เกร็ด ของ ไผ่ตง

ปัจจุบันมีหลายพันธุ์ปลูก (cultivar) เช่น ไผ่ตงดำ ไผ่ตงหม้อ สองพันธุ์นี้ส่วนมากปลูกเพื่อตัดลำต้นไปใช้ประโยชน์เนื่องจากมีลำสูง ส่วนไผ่ตงเขียวและไผ่ตงหนูเป็นพันธุ์ปลูกที่ให้หน่อดก ขนาดกอไม่สูงมาก นิยมปลูกเพื่อตัดหน่อขาย กล่าวกันว่าไผ่ตงเขียวแท้ๆสูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยแล้ว จาก เอกสารการปลูกสร้างและบำรุงรักษาสวนไผ่ (รุ่งนภา พัฒนพิบูลย์ และคณะ,2545) รายงานว่าราวปี พ.ศ. 2477 มีการนำท่อนพันธุ์ไผ่ตงเขียวจากประเทศจีนมาปลูกในไทยครั้งแรกบริเวณพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี ต่อมาไผ่ตงเขียวได้รับความนิยมและปลูกกันทั่วประเทศโดยขยายพันธุ์จากต้นตอต้นแม่เดียวกัน จนในปี พ.ศ. 2537–2539 ไผ่ตงเขียวออกดอกและตายพร้อมกันเกือบทั่วประเทศ ต้นลูกที่ได้จากเมล็ดไผ่ตงเขียวที่ออกดอกส่วนใหญ่เป็นต้นลูกที่ลักษณะไม่สมบูรณ์ แต่หลังจากการคัดเลือกต้นและปรับปรุงพันธุ์ปลูกของต้นลูกไผ่ตงเขียว จนในที่สุดได้พันธุ์ปลูกที่มีลักษณะดีเท่าไผ่ตงเขียวเดิม ไผ่ที่เกิดจากการปรับปรุงต้นรุ่นลูกไผ่ตงเขียวนี้เดิมมีชื่อว่า "เพชรประจันตคาม" ซึ่งต่อมาภายหลังมีชื่อใหม่ว่า "ศรีปราจีน" นิยมปลูกเพื่อบริโภคหน่อกันทั่วประเทศ