การดำเนินการ ของ ไซฟอน

ไซฟอนเป็นอุปกรณ์หลีกเลี่ยงการเซ็นเซอร์ทางอินเทอร์เน็ตที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (วีพีเอ็น), Secure Shell (เอสเอสเอช), และ HTTP/SOCKS Proxy[2]และประกอบด้วยโปรแกรมผู้ใช้/โปรแกรมลูกข่ายบวกกับเครือข่ายเซิฟเวอร์ที่โปรแกรมลูกข่ายสื่อสารด้วย ตราบที่โปรแกรมสามารถติดต่อกับเครือข่ายได้ ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงการถูกเซ็นเซอร์ได้[14]โปรแกรมผู้ใช้จะเรียนรู้เลขที่อยู่ไอพีใหม่ ๆ ของเซิร์ฟเวอร์ภายในเครือข่ายเพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงการถูกบล็อกไม่ให้เข้าถึงเนื้อหาต่าง ๆ ที่อาจถูกเซ็นเซอร์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แม้การสื่อสารจะเข้ารหัสลับและมีการพิสูจน์ตัวจริงของเซิฟเวอร์ แต่ก็ไม่ได้เพิ่มความเป็นส่วนตัวออนไลน์ และไม่ควรพิจารณาว่าเป็นอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัย[2][4][15]อีกทั้งบริษัทก็จะบันทึกข้อมูลการสื่อสารเพื่อจุดประสงค์ต่าง ๆ รวมทั้งการสืบหาปัญหาและการวิเคราะห์การใช้[15]บริษัทแนะนำให้ใช้ทอร์ถ้าผู้ใช้ต้องการความเป็นส่วนตัว/สภาพนิรนามทางอินเทอร์เน็ต[4]

ในระบบวินโดวส์ เมื่อเริ่มใช้โปรแกรม โปรแกรมจะเชื่อมกับเครือข่ายเองโดยอัตโนมัติ โดยผู้ใช้สามารถเลือกการเชื่อมต่อแบบวีพีเอ็น (L2TP over IPSec) หรือเอสเอสเอช หรือเอสเอสเอชพลัส[2](ซึ่งสื่อสารแบบสร้างความคลุมเครือเพื่อป้องกันการระบุโพรโทคอล โดยเป็นโหมดที่เลือกโดยปริยาย[16]) เมื่อโปรแกรมติดต่อกับเครือข่ายได้ ก็จะแสดงไอคอนการเชื่อมต่อเป็นสีเขียว[2]

เมื่อใช้ในโหมดวีพีเอ็น การสื่อสารกับอินเทอร์เน็ตทั้งหมดจะส่งผ่านอุโมงค์ที่วิ่งผ่านเครือข่าย ในโหมดเอสเอสเอชหรือเอสเอสเอชพลัส โปรแกรมจะตั้งค่าพร็อกซีของระบบวินโดวส์โดยอัตโนมัติ และโปรแกรมที่ใช้ค่าพร็อกซีเช่นนี้ทั้งหมด (เช่น เว็บเบราว์เซอร์ต่าง ๆ) ก็จะส่งผ่านอุโมงค์เช่นกัน โดยผู้ใช้สามารถเลือกแบ่งส่งการสื่อสารไปยังเซิร์ฟเวอร์นอกประเทศผ่านเครือข่าย แต่ส่งการสื่อสารภายในประเทศไปยังเซิร์ฟเวอร์โดยตรง[2]

เมื่อปิดโปรแกรม โปแกรมจะเลิกการเชื่อมต่อและคืนค่าพร็อกซีของระบบวินโดวส์ให้เหมือนเดิม[2]

โปรแกรมผู้ใช้เป็นไฟล์ ๆ เดียวที่สามารถดาวน์โหลดและตรวจสอบว่าเป็นของแท้ได้ ในระบบวินโดวส์ ไฟล์ .exe ที่ดาวน์โหลดจะเซ็นชื่อแบบดิจิทัลโดยบริษัท ซึ่งนอกจากระบบวินโดวส์จะตรวจสอบลายเซ็นโดยอัตโนมัติแล้ว ผู้ใช้ก็ยังสามารถตรวจสอบลายเซ็นเองได้ด้วย[17]เนื่องจากเป็นไฟล์ ๆ เดียว จึงไม่มีการติดตั้งและไม่ต้องถอนการติดตั้ง ผู้ใช้สามารถลบไฟล์ที่ดาวน์โหลดออกได้เลย[18]ส่วนในระบบแอนดรอยด์ ไฟล์ที่ดาวน์โหลดก็เซ็นชื่อแบบดิจิทัลด้วยเช่นกัน แต่ผู้ใช้อาจต้องใช้อุปกรณ์อื่น ๆ เพื่อตรวจสอบ[19]ในระบบทั้งสอง อัปเดตของโปรแกรมจะดาวน์โหลดและเช็คความเป็นของแท้โดยอัตโนมัติ[17][19]ตราบเท่าที่โปรแกรมที่ดาวน์โหลดเป็นของแท้ จะไม่มีใครสามารถปลอมตัวเป็นเซิฟเวอร์ในเครือข่ายที่โปรแกรมผู้ใช้เชื่อมต่อด้วยได้ เพราะโปรแกรมไม่ได้อาศัย Certificate authority ทั่ว ๆ ไป[20]

ในระบบไอโอเอส ไซฟอนเป็นเพียงแบราว์เซอร์ที่ส่งการสื่อสารสำหรับแบราว์เซอร์ผ่านเครือข่ายไซฟอน แต่โปรแกรมอื่น ๆ ก็จะคงส่งการสื่อสารผ่านระบบไอโอเอสโดยปกติ[21]