ไข้ลาสซา
ไข้ลาสซา

ไข้ลาสซา

ไข้ลาสซา (อังกฤษ: Lassa fever) หรือ ไข้เลือดออกลาสซา (Lassa hemorrhagic fever, LHF) เป็นชนิดของไข้เลือดออกจากไวรัสที่เกิดจากไวรัสลาสซา ไวรัสในวงศ์ Arenaviridae[1] ผู้ติดเชื้อไวรัสจำนวนมากไม่แสดงอาการ[1] เมื่อแสดงอาการ ผู้ป่วยมักมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาเจียน และปวดกล้ามเนื้อ[1] อาการที่พบได้น้อยกว่าปกติรวมถึงมีเลือดออกในปากและทางเดินอาหาร[1] ความเสี่ยงในการเสียชีวิตหลังติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ และมักเกิดขึ้นภายในสองสัปดาห์เมื่อเริ่มมีอาการ[1] ผู้ป่วยที่หายดีประมาณ 1 ใน 4 มีภาวะสูญเสียการได้ยิน ซึ่งประมาณครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยกลุ่มนี้มีอาการดีขึ้นภายในสามเดือน[1]ผู้ป่วยไข้ลาสซาจะแสดงอาการในช่วง 7 ถึง 21 วันหลังติดเชื้อ[3] โดยร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อจะไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการน้อย[3][4] อาการที่ไม่รุนแรงประกอบด้วยไข้, เหนื่อยหอบ, อ่อนแรง และปวดศีรษะ[3]โดยปกติไข้ลาสซาเริ่มติดต่อสู่คนผ่านทางการสัมผัสปัสสาวะหรืออุจจาระของ Natal multimammate mouse (Mastomys natalensis) สัตว์ฟันแทะจำพวกหนูที่ติดเชื้อ[1] หลังจากนั้นเชื้อสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้โดยตรง[1] การวินิจฉัยจากการสอบถามอาการทำได้ยาก การยืนยันโรคใช้วิธีตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาอาร์เอ็นเอของไวรัส แอนติบอดีสำหรับไวรัส หรือตัวไวรัสเองในการเพาะเลี้ยงเซลล์[1] สาเหตุที่การวินิจฉัยเป็นไปได้ยากเนื่องจากอาการของไข้ลาสซาคล้ายกับโรคอื่น เช่น โรคไวรัสอีโบลา มาลาเรีย ไข้รากสาดน้อย และไข้เหลือง[1]ยังไม่มีวัคซีนสำหรับรักษาไข้ลาสซา[5] การป้องกันโรคใช้การแยกผู้ติดเชื้อและลดการสัมผัสกับหนู[1] ความพยายามอื่น ๆ ในการควบคุมการแพร่กระจายของโรครวมถึงการใช้แมวจับหนู และการเก็บอาหารในภาชนะปิดสนิท[1] การรักษามุ่งไปที่ภาวะขาดน้ำและการรักษาตามอาการ[1] มีการแนะนำยาต้านไวรัสไรบาวิรินในการรักษา[1] แต่หลักฐานที่สนับสนุนการใช้ยานี้ยังไม่ชัดเจน[6]มีการบรรยายถึงไข้ลาสซาเป็นครั้งแรกช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950[1] และมีการระบุไวรัสที่ก่อโรคในปี ค.ศ. 1969 จากรายงานผู้ป่วยในเมืองลาสซา รัฐบอร์โน ประเทศไนจีเรีย[1][7] ไข้ลาสซาเป็นโรคที่พบได้ทั่วไปในประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก เช่น ไนจีเรีย ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน กินี และกานา[1][2] มีรายงานผู้ป่วย 300,000–500,000 ราย และเสียชีวิต 5,000 รายต่อปี[2][8]

ไข้ลาสซา

อาการ ไข้, ปวดศีรษะ, เลือดออก[1]
สาขาวิชา โรคติดเชื้อ
ความชุก 400,000 รายต่อปี[2]
สาเหตุ ไวรัสลาสซา[1]
วิธีวินิจฉัย การตรวจทางห้องปฏิบัติการ[1]
ปัจจัยเสี่ยง สัมผัสกับสัตว์ฟันแทะในแอฟริกาตะวันตก[1]
ภาวะแทรกซ้อน สูญเสียการได้ยินบางส่วนหรือทั้งหมด เป็นเวลาชั่วคราวหรือถาวร[1]
การรักษา การดูแลประคับประคอง[1]
การเสียชีวิต 5,000 รายต่อปี[2]
การตั้งต้น 1–3 สัปดาห์หลังติดเชื้อ[1]
ชื่ออื่น ไข้เลือดออกลาสซา
โรคอื่นที่คล้ายกัน โรคไวรัสอีโบลา, มาลาเรีย, ไข้รากสาดน้อย[1]
พยากรณ์โรค ~1% เสี่ยงต่อการเสียชีวิต (โดยรวม)[1]