นโยบายไร้สาระนุกรมไทย ของ ไร้สาระนุกรม

โดยเริ่มต้นนั้น ไร้สาระนุกรมลอกเลียนแบบและดัดแปลงนโยบายของวิกิพีเดียมาเป็นพื้นฐาน หากแต่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขและสร้างนโยบายที่เป็นเอกเทศออกไปจากวิกิพีเดียในภายหลัง เนื่องจากว่าลักษณะบทความที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

อะไรที่ไม่ใช่ไร้สาระนุกรม[4]

นโยบาย "อะไรที่ไม่ใช่ไร้สาระนุกรม" เป็นนโยบายกลางที่เป็นมาตรฐานกลางของไร้สาระนุกรม เพื่อให้เป็นหลักเกณฑ์ถึงแนวทางโดยทั่วๆไปในการเขียนบทความในไร้สาระนุกรม อีกทั้งยังเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินว่าบทความนั้นๆ สมควรจะคงอยู่ในไร้สาระนุกรมหรือไม่อีกด้วย ซึ่งโดยมีหลักการหลักๆ ดังนี้

  1. งานเขียนที่ไม่ต้องการให้คนอื่นแก้ไข
  2. งานเขียนที่มีคำพูดและอารมณ์ของผู้เขียนเข้าไปมีส่วนร่วมกับบทความ
  3. งานเขียนที่มีเพื่อด่า ดูหมิ่น เหยียดหยาม หรือ หมิ่นประมาท ทั้งจงใจและไม่จงใจ
  4. งานเขียนที่มีลักษณะเสื่อม
  5. งานเขียนที่มีไว้เพื่อใครคนหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว
  6. งานเขียนที่ไม่มีเนื้อหา
  7. งานเขียนอันมีสาระ

บทความใดๆ อันมีลักษณะพ้องกับข้างต้น ย่อมไม่ถือว่าเป็นบทความอันเหมาะสมที่จะอยู่ในไร้สาระนุกรม และจะถูกแจ้งลบถ้ามีการพบเจอ

อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว ผู้ดูแลของไร้สาระนุกรม มักจะยอมให้บทความถูกแจ้งลบไว้ประมาณ 1 เดือน เพื่อให้โอกาสผู้เขียนได้มีโอกาสแก้ไขงานของตน ซึ่งเมื่อหลังจากพ้นช่วงเวลานี้ไปแล้ว หากยังไม่มีการแก้ไขอันเป็นที่น่าพอใจ บทความนั้นๆก็จะถูกลบไป

การล้อเลียนสิ่งที่มีอยู่จริง [8]

ปัญหาหลักของไร้สาระนุกรมคือการล้อเลียนสิ่งที่มีอยู่จริง ซึ่งมักจะเป็นส่วนที่ก่อปัญหาให้ไร้สาระนุกรมอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะบทความนักร้องเกาหลี(เคป๊อป) ซึ่งมักจะถูกก่อกวน (ในไร้สาระนุกรมเรียกว่า"การก่อเกรียน"[9]) โดยผู้ใช้ที่แสดงตนเป็นเพศหญิง ซึ่งมักจะถูกเรียกว่า "ติ่งหู"[10] ซึ่งมักจะเข้ามาในลักษณะของการด่าทอเสียๆหายๆ เนื่องจากไม่เข้าใจว่าบทความของไร้สาระนุกรมนั้น แก้ไขได้ และเขียนโดยใครก็ได้ ซึ่งผู้ที่เริ่มต้นเขียนนั้นมักเป็นผู้ที่ไม่ชอบนักร้องเกาหลี(เคป๊อป)เหล่านั้นนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ปัญหาข้างต้นสามารถแก้ไขได้โดยแฟนคลับที่เข้าใจในนโยบาย และลงมือเขียนดารานักร้องที่ตนชอบด้วยตัวเอง

นอกจากนี้ บทความที่ข้องเกี่ยวกับการเมือง (มักจะถูกเรียกในไร้สาระนุกรมว่า "การเมีย") บางครั้งก็ถูกเป็นเป้าการก่อกวน หลายครั้งที่มีการเขียนถึงในลักษณะด่าทอ หรือรุนแรงเกินขอบเขต ดังนั้น จึงกลายเป็นหัวข้อเจรจาสาทกกันในไร้สาระนุกรมเอง จนกระทั่งได้ข้อสรุปออกมาเป็นนโยบายว่าด้วยการล้อเลียนสิ่งที่มีอยู่จริง[11][8]

บางครั้ง เมื่อมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิต โดยเฉพาะบุคคลที่มีชื่อเสียง เช่น ไมเคิล แจ็คสัน[12] มักจะมีผู้นึกสนุกแต่ขาดความยั้งคิดเอาการตายของบุคคลมาล้อเลียน อย่างไรก็ตาม ไร้สาระนุกรมเห็นว่าการตายเป็นเรื่องน่าเศร้าและสมควรจะให้เกียรติผู้เสียชีวิตโดยไม่เกี่ยงถึงความมีชื่อเสียงจึงมีนโยบายห้ามนำการเสียชีวิตของบุคคลมาล้อเลียนไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ ก็ตาม[8]

ไร้ชีวประวัติ

โครงการไร้ชีวประวัติ เป็นโครงการที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถเขียนบทความถึงใครก็ได้ที่ไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง หรือไม่เป็นที่รู้จักมากพอในสังคม หรือรู้จักกันเฉพาะในวงการ ทั้งสังคมโลกแห่งความจริงและสังคมอินเทอร์เน็ต อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของบทความนั้น จะต้องตามนโยบายหลักของไร้สาระนุกรม มิใช่นึกจะเขียนด่าทอเสียๆหายๆผู้ใดก็ได้