ลักษณะของโสร่ง ของ โสร่ง

คำว่า "โสร่ง" เป็นคำทับศัพท์จากภาษามลายู ว่า "Sarung" ซารุง มีความหมายดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สำหรับในภาษาไทย โสร่ง หมายถึงผ้านุ่งดังกล่าวมาข้างต้น แต่มักจะใช้เรียกเฉพาะผ้านุ่งของผู้ชาย ที่นิยมกันในหมู่ชาวไทยมุสลิม ทั้งสำหรับใช้ในบ้าน และแต่งออกนอกบ้าน เช่นไปมัสยิด หรือรับแขก ก็นิยมนุ่งโสร่งกันโดยปกติ คำว่า โสร่ง นั้นบางครั้งก็เรียกอย่างง่าย ๆ ว่า ผ้านุ่ง ได้เช่นกัน สำหรับชาวไทยที่ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม ก็มีการใช้ผ้าโสร่งบ้างเช่นกัน เช่น ในภาคอีสานตอนล่าง ภาคตะวันออกที่ติดกับอีสาน อีกทั้งชาวไทยเชื้อสายมอญหลายๆถิ่น จะเป็นผ้าโสร่งไหม ลายตาหมากรุกขนาดเล็กและขนาดใหญ่ อาจใช้ในพิธีการได้ด้วย

ผ้าโสร่งน่าจะมีใช้และคุ้นเคยกับคนไทยมาช้านาน แม้ว่าการใช้ผ้าโสร่งจะไม่แพร่หลายทั่วไปอย่างผ้าซิ่น ผ้าถุง หรือผ้าขาวม้า ก็ตาม แต่ปรากฏหลักฐานการใช้โสร่งในตัวหนังตะลุงบางตัว โดยเฉพาะตัวตลก ขณะเดียวกัน การแสดงบางอย่างของชาวไทยมุสลิม ก็นิยมนุ่งผ้าโสร่งเป็นแบบแผน

ผ้าโสร่งนั้นมีด้วยกันหลายลักษณะ ทั้งที่มีลวดลาย และมีสีพื้น แต่ผู้คนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับผ้าโสร่งที่มีลายตารางคล้ายผ้าขาวม้า แต่ตารางของโสร่งมักจะมีตาใหญ่กว่า ทั้งนี้ก็เพราะโสร่งจะมีขนาดที่ใหญ่กว่านั่นเอง กล่าวคือ ยาวเกือบจรดข้อเท้า ขณะที่ผ้าขาวม้ามักจะยาวลงไปไม่เกินครึ่งแข้งเท่านั้น