ที่ทำการไปรษณีย์ ของ ไปรษณีย์ไทย_(บริษัท)

ปณฝ.ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ที่ทำการไปรษณีย์เคยมีการให้บริการด้านโทรเลขด้วย ดังนั้นในอดีตจึงใช้คำว่า ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข แทน แต่หลังจากที่งานด้านโทรเลขแยกไปอยู่กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) จึงเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า ที่ทำการไปรษณีย์ ที่ทำการไปรษณีย์มีหลายประเภท ขึ้นอยู่กับหน้าที่และบริการของแต่ละแห่ง ตัวอย่างเช่น

  • ศูนย์ไปรษณีย์ (ศป., mail centre) มีหน้าที่หลักคือ รวบรวมจดหมาย และพัสดุจากที่ทำการไปรษณีย์ต่าง ๆ มาคัดแยก และส่งต่อ หมายถึงส่งไปที่ทำการปลายทาง หรือส่งต่อไปภูมิภาคอื่น ๆ ทางรถยนต์ รถไฟ หรือ เครื่องบิน ตัวอย่างเช่น ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพ ตั้งอยู่ใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นต้น
  • ศูนย์รับฝากไปรษณีย์จำนวนมาก (ศฝ., bulk mail centre) คือไปรษณีย์ที่เน้นรับจดหมายจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีไปรษณีย์ภัณฑ์จำนวนมากแล้วส่งต่อไปยังศูนย์ไปรษณีย์
  • ที่ทำการไปรษณีย์ศูนย์กลางจ่าย (ปณศ., delivery post office) หรือ ที่ทำการไปรษณีย์รับจ่าย (ปณจ.) มีหน้าที่ รับฝาก คือ รวบรวมจดหมายจากตู้ไปรษณีย์และจากประชาชนที่มาฝากส่งที่ไปรษณีย์แล้ว ส่งต่อ ไปยังศูนย์ไปรษณีย์ และ นำจ่าย คือรับจดหมายที่มีปลายทางในเขตที่รับผิดชอบจากศูนย์ไปรษณีย์ให้บุรุษไปรษณีย์ไปส่งตามที่อยู่ ที่ทำการลักษณะนี้มักมีรหัสไปรษณีย์ที่ลงท้ายด้วยเลขศูนย์
  • ที่ทำการไปรษณีย์รับฝาก (ปณฝ., non-delivery post office) มีหน้าที่ รับฝาก คือ รับจดหมายจากประชาชนที่มาใช้บริการที่ไปรษณีย์หรือจากตู้ไปรษณีย์เท่านั้น มักมีรหัสไปรษณีย์ที่ลงท้ายด้วยเลขอื่นที่ไม่ใช้ศูนย์
  • ที่ทำการไปรษณีย์สาขา (ปณส., branch post office) หน้าที่คล้าย ปณฝ. แต่ขึ้นกับ ปณจ. แทนที่จะทำงานเป็นเอกเทศ จดหมายที่รวบรวมได้ทั้งหมดจะส่งต่อไปยัง ปณจ. ต้นสังกัดอีกทีหนึ่ง ไม่มีรหัสไปรษณีย์ของตัวเอง (ใช้รหัสของ ปณจ. ต้นสังกัด) และไม่เปิดให้บริการบางประเภท เช่น บริการรับชำระเงิน เป็นต้น
  • ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต (ปณอ., licensed post office) มีทั้งประเภท รับจ่าย (หน้าที่เหมือน ปณจ.) และ รับฝาก (เหมือน ปณฝ.) แต่บริหารโดยหน่วยงานอื่นของรัฐ หรือ เอกชน ตัวอย่าง เช่น ไปรษณีย์ของชุมชนที่อยู่บนเกาะต่าง ๆ ไปรษณีย์ในสถานศึกษา หน่วยงานราชการ หน่วยงานทหาร บางแห่ง เป็นต้น ไปรษณีย์ดังกล่าวจะใช้ชื่อ ปณจ. ในท้องที่ ตามด้วยตัวเลขสามหลัก เริ่มนับจาก 101 ตัวอย่างเช่น ไปรษณีย์รองเมือง 102 ตั้งอยู่ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เขตปทุมวัน ซึ่งมี ปณจ. รองเมือง รับผิดชอบนำจ่ายไปรษณีย์ภัณฑ์ในท้องที่ สำหรับ ปณอ. รับจ่าย จะมีรหัสไปรษณีย์ของตัวเอง ส่วน ปณอ. รับฝาก จะใช้รหัสไปรษณีย์ของ ปณจ. ที่รับผิดชอบ
  • ที่ทำการไปรษณีย์ชั่วคราว (ปณค., temporary post office) เป็นที่ทำการที่เปิดขึ้นชั่วคราวตามงานต่าง ๆ เช่น งานกาชาด งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ฯลฯ ให้บริการรับฝากไปรษณีย์ภัณฑ์ นิยมใช้รหัสไปรษณีย์ชอง ปณจ. ท้องที่
  • ที่ทำการไปรษณีย์รถยนต์ (ปณย., mobile post office) เป็นที่ทำการที่อยู่บนรถบัสขนาดเล็ก ออกวิ่งไปจอดให้บริการตามจุดต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละวันสามารถออกให้บริการได้หลายจุด ให้บริการรับฝากไปรษณีย์ภัณฑ์

ในอดีตประเทศไทยยังเคยมีที่ทำการไปรษณีย์รถไฟด้วย แต่ปัจจุบันยกเลิกแล้วสำหรับบริษัทเอกชนที่ให้บริการรับฝากไปรษณีย์แต่ไม่เป็นสถานะที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต จะเรียกว่า ผู้รวบรวมไปรษณีย์ ซึ่งต้องมีการจดทะเบียนอย่างถูกต้องกับ ปณท.

ในอดีตสมัยที่เป็น กรมไปรษณีย์โทรเลข และ การสื่อสารแห่งประเทศไทย ชื่อประเภทของที่ทำการไปรษณีย์ข้างบนใช้ชื่อว่า ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข แทน ที่ทำการไปรษณีย์ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขรับจ่าย (ปทจ.) ยกเว้นที่ทำการไปรษณีย์รถยนต์ ในอดีตเรียก ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขเคลื่อนที่ (ปทค.) ส่วนที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขชั่วคราวใช้ชื่อย่อเป็น ปทช.