เบื้องหลัง ของ กบฏเจ้าอนุวงศ์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงให้เจ้านันทเสนไปปกครองเวียงจันทน์ ต่อมาเป็นกบฏ จึงมีรับสั่งประหารชีวิตและทรงให้เจ้าอินทร์ปกครองแทน หลังเจ้าอินทร์ถึงแก่พิราลัย ก็ทรงให้เจ้าอนุวงศ์ปกครองแทน

โอกาสที่เจ้าอนุวงศ์มาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในปี พ.ศ. 2367 ได้ทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขอแบ่งชาวเวียงจันทน์เมื่อครั้งถูกกวาดต้อนลงมายังภาคกลางครั้งสงครามสมัยกรุงธนบุรี พระองค์ดำริว่าไม่เหมาะ จึงไม่พระราชทานให้ เจ้าอนุวงศ์รู้สึกอัปยศ เมื่อกลับไปยังเมืองแล้วก็คิดแผนกบฏต่อสยาม

เจ้าอนุวงศ์พิจารณาเห็นว่า สยามเกรงศึกสองด้าน คือ ทั้งพม่าและญวน เจ้าอนุวงศ์จึงหันไปฝักใฝ่ญวน ด้วยเห็นว่าหากตั้งตนเป็นอิสระแล้ว สยามคงไม่กล้ายกทัพมาปราบปรามแน่

พ.ศ. 2369 มีข่าวลือว่าอังกฤษจะนำเรือรบมายึดกรุงเทพมหานคร เจ้าอนุวงศ์เห็นเป็นโอกาส จึงยกกองทัพมายึดหัวเมืองทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ทัพที่จัดมามี 3 ทัพ ได้แก่ ทัพเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ของเจ้าราชบุตร ยกเข้ามาทางอุบลราชธานี, ทัพของพระอุปราช ยกเข้ามาทางร้อยเอ็ด และทัพหลวงของเจ้าอนุวงศ์ยกมาทางนครราชสีมา