พระราชประวัติ ของ กรมหลวงบาทบริจา

พระชนม์ชีพช่วงต้น

กรมหลวงบาทบริจา ชาววังออกพระนามว่า สมเด็จพระอัครมเหสีหอกลาง หรือ เจ้าส่อนหอกลาง หรือ เจ้าครอกหอกลาง มีพระนามเดิมว่า สอน[3] หรือ ส่อน[4] จุลลดา ภักดีภูมินทร์แสดงความเห็นว่าพระองค์น่าจะมีพระนามเดิมว่า "สอน" มากกว่า "ส่อน" โดยให้เหตุผลว่าคนในอดีตมักใช้วรรณยุกต์พร่ำเพรื่อเกินจำเป็น[5] ไม่มีข้อมูลบิดามารดาของพระองค์ว่าสืบมาจากสายสกุลใด จึงเป็นไปได้ว่าอาจเป็นเพียงหญิงสามัญซึ่งมิได้มาจากตระกูลใหญ่หรือมีสายสัมพันธ์กับชนชั้นผู้ดีในสมัยอยุธยา ทั้งนี้นิธิ เอียวศรีวงศ์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สินอาจแต่งงานกับสอนก่อนหน้าดำรงตำแหน่งพระยาตาก[6] และมองว่าสอนมิใคร่มีญาติสนิทมากนัก[7] ส่วนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสันนิษฐานว่า "...เจ้าหอกลางนี้ไม่ใช่ตระกูลอื่นยกขึ้น คงจะเปนญาติของเจ้ากรุงธนบุรีอย่างลูกพี่ลูกน้อง ฤๅเปนลูกของน้า อาจจะเปนลูกเจ้าฮั่น [กรมหลวงเทวินทรสุดา] ได้ฤๅไม่"[8]

สถาปนาเป็นเจ้า

พระประวัติของพระองค์ปรากฏใน อภินิหารบรรพบุรุษ ว่าเป็นพระอรรคชายาเดิม มีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เป็นเจ้าฟ้าชาย แต่ปรากฏว่าประสูติแล้วก็สิ้นพระชนม์จึงไม่ปรากฏพระนาม[1] ส่วน บางกอกรีกอเดอ ฉบับวันที่ 17 มกราคม จ.ศ. 1227 (ค.ศ. 1866) ระบุว่าพระอรรคชายาเดิมมีเจ้าฟ้าเพียงพระองค์เดียว ซึ่งสิ้นพระชนม์หลังผลัดแผ่นดิน[9]

ขณะที่หนังสือ ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาค 1 และ ภาค 4 ระบุตรงกันว่าพระองค์มีพระราชบุตรสองพระองค์ คือ เจ้าฟ้าจุ้ยและเจ้าฟ้าน้อย[1] และ จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี ระบุว่ากรมหลวงบาทบริจาประสูติกาลพระราชโอรสพระองค์หนึ่ง ความว่า "เจ้าหอกลางประสูตร์เจ้าเปนพระราชกุมารแผ่นดินไหว ฉลูต้นปีโปรดปล่อยคนโทษในคุกสิ้นหมายสมโภชเจ้าฟ้าน้อย..."[10] ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวินิจฉัยว่า พระราชโอรสพระองค์หลังนี้คงมีพระชนมายุไล่เลี่ยกับพระพงษ์นรินทร์ราวปีหรือสองปี[11]

สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงบาทบริจา แม้จะเป็นพระอัครมเหสีแต่พระองค์ก็เป็นพระอัครมเหสีที่มิได้เป็นเจ้ามาแต่เดิม เมื่อมีพระประสูติกาลพระราชบุตร พระราชบุตรที่ประสูติจึงมีพระยศเป็นพระองค์เจ้าแล้วจึงได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าฟ้าภายหลัง[12] โดยกรมขุนอินทรพิทักษ์พระโอรสองค์ใหญ่ เคยมีเรื่องหมางพระทัยกับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้วพาลมาถึงกรมหลวงบาทบริจาด้วย ถึงกับออกคำสั่งขับกรมหลวงบาทบริจาออกจากวังไปประทับกับพระราชโอรสพระองค์นั้น ดังปรากฏใน จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี คือ "ขับเจ้าหอกลางไปอยู่ที่วังนอก"[13] ทว่าภายหลังเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีหายพิโรธแล้วก็ได้หมายพระทัยที่จะรั้งพระโอรสพระองค์นี้ครองกรุงกัมพูชาสืบไป[14]

หลังการผลัดแผ่นดิน

พระสถูปบรรจุพระบรมอัฐิของกรมหลวงบาทบริจา หน้าพระอุโบสถหลังเดิม วัดอินทารามวรวิหาร แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร

เมื่อเกิดการผลัดแผ่นดินสิ้นรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระองค์และกรมหลวงเทวินทรสุดา ได้รับโปรดเกล้าฯ ลดพระอิสริยยศเป็น "หม่อมสอน" และ "หม่อมอั๋น" ตามลำดับ ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นชายในราชวงศ์ธนบุรีส่วนใหญ่มักถูกประหารพร้อมกับเหล่าขุนนาง ส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหญิงก็ต้องโทษจองจำไว้[15] ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชเลขา ความว่า

"ยังเหลืออยู่แต่พระราชบุตร และบุตรีน้อย ๆ มีเจ้าฟ้าสุพันธุวงศ์ [เจ้าฟ้าเหม็น] อันเป็นพระราชนัดดาของพระองค์นั้นเป็นต้น และเจ้าฮั้น [กรมหลวงเทวินทรสุดา] ซึ่งเป็นน้าของเจ้าตากสิน และเจ้าส่อนหอกลางซึ่งเป็นกรมหลวงบาทบริจาอัครมเหสี กับญาติวงศ์ซึ่งเป็นหญิงนั้นให้จำไว้ทั้งสิ้น"[4]

หลังจากการผลัดแผ่นดิน จุลลดา ภักดีภูมินทร์อ้างว่า พระองค์ดำรงพระชนม์อย่างสงบในธนบุรีนั้นเอง โดยมีผู้คอยอุปถัมภ์ค้ำชูอยู่ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี พระเชษฐภคินีพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยมีความสนิทสนมคุ้นเคยมาตั้งแต่อาศัยในกรุงเก่าด้วยกัน[16] แม้ตัวจะมิใช่เจ้าแล้ว แต่คนในแวดวงยังคงเรียกขานว่า เจ้าสอนหอกลาง หรือ เจ้าส่อนหอกลาง ตามเดิม[17]

ใกล้เคียง

กรมหลวงโยธาเทพ กรมหลวงบาทบริจา กรมหลวงโยธาทิพ กรมหลวงพิพิธมนตรี กรมหลวงอภัยนุชิต กรมหลวงราชานุรักษ์ กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา กรมหลวงสงขลานครินทร์ กรมหลวงชุมพร กรมหลวงพิษณุโลก