ประวัติ ของ โรงเรียนบุญวัฒนา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จในงานเปิดอาคารเรียนหลังที่ 1

เนื่องในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้มีพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ดำรงพระราชอิสริยยศขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ภายหลังเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว)เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 เพื่อที่จะได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจให้ประเทศชาติมีความเจริญมั่นคงและร่มเย็นสืบต่อไป

ในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ นายบุญธรรม – นางบุญพริ้ง ต.สุวรรณ เจ้าของบริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด กรุงเทพฯ ซึ่งมีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ได้บริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศล จำนวน 6,000,000 บาท (หกล้านบาทถ้วน) เพื่อสร้างตึกอาคารเรียนแบบ 424 พิเศษ 24 ห้องเรียน หอประชุม อาคารเรียนชั่วคราว ครุภัณฑ์ ส้วม และถังเก็บน้ำ พร้อมเปิดเรียนชั้น ม.ศ.1 และ ม.ศ.4 ในปีการศึกษา 2516 จำนวน 4 ห้องเรียนเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ประกอบกับในขณะนั้นกระทรวงศึกษาธิการมีความประสงค์ที่จะขยายการศึกษาโดยการจัดตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งในอำเภอเมืองนครราชสีมา เนื่องจากจำนวนนักเรียนที่ประสงค์จะเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายมีจำนวนมากขึ้นทุก ๆ ปี เกินกว่าที่โรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย และโรงเรียนสุรนารีวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาประจำจังหวัดจะสามารถรับนักเรียนที่มาสมัครเข้าเรียนได้ทั้งหมด ส่วนที่เป็นสถานที่ก่อสร้างอาคารเรียน กระทรวงศึกษาธิการมอบให้สำนักงานศึกษาธิการ จ.นครราชสีมา ซึ่งมี นายจรัญ ปัทมดิลก ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการ จ.นครราชสีมา อยู่ในขณะนั้น ได้ดำเนินการจัดหาที่ดินสำหรับสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งที่ 3 ในอำเภอเมืองนครราชสีมา สำนักงานกระทรวงศึกษาธิการ จ.นครราชสีมา สามารถจัดหาที่ดินในทำเลที่เหมาะสมได้พื้นที่ใน ต.หัวทะเล อ.เมือง ซึ่งเป็นสถานที่ในปัจจุบัน โดยมีผู้บริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลดังนี้

  1. ร้อยโทรส มาศิริ บริจาคที่ดินให้เปล่าจำนวน 50 ไร่
  2. สิบเอกสมศักดื์ เจริญพจน์ บริจาคที่ดินให้จำนวน 30 ไร่

ส่วนที่ดินอีก 2 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา ได้ขอเงินชดเชยจาก นายบุญธรรม – นางบุญพริ้ง ต.สุวรรณ จำนวน 13,000 บาท (หนึ่งหมื่นสามพันบาทถ้วน) เพื่อนำเงินไปบำเพ็ญกุศลอุทิศให้ พ่อ – แม่ ที่เคยครอบครองที่ดินมาก่อน (สมัยนั้นที่ดินหน้าโรงเรียนบุญวัฒนามีการจัดสรรขายไร่ละประมาณ 80,000 บาท) รวมที่ดินทั้งสิ้น 82 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา

ครั้งเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) เสร็จมายังโรงเรียนบุญวัฒนา

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนนี้ว่า “โรงเรียนบุญวัฒนา” เพื่อความเป็นศิริมงคลกับโรงเรียน ผู้บริจาคที่ดิน คุณบุญธรรม – คุณบุญพริ้ง ต.สุวรรณ เจ้าของบริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่วมเสด็จพระราชกุศลครั้งนี้ด้วย จังหวัดนครราชสีมา เป็นจังหวัดเดียวที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ที่ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจส่งเสริมการศึกษาและพระศาสนา ดังนี้

  1. ตั้งโรงเรียนบุญวัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
  2. ตั้งวัดวชิราลงกรณวราราม (ธ) อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และยกให้เป็นพระอารามหลวง
ครั้งเมื่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ภายหลังพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) ทรงพระราชทานชื่อโรงเรียนบุญวัฒนา

วันพุธที่ 3 มกราคม 2516 เวลา 12.30 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาฤกษ์ อาคารเรียนถาวร ซึ่งจะสร้างเป็นอาคารเรียน 4 ชั้น แบบ 424 พิเศษ งบประมาณการก่อสร้าง 4,816,264.49 บาท (สี่ล้านแปดแสนหนึ่งหมื่นหกพันสองร้อยหกสิบสี่บาทสี่สิบเก้าสตางค์)นอกจากอาคารเรียนถาวรดังกล่าวแล้ว นายบุญธรรม และ นางบุญพริ้ง ต.สุวรรณ ยังได้สร้างอาคารเรียนชั่วคราว อาคารหอประชุม บ้านพักครู บ่อน้ำบาดาล พร้อมเครื่องสูบถังพักน้ำ โต๊ะเก้าอี้ครู 40 ชุด โต๊ะเก้าอี้นักเรียน 600 ชุด ห้องส้วม 2 หลัง ค่าชดเชยที่ดินและค่าจ้างปรับปรุงบริเวณโรงเรียน รวมเงินโดยเสด็จพระราชกุศล ในครั้งนี้ทุกรายการ จำนวน 6,000,000 บาท (หกล้านบาทถ้วน)วันที่ 17 พฤษภาคม 2516 โรงเรียนบุญวัฒนาเปิดสอนเป็นวันแรก โดยใช้อาคารเรียนชั่วคราวเนื่องจากอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารเรียนถาวร การจัดการเรียนการสอนดำเนินตามหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญ มีนักเรียน 233 คน ครู 15 คน ห้องเรียน 6 ห้องเรียน เป็นชั้น ม.ศ.1 จำนวน 2 ห้อง ชั้น ม.ศ.4 จำนวน 4 ห้อง และมีนายเทิดศักดิ์ รัตนมณี เป็นครูใหญ่

วันพุธที่ 30 ตุลาคม 2517 เวลา 13.30 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนิน ถึงโรงเรียนบุญวัฒนา เมื่อรถยนต์พระที่นั่งเทียบแถวนักเรียนที่รอรับเสด็จ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เบิกตัว นายสมาน แสงมติ รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา นายสมุทร วรรณพงษ์ ศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา และนายเทิดศักดิ์ รัตนมณี ครูใหญ่โรงเรียนบุญวัฒนา ซึ่งรอรับเสด็จอยู่เข้าเฝ้าฯ และเชิญเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่พลับพลาที่ประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยพร้อมทั้งทรงศีล เสร็จแล้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการกราบบังคมทูลถวายรายงานประวัติโรงเรียนบุญวัฒนา จนได้เวลาอันเป็นปฐมฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินขึ้นสู่อาคารเรียน เพื่อทรงเจิมแผ่นป้ายดวงฤกษ์แล้วจึงเสด็จไปยังห้องเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดเยี่ยมของโรงเรียนบุญวัฒนา หลังจากนั้นนายบุญธรรม และนางบุญพริ้ง ต.สุวรรณ ได้เข้าเฝ้าฯ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชปฏิสันถารกับครูใหญ่โรงเรียนบุญวัฒนา ว่า

"จำนวนนักเรียนในปีการศึกษาหน้าจะมีเท่าไหร่..."

ครูใหญ่โรงเรียนบุญวัฒนากราบบังคมทูลว่า “ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อมในปีการศึกษาหน้าจะมีนักเรียนประมาณ 1,000 คน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำรัสว่า “การเป็นครูในปัจจุบันนี้มีความลำบากในการอบรมดูแลนักเรียน เพราะสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครูต้องศึกษาและเรียนรู้ถึงวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมในการอบรมดูแลนักเรียน ไม่ควรที่จะยินยอมตามที่นักเรียนเรียกร้องทุกครั้ง โดยมิได้คำนึงถึงเหตุผลและหลักการที่ถูกต้อง นอกจากนั้นขอให้พยายามและอดทนทำงานเพื่อเยาวชนของเรา การอุทิศตนทำงานในอาชีพครูนี้ได้กุศล ขออย่าได้ท้อถอย เพราะเหตุการณ์ในบ้านเมืองของเราขณะนี้เป็นอย่างไรก็รู้อยู่แล้ว ขอฝากไว้ให้ช่วยกันเพื่อประเทศชาติของเรา”

การเสด็จมาในครั้งนี้ได้พระราชทานเงินทุนเพื่อการศึกษาแก่โรงเรียนบุญวัฒนา จำนวน 54,500.00 บาท (ห้าหมื่นสี่พันห้าร้อยบาท) พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังความปิติโสมนัสยิ่งแก่โรงเรียนบุญวัฒนา และชาวเมืองนครราชสีมาทั้งปวงที่มาเฝ้ารอรับเสด็จในโอกาสนี้ (พระอิสริยยศในขณะนั้น)

ใกล้เคียง

โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า โรงเรียนราชินี โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย