ายคือ Tonight, At Romance Theater หรือชื่อไทย รักเรา จะพบกัน รอบเวลา 18.45 น. และ Kids on the Slope ภาพยนตร์มังงะจากญี่ปุ่น ฉายรอบเวลา 20.45 น.[11] ซึ่งมีประชาชนมาร่วมอำลาลิโด้เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการถ่ายภาพร่วมกับ "คุณลุงสูทเหลือง" พนักงานฉีกตั๋วหน้าโรงภาพยนตร์ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญเป็นเอกลักษณ์ของโรงภาพยนตร์แห่งนี้ พร้อมมอบของที่ระลึกให้แก่กันก่อนที่โรงภาพยนตร์จะปิดตัวลง ต่อมาโรงภาพยนตร์ลิโด้ เปลี่ยนชื่อเป็น ลิโด้ คอนเน็คท์ โดยเลิฟอีสมารับหน้าที่บริหารพื้นที่มีสัญญาเบื้องต้นราว 5 ปี นำพื้นที่แสดงศิลปะ มีการแสดงสดต่าง ๆ รวมถึงร้านค้าทั้งอาหารและเครื่องดื่ม โดยยังคงพื้นที่ของเก่า 70% เปิดทำการเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562[12]

สถาปัตยกรรม

โรงภาพยนตร์สกาล่า ออกแบบโดยพันเอกจิระ ศิลป์กนก ชื่อโรงภาพยนตร์ตั้งชื่อตามโรงอุปรากร Teatro alla Scala แห่งเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยคำว่า Scala มีความหมายว่า บันได ในภาษาอิตาลี โรงภาพยนตร์ออกแบบในศิลปะอาร์ตเดโค ภายในมีเสาคอนกรีตโค้ง การผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก และโคมฟ้าระย้าทรงหยดนํ้าค้างแข็ง 5 ชั้นขนาดยักษ์ที่สั่งตรงจากอิตาลี ในปี 2555 สกาล่าได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์[13][2] บริเวณหน้าทางเข้าโรงหนังมีปูนปั้นลอยตัวที่แสดงถึงความบันเทิงของเอเชีย ซึ่งมีทั้งบาหลี ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ไทย รวมอยู่บนผนัง[14]

ใกล้เคียง

โรงภาพยนตร์เครือเอเพ็กซ์ โรงภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์เฮาส์ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ โรงภาพยนตร์ทหานบก โรงงานเทสลา โรงอาบน้ำเกย์ โรงงานนาโน โรงงานไพ่ กรมสรรพสามิต โรงงานทอผ้าโทมิโอกะและสถานที่ที่เกี่ยวข้อง