ประวัติ ของ โอแคนาดา

บ้านในเมืองควิเบกอันเป็นสถานที่ที่อดอล์ฟ บาซีล รูทิเอร์กล่าวว่าเขาได้เขียนบทกวี "โอแคนาดา" ภาคภาษาฝรั่งเศสขึ้น

บทกวี "โอแคนาดา" เขียนขึ้นครั้งแรกเป็นภาษาฝรั่งเศสโดยอดอล์ฟ บาซีล รูทิเอร์ ซึ่งเป็นชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นบทเพลงปลุกใจสมาคมแซงต์ชอง-แบบตีสต์ของชาวแคนาดาเชื้อสายฝรั่งเศส และ ได้นำออกเผยแพร่ครั้งแรกที่เมืองควิเบก ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 1880 อันเป็นวันแซงต์ชอง-แบบตีสต์ในปีนั้น แต่รัฐบาลแคนาดาได้รับรองเนื้อเพลงดังกล่าวเป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1980 โดยรัฐบาลได้ซื้อลิขสิทธิ์ในทำนองและบทร้องของเพลงนี้ด้วยมูลค่า 1 ดอลลาร์แคนาดา [1]

นับตั้งแต่ ค.ศ. 1867 เป็นต้นมา เพลง "ก็อดเซฟเดอะคิง" และ "เดอะเมเปิลลีฟฟอร์เอเวอร์" ("The Maple Leaf Forever") เป็นบทเพลงที่มีการแข่งกันใช้เป็นเพลงชาติแคนาดาอย่างไม่เป็นทางการ เพลง "โอแคนาดา" ได้เริ่มกลายเป็นอีกเพลงหนึ่งที่ใช้ในลักษณะเพลงชาติอย่างไม่เป็นทางการครั้งแรก เมื่อได้มีการให้เด็กนักเรียนขับร้องเพลงดังกล่าวเพื่อรับเสด็จดยุคและดัชเชสแห่งคอร์นวอล (ต่อมาคือสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร และ สมเด็จพระราชินีแมรี แห่งเท็ค) ในการเสด็จเยือนแคนาดาในปี ค.ศ. 1901 ห้าปีต่อมา โรงพิมพ์วาเลย์และรอยซ์ (Whaley and Royce) ในเมืองโตรอนโตได้ตีพิทพ์บทเพลงนี้พร้อมเนื้อร้องภาษาฝรั่งเศสและบทแปลภาษาอังกฤษสำนวนแรกสุด ซึ่งแปลโดย ดร.โทมัส เบ็ดฟอร์ด ริชาร์ดสัน (Dr. Thomas Bedford Richardson) หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1908 นิตยสาร Collier's Weekly ได้จัดให้มีการประกวดบทร้องเพลง "โอแคนาดา" ขึ้น ผลปรากฏว่าบทร้องของเมอร์ซี อี. พาวเวลล์ แมคคุลลุช (Mercy E. Powell McCulloch) เป็นบทร้องชนะเลิศ ทว่าบทร้องดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมทั่วไป อนี่ง ในปี ค.ศ. 1917 อัลเบิร์ต วัตสันได้แต่งเพลงสดุดี (hymn) ชื่อ "ลอร์ดออฟเดอะแลนด์ส" ("Lord of the Lands") โดยใช้ทำนองเพลงของเพลงโอแคนาดา[2]

บทร้องฉบับภาษาอังกฤษที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายที่สุด ได้ประพันธ์ขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1908 โดย รอเบิร์ต สแตนเลย์ เวียร์ ทนายความและอาลักษณ์ประจำเมืองมอนทรีออลในขณะนั้น ต่อมาได้มีการแก้ไขบทร้องของเวียร์เล็กน้อยเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่อย่างเป็นทางการเนื่องในโอกาสครบ 60 ปีแห่งการรวมตัวเป็นสหพันธรัฐของแคนาดา (the Diamond Jubilee of Confederation) ในปี ค.ศ. 1927 และค่อยๆ ได้รับการยอมรับจากมหาชน กระทั่งได้รับความนิยมเหนือกว่าเพลงอื่นๆ ทั้งหมดในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1960 โดยเพลง "ก็อดเซฟเดอะควีน" ยังคงมีการใช้ในฐานะเพลงสรรเสริญพระบารมี ส่วนเพลง "เดอะเมเปิลลีฟฟอร์เอเวอร์" ก็กลายเป็นเพลงที่ถูกลืมเลือนโดยสิ้นเชิง[3]

แหล่งที่มา

WikiPedia: โอแคนาดา http://www.lieutenantgovernor.ab.ca/document/canad... http://archives.cbc.ca/society/celebrations//topic... http://www.cic.gc.ca/english/celebrate/pdf/Nationa... http://laws.justice.gc.ca/en/N-2/251640.html http://sen.parl.gc.ca/vpoy/english/Special_Interes... http://www.pch.gc.ca/pgm/ceem-cced/symbl/anthem-en... http://www3.sympatico.ca/goweezer/canada/cananhist... http://www.cadvision.com/blanchas/OhCanada/index.h... http://www.hymntime.com/tch/htm/l/o/r/lordland.htm http://www.thecanadianencyclopedia.com/index.cfm?P...