งานสร้างภาพยนตร์ ของ โรงแรมนรก

ภาพยนตร์เรื่อง โรงแรมนรก ภาพยนตร์ที่รัตน์ เปสตันยี รับหน้าที่กำกับและเขียนบทเองเพื่อทดลองว่าการถ่ายทำด้วยฟิล์ม 35 มม. ขาวดำนั้นมีการลงทุนที่ต่ำกว่าหนังที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มสี อีกทั้งยังสามารถล้างและพิมพ์ฟิล์มได้ภายในประเทศไม่จำเป็นต้องส่งไปยังแล็ปในต่างประเทศ เป็นเสมือนการเชิญชวนให้คนทำหนังในเวลานั้นหันมาสนใจสร้างภาพยนตร์ด้วยฟิล์ม 35 มม. กันมากขึ้นเพื่อช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศ โรงแรมนรก เป็นภาพยนตร์ไทยที่ล้ำหน้ามากในปี พ.ศ. 2500 และจนถึง พ.ศ.นี้

โรงแรมนรก เป็นผลงานกำกับการแสดงเรื่องที่สองของ รัตน์ เปสตันยี ต่อจากภาพยนตร์เรื่อง ตุ๊กตาจ๋า เมื่อปี พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นหนังในระบบ 16 มิลลิเมตร และเป็นเรื่องที่ห้าของการเข้าสู่อุตสาหกรรมหนังในตำแหน่งต่าง ๆ กัน ตรวจสอบจากเครดิตงานสร้างแล้วก็จะพบว่า ความแตกต่างของรัตน์ เปสตันยีจากคนในวงการหนังรุ่นราวคราวเดียวกันก็คือ เขาไม่ได้เติบโตมาจากแวดวงละครเวที แต่เริ่มต้นจากงานด้านกำกับภาพ ผลงานในการถ่ายภาพยนตร์ก่อนหน้านี้ ล้วนแล้วเป็นหนังเรื่องสำคัญทั้งสิ้น อันได้แก่ พันท้ายนรสิงห์, สันติ-วีณา และ ชั่วฟ้าดินสลาย ทั้งสามเรื่อง เป็นงานกำกับการแสดงของครูมารุต

จุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ อยู่ที่การวางโครงเรื่องที่แยบยล ว่าเรื่องเกิดขึ้นในเวลาต่อเนื่องเพียงข้ามคืน และเกิดอยู่ภายในสถานที่ฉากเดียว โรงแรมนรกสามารถสร้างความสนุกอย่างไม่คาดคิดและดึงความสนใจของผู้ชมได้ตลอดประกอบด้วยการแสดงที่โดดเด่นของนักแสดงนำ ซึ่งดูกลมกลืนและลื่นไหลไปกับเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ ทั้งที่เหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นที่ฉากเดียวเท่านั้น

หลายฉากในภาพยนตร์ ยังแสดงถึงอารมณ์ขันของผู้สร้าง ที่มีการล้อเลียนภาพยนตร์เรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวถึงเรื่อง สุภาพบุรุษเสือไทย หรือแม้แต่ ชั่วฟ้าดินสลาย ของตัวผู้กำกับเอง และเสียดสีวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น

ในปีที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย ภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากความล้ำสมัยของเนื้อหา และการนำเสนอตัวละครที่ฉีกแนว ตัวพระ-นาง มีความแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ไม่ซ้ำซากจำเจเหมือนเรื่องอื่น และบทภาพยนตร์ที่ใช้สร้าง เขียนขึ้นมาสำหรับภาพยนตร์โดยเฉพาะ ไม่ได้นำเนื้อเรื่องมาจากนวนิยายที่มีความนิยมอยู่ก่อนแล้ว