การผลิตและอุปสงค์ ของ AZD1222

วัคซีนเสถียรในอุณหภูมิตู้เย็นธรรมดาและมีราคาประมาณ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส (ประมาณ 94-125 บาท)[33]เป็นวัคซีนที่มีราคาถูกที่สุด (โดสละ 62 บาท) ซึ่งตกลงขายให้แก่สหภาพยุโรป โดยวัคซีนราคาสูงสุดคือ mRNA-1273 ของบริษัทมอเดิร์นา (โดสละ 564 บาท)[34]

ตามรองประธานบริหารด้านการดำเนินงานและเทคโนโลยีสารสนเทศของบริษัท บริษัทจะผลิตวัคซีนได้ 200 ล้านโดสก่อนสิ้นปี 2020 และมีกำลังการผลิต 100-200 ล้านโดสต่อเดือนหลังเพิ่มกำลังการผลิตแล้ว[5]ในเดือนมิถุนายน นอกจากจะผลิตวัคซีน 100 ล้านโดสเพื่อสหราชอาณาจักรในโปรแกรมให้วัคซีนของประเทศแล้ว[35]บริษัทได้ตกลงกับบริษัทยาชีวภาพอเมริกันคือ Emergent BioSolutions เพื่อผลิตวัคซีนโดยเฉพาะให้แก่สหรัฐ โดยมีมูลค่า 87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2,700 ล้านบาท)นี่เป็นส่วนของโปรแกรมปฏิบัติการเหนือแสง (Operation Warp Speed) ของรัฐบาลกลางสหรัฐเพื่อเร่งพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ก่อนสิ้นปี 2020[36]บริษัท Catalent (สหรัฐ) จะเป็นผู้บรรจุขวด ปิดฉลากวัคซีน บรรจุกล่องแล้วจึงส่งขาย[37]

ในเดือนมิถุนายน 2020 สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ของโลก ได้สิทธิจากบริษัทให้ผลิตวัคซีน 1,000 ล้านโดสสำหรับประเทศมีรายได้น้อยจนถึงปานกลาง รวมทั้งอินเดียเอง[38][39]

ในวันที่ 4 มิถุนายน 2020 โปรแกรม COVAX facility ขององค์การอนามัยโลกเริ่มต้นซื้อวัคซีนเป็นจำนวน 300 ล้านโดสจากบริษัทเพื่อประเทศรายได้ต่ำจนถึงปานกลาง[40]ในวันที่ 29 กันยายน 2020 มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์บริจาคทรัพย์ซึ่งทำให้โปรแกรมสามารถซื้อวัคซีนเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านโดส โดยอาจเป็นวัคซีนของแอสตราเซเนกาหรือของโนวาแว็กซ์[41]

ในวันที่ 13 มิถุนายน 2020 บริษัทเซ็นสัญญากับกลุ่ม Inclusive Vaccines Alliance ของยุโรป ซึ่งจัดตั้งโดยประเทศฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และเนเธอร์แลนด์เพื่อส่งวัคซีน 400 ล้านโดสให้แก่รัฐสมาชิกของสหภาพยุโรปทั้งหมด[42][43][44]

ในเดือนสิงหาคม 2020 บริษัทตกลงส่งวัคซีน 300 ล้านโดสให้แก่สหรัฐโดยมีมูลค่า 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเท่ากับมีราคา 4 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส (ประมาณ 125 บาท)แต่โฆษกของบริษัทก็แจ้งว่า ราคานี้รวมการพัฒนาและการทดลองทางคลินิกด้วย[45]

ในเดือนกันยายน 2020 บริษัทตกลงส่งวัคซีน 20 ล้านโดสให้แคนาดา[46][47]

ในเดือนตุลาคม 2020 สวิตเซอร์แลนด์สั่งจองวัคซีนล่วงหน้า 5.3 ล้านโดส[48][49]

ในวันที่ 17 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติงบประมาณ 6,000 ล้านบาทเพื่อสั่งจองวัคซีนจากบริษัทจำนวน 26 ล้านโดสพอสำหรับคน 13 ล้านคน (ประมาณ 1/5 ของประเทศตามสำมะโน) โดยจะซื้อในราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 151 บาท) ต่อโดส และที่เหลือ (ประมาณ 2,000 ล้านบาท) จะใช้เพื่อดำเนินการและเก็บรักษา โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า เป็นราคาต้นทุน ในฐานะที่ไทยได้ร่วมลงทุน จัดหา และพัฒนาวัคซีน (โดยเป็นรัฐสมาชิกของโปรแกรม COVAX facility)[6]