ชนิดของใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทย ของ ใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทย

ใบอนุญาตขับขี่สำหรับยานยนต์ขนาดเล็ก

ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ใบอนุญาตขับขี่มีหลายชนิด[1] ผู้เริ่มขอมีใบอนุญาตขับขี่จะต้องรับการฝึกศึกษาในโรงเรียนการขนส่ง หรือโรงเรียนสอนขับรถที่กรมการขนส่งทางบกรับรอง ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติไม่น้อยกว่า 15 ชั่วโมง แล้วจึงเข้ารับการทดสอบที่โรงเรียนฯ เมื่อผ่านการทดสอบแล้วจะได้รับหนังสือรับรองเพื่อนำไปขอรับใบอนุญาตขับขี่ที่สำนักงานขนส่งอีกต่อหนึ่ง อีกวิธีหนึ่งคือ ผู้ขอมีใบอนุญาตขับขี่ฝึกขับรถกับผู้ที่มีใบอนุญาตขับขี่มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี (ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์) หรือครูสอนขับรถ โดยห้ามมิให้มีบุคคลอื่นอยู่ในรถนอกจากผู้ขับและผู้ควบคุม ​เมื่อชำนาญดีแล้วจึงเข้ารับการอบรมภาคทฤษฎี และสอบภาคทฤษฎีและปฏิบัติที่สำนักงานขนส่ง วิธีการนี้จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าวิธีแรก แต่มีข้อเสียคือ หากสอบตกภาคปฏิบัติท่าหนึ่งจะต้องนัดสอบในสามวันทำการถัดไปเป็นอย่างน้อยเฉพาะท่าที่ตก ทำให้เสียเวลามาก ในชั้นนี้ผู้ขอใบอนุญาตขับขี่จะได้ใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราว ซึ่งแบ่งออกเป็น

  • ใบอนุญาตขับรถยนต์ชั่วคราว
  • ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อชั่วคราว
  • ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราว

ใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวมีอายุสองปี และเป็นใบอนุญาตขับขี่ประเภทจำกัดสิทธิ์ คือ ปริมาณแอลกอฮอล์ในกระแสเลือดจากที่ต้องไม่เกิน 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรของเลือด จะลดลงเหลือ 20 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรของเลือด[7] อีกทั้งไม่สามารถขอมีใบอนุญาตขับขี่ระหว่างประเทศได้ ผู้ขอใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปีบริบูรณ์ เว้นแต่รถจักรยานยนต์ขนาดไม่เกิน 105 ซีซี ก็ให้ลดเหลือ 15 ปีบริบูรณ์ได้ ใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวสามารถต่ออายุได้ล่วงหน้า 60 วัน หากผู้ถือใบอนุญาตขับขี่จักรยานยนต์ชั่วคราวยังมีอายุน้อยกว่า 18 ปีบริบูรณ์ก็ยังคงได้รับใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวต่อไป

เมื่อผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และได้ถือใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (สำนักงานขนส่งบางแห่งอาจให้ถือจนครบสองปี) ก็สามารถขอมีใบอนุญาตขับขี่ส่วนบุคคลเต็มรูปได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น[8]

  • ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล
  • ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อส่วนบุคคล
  • ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล

ใบอนุญาตขับขี่เต็มรูปมีอายุห้าปี และสามารถต่ออายุได้ล่วงหน้า 6 เดือน[9] ผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ส่วนบุคคลอาจขอมีใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศเพื่อใช้เป็นการชั่วคราวในต่างประเทศได้

หากผู้ถือใบอนุญาตขับขี่ประสงค์จะขับขี่เพื่อสินจ้าง จำเป็นต้องขอใบอนุญาตขับขี่สาธารณะนอกเหนือจากการใช้ยานพาหนะประเภทรับจ้าง (ป้ายเหลือง) ซึ่งจะมีขั้นตอนการตรวจประวัติอาชญากรเพิ่มเติมนอกเหนือจากการทดสอบปกติ เป็นเหตุให้ใช้เวลามากขึ้น ใบอนุญาตขับขี่สาธารณะแบ่งออกเป็น

  • ใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ
  • ใบอนุญาตขับรถยนต์สามล้อสาธารณะ
  • ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์สาธารณะ

ใบอนุญาตขับขี่สาธารณะมีอายุสามปี และสามารถต่ออายุได้ล่วงหน้า 6 เดือน สามารถใช้แทนใบอนุญาตขับขี่ส่วนบุคคลเพื่อขับรถในประเภทเดียวกันได้ และมีสิทธิ์ขอรับใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศได้

นอกจากรถยนต์ รถยนต์สามล้อ และรถจักรยานยนต์ ยังมีใบอนุญาตขับขี่ประเภทอื่น ๆ คือ

  • ใบอนุญาตขับรถบดถนน (อายุ 3 ปี)
  • ใบอนุญาตขับรถแทรกเตอร์(อายุ 3 ปี)
  • ใบอนุญาตขับรถประเภทอื่น ๆ
  • ใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ (อายุ 1 ปี)

ใบอนุญาตในหมวดนี้ (ยกเว้นใบอนุญาตขับรถระหว่างประเทศ) ไม่ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวมาก่อน แต่โดยมากนายทะเบียนมักกำหนดให้ต้องมีก่อนอย่างน้อยหนึ่งปีเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้ขับขี่จะควบคุมยานพาหนะได้อย่างปลอดภัย

ใบอนุญาตขับขี่สำหรับยานยนต์ขนาดใหญ่

ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก ใบอนุญาตขับขี่มี 8 ชนิด คือ[2][ม 1]

  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่หนึ่ง ทุกประเภท (หรือสาธารณะ) เรียกย่อว่า ท.1 ใช้ขับรถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรวมไม่เกิน 3,500 กิโลกรัมหรือบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 20 คน ทั้งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) และรับจ้าง (ป้ายเหลือง) ต้องมีอายุตั้งแต่ 22 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สอง ทุกประเภท (หรือสาธารณะ) เรียกย่อว่า ท.2 ใช้ขับรถยนต์บรรทุกที่มีน้ำหนักรวมเกิน 3,500 กิโลกรัมหรือบรรทุกคนโดยสารเกิน 20 คน ทั้งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) และรับจ้าง (ป้ายเหลือง) ต้องมีอายุตั้งแต่ 22 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สาม ทุกประเภท (หรือสาธารณะ) เรียกย่อว่า ท.3 ใช้ขับรถยนต์ลากจูง ทั้งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) และรับจ้าง (ป้ายเหลือง) ต้องมีอายุตั้งแต่ 22 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สี่ ทุกประเภท (หรือสาธารณะ) เรีกย่อว่า ท.4 ใช้ขับรถยนต์บรรทุกวัตถุอันตราย ทั้งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) และรับจ้าง (ป้ายเหลือง) ต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่หนึ่ง เฉพาะส่วนบุคคล เรียกย่อว่า บ.1 คล้ายกับ ท.1 แต่ใช้ได้เฉพาะการขนส่งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ต้องมีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สอง เฉพาะส่วนบุคคล เรียกย่อว่า บ.2 คล้ายกับ ท.2 แต่ใช้ได้เฉพาะการขนส่งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สาม เฉพาะส่วนบุคคล เรียกย่อว่า บ.3 คล้ายกับ ท.3 แต่ใช้ได้เฉพาะการขนส่งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป
  • ใบอนุญาตขับขี่ชนิดที่สี่ เฉพาะส่วนบุคคล เรียกย่อว่า บ.4 คล้ายกับ ท.4 แต่ใช้ได้เฉพาะการขนส่งส่วนบุคคล (ป้ายดำ) ต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป

ใบอนุญาตขับขี่สำหรับยานยนต์ขนาดใหญ่ไม่จำเป็นต้องขอมีใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวก่อน แต่ในทางปฏิบัติแล้วมักกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตขับขี่ชั่วคราวหรือใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลมาก่อน ใบอนุญาตขับยขี่สำหรับยานยนต์ขนาดใหญ่ประเภท ท. จะต้องมีการสอบประวัติอาชญากร ในขณะที่ประเภท บ. ไม่ต้องมีการสอบประวัติอาชญากร[10]

ใบอนุญาตขับขี่ฝ่ายทหาร

ตามพระราชบัญญัติรถยนต์ทหาร พ.ศ. 2479 ใบอนุญาตขับขี่ หรือใบอนุญาตพิเศษสำหรับขับรถยนต์ทหารแบ่งออกเป็น 7 ชนิด ดังนี้[11]

  • ชนิดที่ 1 รถยนต์สายพานใช้คันบังคับ
  • ชนิดที่ 2 รถยนต์สายพานหรือกึ่งสายพานที่ใช้พวงมาลัยบังคับ หรือรถยนต์ไม่น้อยกว่า 3 ล้อ บรรทุกน้ำหนักเกินกว่า 2 ตัน
  • ชนิดที่ 3 รถยนต์ไม่น้อยกว่า 3 ล้อ บรรทุกน้ำหนักไม่เกิน 2 ตัน (เทียบเคียง ใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคล)
  • ชนิดที่ 4 รถจักรยานยนต์พ่วงข้าง
  • ชนิดที่ 5 รถจักรยานยนต์พ่วงท้าย
  • ชนิดที่ 6 รถจักรยานยนต์ธรรมดา (เทียบเคียง ใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล)
  • ชนิดที่ 7 รถทุกประเภทที่กล่าวมานี้ (เทียบเคียง ใบอนุญาตขับรถทุกประเภท ชนิดที่ 4 ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก)

ใกล้เคียง

ใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทย ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม (ประเทศไทย) ใบอนุญาตรับชมโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักร ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ใบอนุญาตรับชมโทรทัศน์ ใบอนุญาตขับขี่ ใบอนุญาตขับขี่สากล

แหล่งที่มา

WikiPedia: ใบอนุญาตขับขี่ในประเทศไทย http://www.thaicyclingclub.org/%E0%B8%82%E0%B9%88%... http://www.dlt.go.th http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A111/%A11... http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A803/%A80... http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%C301/%C30... http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%C302/%C30... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0012663... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0013187... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0E/0014... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2479/A/...